การเดินทางไปเยือนจีน 5 วัน ของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของมาเลเซีย มหาเธร์ โมฮัมหมัด สิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา รายงานข่าวระบุว่าเป็นการเยือนที่ผู้นำสองประเทศมีประเด็นจะต้องรับมือในปัญหาเรื่องของความสัมพันธ์สองฝ่าย เพราะก่อนจะออกเดินทางไปจีน รวมทั้งในระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง มหาเธร์พูดไว้หลายครั้งด้วยน้ำเสียงวิพากษ์วิจารณ์การลงทุนจากจีนจำนวนมากในมาเลเซียว่าไม่เป็นธรรม รวมทั้งมีการเชื่อมโยงการลงทุนเข้ากับปัญหาการทุจริตในกองทุนพัฒนามาเลเซีย วันเอ็มดีบี (1MBD) ที่รัฐบาลมาเลเซียกำลังสอบสวนเอาผิดกับอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซักด้วย
รอยเตอร์รายงานว่าก่อนหน้าที่จะเดินทางไปจีน มหาเธร์ได้สั่งระงับโครงการลงทุนเส้นทางรถไฟสายเลียบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (East Coast Rail Link) ของจีนในมาเลเซียมูลค่า 20,000 ล้านดอลลาร์เอาไว้ อ้างเหตุผลเรื่องเงินกู้จำนวนมหาศาลและมูลค่าโครงการที่ดูจะเกินจริง
โครงการนี้เป็นการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหญ่กว่าคือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt, One Road Initiatives) อันเป็นการลงทุนในหลายประเทศของจีนเพื่อเชื่อมจีนเข้ากับเอเชียกลาง โครงการก่อสร้างทางรถไฟนี้เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลของนายนาจิบซึ่งแสดงออกว่าสนับสนุนจีนอย่างมาก
นอกจากนี้ มหาเธร์ยังสั่งระงับโครงการอีกสองโครงการที่เป็นการลงทุนจากจีนด้วยเช่นเดียวกัน ของ China Petroleum Pipeline Bureau มูลค่า 2,300 ล้านดอลลาร์ เพราะเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับการทุจริตในกองทุนวันเอ็มดีบี
“เราไม่ต้องการเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดลัทธิอาณานิคมใหม่ เพราะประเทศยากจนไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่ร่ำรวยกว่าได้”
ในการแถลงข่าวร่วมกันเมื่อวันที่ 21 ส.ค. มหาเธร์อ้างว่า จีนเข้าใจดีว่าเหตุใดมาเลเซียจึงต้องทำเช่นนั้น เขาได้แจ้งจีนไปแล้วว่า เหตุผลมาจากปัญหาภายในของมาเลเซียเองซึ่งมีหนี้สินเป็นจำนวนมากและต้องจะลดภาระหนี้ลง ดังนั้นมาเลเซียไม่สามารถจะทำโครงการเหล่านี้ได้
แต่มหาเธร์ยืนยันกับจีนว่า มาเลเซียยังคงต้องการการลงทุนจากจีนเสมอตราบเท่าที่การลงทุนนั้นเป็นประโยชน์ต่อมาเลเซีย รวมทั้งโครงการที่ระงับไว้นั้นก็อาจจะรื้อฟื้นขึ้นมาพิจารณาใหม่เมื่อไหร่ก็ได้หากมีความพร้อม สำหรับโครงการที่สั่งระงับไปนั้น มาเลเซียจะจ่ายชดเชยด้วย
รายงานข่าวกล่าวว่า ในส่วนของจีนนั้น จีนไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของการพูดคุยของทั้งสองฝ่ายในเรื่องโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่ผู้นำทั้งสองประเทศก็ได้ทำข้อตกลงขยายการค้าระหว่างกันในสินค้าหลายประเภทเช่นน้ำมันปาล์ม ทุเรียน ฯลฯ อย่างไรก็ตามในที่ประชุมแถลงข่าว เมื่อถามว่ามาเลเซียสนับสนุนการค้าเสรีกับจีนใช่หรือไม่ มหาเธร์ตอบว่า เขาสนับสนุนการค้าเสรีตราบเท่าที่การค้านั้นเป็นธรรม
“เราไม่ต้องการเงื่อนไขที่จะทำให้มีลัทธิอาณานิคมแบบใหม่เกิดขึ้นเพราะประเทศยากจนไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่่ร่ำรวยกว่าได้”
ก่อนเดินทางไปจีน มหาเธร์ยังกล่าวไว้ด้วยว่า เขาจะพูดคุยกับจีนด้วยถึงกรณีของนายเล่า เต็ก โจว นักการเงินการธนาคารที่ถูกกล่าวหาว่ามีบทบาทสำคัญในปัญหาการทุจริตในกองทุนวันเอ็มดีบี และมีรายงานข่าวว่า เขาหลบหนีการจับกุมของทางการมาเลเซียอยู่ในจีน แต่วอชิงตันโพสต์บอกว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซียก็ไม่ได้นำเรื่องนี้ขึ้นหารือแต่อย่างใด
เรื่องกระแสการต่อต้านการลงทุนของจีนนี้ นิวยอร์กไทม์ส ได้นำเสนอรายงานชิ้นยาวที่กล่าวถึงการลงทุนจากจีนที่หลั่งไหลเข้าสู่มาเลเซียภายใต้รัฐบาลชุดที่ผ่านมาคือของนายนาจิบ ได้มีนักลงทุนจากจีนเข้าไปลงทุนเช่นในเมืองกวนตันซึ่งอยู่ริมชายฝั่งทะเลด้านทะเลจีนใต้ เป็นโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเขตอุตสาหกรรมซึ่งสอดรับกับเส้นทางของทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออกที่เป็นการลงทุนใหญ่ของจีนดังกล่าวมาแล้ว เขตอุตสาหกรรมดังกล่าวเปิดตัวไปเมื่อปี 2556 แต่วอชิงตันโพสต์รายงานว่า ในขณะที่อดีตผู้นำคือนายนาจิบพอใจกับโครงการ ประชาชนบางส่วนบอกว่าต้นทุนของโครงการสูงเกินไป ในขณะที่พวกเขาไม่แน่ใจว่าใครได้ประโยชน์มากกว่ากันระหว่างจีนและมาเลเซีย
นอกจากนั้นยังมีบริษัทจากจีนเข้าไปลงทุนทำโครงการมะละกาเกทเวย์ที่มีมูลค่านับหมื่นล้านดอลลาร์เพื่อจะรื้อฟื้นมะละกา อดีตเมืองท่าเก่าที่ซบเซาลงไปให้ฟื้นขึ้นมาใหม่ ด้วยเป้าหมายจะให้เป็นศูนย์กลางการเดินเรือในช่องแคบมะละกาอีกครั้งแข่งกับสิงคโปร์ ในโครงการจะมีการสร้างเกาะใหม่สามเกาะ เขตอุตสาหกรรม ศูนย์กลางการเงิน มีท่าเรือน้ำลึกที่ใหญ่พอจะรับเรือบันทุกเครื่องบินได้ และปล่อยเช่าในสัญญาเช่า 99 ปีแทนที่รูปแบบเดิม 30 ปี โดยหุ้นส่วนสำคัญชาวมาเลเซียเป็นเพียงบริษัทขนาดเล็กที่มีประสบการณ์ผ่านการสร้างสวนสัตว์ เงื่อนไขการลงทุนในโครงการต่างๆ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่ามูลค่าลงทุนสูงเกินจริง ถึงกับมีการตั้งข้อสงสัยว่ามีการนำเงินบางส่วนไปสนับสนุนนายนาจิบที่ประสบปัญหาถูกตั้งข้อสงสัยในเรื่องทุจริตกองทุนวันเอ็มดีบี
ในขณะที่อีกด้าน ผู้นำใหม่คือ มหาเธร์ มีความเป็นห่วงเกรงมาเลเซียจะถูกมหาอำนาจครอบงำ ในอดีตเขาเคยต่อต้านสหรัฐฯ มาแล้��อย่างมาก วอชิงตันโพสต์ระบุว่า ในเวลานี้มหาเธร์เป็นห่วงอิทธิพลการครอบงำของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนกำลังขยายตัวมีการก่อสร้างในเขตทะเลจีนใต้ ซึ่งมาเลเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่อ้างกรรมสิทธิ์บางส่วนในพื้นที่ดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: