เบื้องต้นกลุ่มประชาธิปไตยใหม่มี ‘ข้อเสนอ’ ที่จะ ‘กดดัน’ รัฐบาล-คสช. โดยเฉพาะประเด็นการ ‘โกหก’ เรื่องการเลื่อนเลือกตั้ง การใช้อำนาจนอกกฎหมายกับองค์กรอิสระในการยื้อเลือกตั้งออกไป และวาระครบรอบ 4 ปี คสช. ว่าเกิดสิ่งใดขึ้นบ้าง โดยมีวาระหลัก คือ ‘การหยุดยื้อเลือกตั้ง หยุดระบอบ คสช.’
ฝ่ายความมั่นคง มองว่า การเปลี่ยนสถานที่จากสนามฟุตบอลมาลานปรีดี เพื่อให้ภาพที่ออกมามีผู้มาร่วมชุมนุมจำนวนมาก เพราะการใช้พื้นที่สนามฟุตบอลจะทำให้ภาพคนกระจัดกระจายเกินไป
พร้อมกันนี้ ฝ่ายความมั่นคงประเมินอีกว่า จะมีผู้มาชุมนุมไม่แตกต่างจากที่ผ่านมา พร้อมเชื่อว่ายังไม่สามารถ ‘จุดติด’ ได้ เห็นได้จากการชุมนุมครั้งที่ผ่านๆมา และระยะเวลาถูก ‘ทิ้งช่วง’ มากว่า 1 เดือน ทำให้ต้องมานับหนึ่งใหม่อีกครั้ง เพื่อ ‘เลี้ยงกระแส’ ต่อไป และเชื่อว่ายังไม่มีปรากฏการณ์ ‘ดาวกระจาย’ ไปพื้นที่ต่างจังหวัด แต่อาจมาร่วมที่กรุงเทพฯ แทน ในช่วงเดือนพ.ค.นี้
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายความมั่นคงไม่ได้ ‘ชะล่าใจ’ กับการชุมนุมของ ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’ แน่นอน ในการติดตามการชุมนุมใหญ่แบบค้างคืนช่วงวันที่ 19 - 22พ.ค.นี้ เพราะในวาระครบรอบ 4 ปี คสช. อาจมีผู้ชุมนุมมากกว่าปกติใน ’วันสัญลักษณ์’ นี้ พร้อมมีการติดตามอาจมีการ ‘ดึง’ กลุ่มคนเสื้อแดงที่ระลึกเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 มาร่วมด้วย
ฝ่ายความมั่นคง ยังเกรงว่าจะมี ‘มือที่สาม’ เข้ามาป่วน-ผสมโรงได้ เช่น ครั้งแกนนำ ‘เสื้อแดงฮาร์ดคอร์’ มาปลุกระดมมวลชนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยครั้งล่าสุด พร้อมติดตาม ‘พรรคการเมือง’ ว่ามีใครเป็น ‘ท่อน้ำเลี้ยง-หนุนหลัง’ หรือไม่ด้วย โดยเฉพาะพวกที่มีจุดยืน ‘ต้าน คสช.’ เป็นทุนเดิม
สอดรับกับการออกมาชี้แจงของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ถึงการชุมนุมที่ต้องเฝ้าระวังกลุ่มมือที่สาม ว่า “เชื่อว่าผู้ชุมนุม เขารู้ว่าชุมนุมอย่างไรไม่ผิดกฎหมาย และคิดว่าการชุมนุมครั้งนี้จะไม่ยืดเยื้อ และไม่มีฝ่ายอื่นๆ มาร่วมผสมโรงในการชุมนุม”
พร้อมกับที่ประชุมเลขาธิการ คสช. นำโดย พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการคสช. ที่ได้สั่งการในที่ประชุมให้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
“เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่จุดที่มีการชุมนุมจะต้องดูเรื่องการจราจร การอำนวยความสะดวก ให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ขณะนั้น ไม่ให้มีภาพการกระทบกระทั่งหรือยื้อยุดฉุดกระชาก ลากดึงกันไปมาไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น และดูแลติดตามบุคคลที่สาม ที่จะเข้ามาก่อความวุ่นวาย” พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคสช. กล่าว
อย่างไรก็ตามมี รายงานจากแนวร่วมกลุ่มคนอยากเลือกตั้งว่าจะมี ‘เซอร์ไพรส์’ แน่นอน วันที่ 22 พ.ค.นี้ ที่ไม่ใช่เพียงการ ‘ชุมนุม’ อย่างเดียว แต่มีการยกระดับการชุมนุมขึ้น
โดยฝ่ายความมั่นคงยังคงติดตาม ‘เซอร์ไพรส์’ นี้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่จะประเมินสถานการณ์วันที่ 5พ.ค.นี้ก่อน เพื่อเตรียมมาตรการช่วงวันที่ 19 - 22 พ.ค.ต่อไป และเร่ง ‘สแกน’ แนวร่วมจากพื้นที่ต่างจังหวัดที่อาจมาร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม มีความพยายามโยงการออกมาเคลื่อนไหวร่วมการเดินขบวนของกลุ่มแรงงาน เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ของ ‘ไพร่หมื่นล้าน’ ธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจ แกนนำพรรคอนาคตใหม่ พร้อมกับ ‘จ่านิว’ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และ ‘เพนกวิน’นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ แนวร่วมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ถือธง "เลือกตั้งปีนี้" ที่ร่วมในขบวนเพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งและผลักดันข้อเสนอต่างๆของแรงงานด้วย
โดยในช่วงบ่าย ‘เพนกวิน’ ที่ได้แฝงตัวเข้ามาในงานด้วยการสวมเสื้อสีน้ำเงินของสำนักงานประกันสังคมที่แจกให้กับผู้ใช้แรงงานที่มาร่วมกิจกรรม โดยสวมใส่ตั้งแต่ช่วงเช้าแล้ว จนบุกประชิดเข้าหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ แล้วนั่งลงกับพื้นที่พร้อมก้มกราบไปที่นายกฯ พร้อมกล่าวว่า "ผมขอกราบท่านนายกฯ ผมอยากเลือกตั้ง"
ทำให้ ‘ทีมรปภ.นายกฯ’ เข้าล็อกและดึง ‘เพนกวิน’ แล้วนำตัวออกไป โดย นายกฯ บอกว่า "ปล่อยเขาอย่าไปทำอะไรเขา" ทันทีที่นายกฯพูดจบ ‘ทีม รปภ.’ ได้นำตัว ‘เพนกวิน’ ไปยังศาลาว่าการ กทม.และปล่อยตัวออกมา
ตรงนี้ฝ่ายความมั่นคง มองว่า จะมีการดึง ‘ม็อบแรงงาน-กลุ่มพีมูฟ’ มาร่วมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งหรือไม่ด้วย หลังแกนนำอย่าง ‘ธนาธร-จ่านิว – เพนกวิน’ ไปร่วมขบวนถือป้ายการเมือง จึงทำให้ ‘ธนาธร’ ถูกจับตามากขึ้น ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ ‘กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง’ มากขึ้นไปอีก
โดยฝ่ายความมั่นคงกำลังจับตา ‘การขนคน’ จากต่างจังหวัดเข้ามาร่วม โดยจะทำการ ‘สกัด’ ไม่ให้มาเติมพลังให้กับ ‘ม็อบคนอยากเลือกตั้ง’ ที่จะปักหลักชุมนุมที่กรุงเทพฯ กดดันรัฐบาล คสช.
“ต้องไปดูคนที่เคลื่อนไหวเป็นคนกลุ่มเดิมหรือคนกลุ่มใหม่ มีการสนับสนุนจากใคร สอดคล้องกับที่นักการเมือง หรือพรรคการเมืองออกมาพูดหรือไม่ ก็คือกลุ่มนั้นที่สนับสนุน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
แม้ว่า ‘พรรคอนาคตใหม่’ ของ ‘ธนาธร’ จะผ่านการจดแจ้งชื่อพรรคจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ระหว่างการทำขั้นตอน ‘ทางธุรการ’ เพื่อไปยื่น กกต. เป็นพรรคสมบูรณ์แบบอีกครั้ง แต่หนทางเดินนับจากนี้ ‘ไม่ได้โรยกลีบกุหลาบ’ แน่นอน ต้องจับตาว่า ‘ธนาธร’ และ ‘อนาคตใหม่’ จะถูกเตะตัดขากลางทางหรือไม่ ?
หลังมีเสียงเตือนถึง ‘การเคลื่อนไหว’ ในช่วงนี้ ที่ยังไม่มีการ ‘ปลดล็อคพรรค’ จะเข้าข่ายขัดคำสั่ง คสช.หรือไม่ ? เช่นการลงพื้นที่พบประชาชน ที่เริ่มมีภาพกึ่งหาเสียงเกิดขึ้นด้วย และความเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองที่ต้านคสช.
พร้อมกันนี้มีข้อสังเกตว่า ‘คสช.’ เล่นบท ‘รับมือ’ มากกว่าสร้าง ‘คำขู่’ เช่นครั้งที่ผ่านๆ มาใน ‘ทางเปิด’ แต่ใน ‘ทางลับ’ ก็มีการ ‘สแกน’ คู่ตรงข้าม และ ‘สกัด-สลาย’ กำลังของกลุ่มและแนวร่วมคนอยากเลือกตั้งด้วย
สะท้อนว่าแต่ละฝ่ายกำลัง ‘จัดแถว’ อยู่ในขณะนี้ ซึ่งฝ่าย คสช. ก็พยายามเลี่ยงการใช้ความรุนแรง เพราะอยู่ในช่วงเรตติ้งลดอยู่ จึงต้อง ‘เฝ้าระวัง’ การป่วนของกลุ่มมือที่สาม และพวก ‘นอกแถว’ ฝั่งรัฐด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง