ไม่พบผลการค้นหา
กระแสถึง “รัฐประหาร” ถูกปลุกขึ้นตามวงรอบ หลัง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนถึง “กลิ่นรัฐประหาร” หลังชี้ว่ารัฐบาลไร้เสถียรภาพ

ผลพวงจาก “ธรรมนัสเอฟเฟกต์” ที่ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มีทางออกอยู่ 2 ทาง คือ ยุบสภา กับ ลาออก ก่อนจะกล่าวเชิง “ดักคอ-ตีข่าว” ไว้ก่อน ผ่านวิธีการที่ 3 คือการ “ยึดอำนาจ-รัฐประหาร” เพราะมีกลิ่นออกมา อาจออกแนวทางนี้ โดยเกิดก่อนเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร อย่างมี “นัยสำคัญ” ด้วย

ต่อมาเมื่อผลการเลือกตั้งซ่อมชัดเจนว่า “พรรคเพื่อไทย” คว้าชัย ส่วน “พรรคพลังประชารัฐ” แพ้ยับเยิน

ที่สำคัญคือ “พรรคก้าวไกล” ได้ลำดับที่ 2 คะแนนเพิ่มขึ้นจากเลือกตั้งปี 2562 จาก 20 % เป็น 24 % ซึ่งช่วงที่ผ่านมา “กองทัพ” ตกเป็นเป้าของพรรคก้าวไกล ในการชูประเด็น “ปฏิรูปกองทัพ” หาเสียงด้วย รวมทั้งพยายามเข้าไปหาเสียง “พื้นที่ทหาร” โดยสุดท้ายได้เข้าไปในพื้นที่ส่วนกลางตลาดนัด มทบ.11 แจ้งวัฒนะ

แต่ที่เจาะได้ลึกกว่า คือ “กรมยุทธโยธาทหารบก” ที่ได้เข้าไปหาเสียงในสโมสร ให้กำลังพลและครอบครัวฟัง ถือเป็นค่ายที่ 2 หลังเคยเข้าไปหาเสียงเลือกตั้งซ่อม จ.สงขลา ที่กองพลพัฒนาที่ 4 ค่ายรัตนพล ตามแนวทางของพรรค ที่ต้องการ “ปักธงความคิด” ผ่านพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ต่างๆ

สุรชาติ ชลน่าน ประเสริฐ เพื่อไทย -974C-458D-8A41-D58CB7D84F8E.jpeg

ทั้งนี้ตลอดเดือน ม.ค. 2565 ที่มีการเลือกตั้งซ่อม 3 เขต “บิ๊กบี้” พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ได้กำชับ ผบ.หน่วยทหาร ให้กำลังพลวางตัวเป็นกลาง และให้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง อยู่ตลอดทุกครั้งเมื่อมีการประชุมของ ทบ. รวมทั้งกระทรวงกลาโหม ก็ยืนยันไม่ขัดขวางพรรคก้าวไกลเข้าไปหาเสียงค่ายทหาร แต่ผู้พิจารณา คือ กกต.กทม. ที่จะจัดคิวและประสานมายังหน่วยทหาร 

เมื่อผลคะแนนออกมา ผลส่วนใหญ่คะแนนเทไปทางพรรคก้าวไกล โดยได้คะแนนจากค่ายทหารของพรรคเพิ่มขึ้นจาก 26% เป็น 35 % ซึ่งคะแนนหน่วยทหารในค่ายมีทั้งกำลังพล ครอบครัว และชุมชนรอบข้าง แต่ที่น่าสนใจคือพรรคก้าวไกลโฟกัสไปที่ โรงเรียนช่างฝีมือทหาร เป็นเด็กที่ต้องโตไปเป็นข้าราชการทหาร ต่อไป

ตอกย้ำการ “ปักธงแนวคิด”ในหมู่ “คนรุ่นใหม่” ทั้งที่ โรงเรียนช่างฝีมือทหาร ก็มีคะแนนจากกำลังพล ครอบครัว และชุมชนรอบข้างอยู่ด้วย ส่วนเด็ก นร.ช่างฝีมือทหาร ส่วนใหญ่เทียบเท่า ม.ปลาย เท่านั้น ที่อายุส่วนใหญ่ยังไม่ถึงเกณฑ์เลือกตั้ง 18 ปี

เลือกตั้ง ทหาร ช่างฝีมือทหาร -A9B0DF04E1E0.jpeg

ต่อมา พล.อ.ณรงค์พันธ์ ได้ออกมาแอคชั่นต่อผลการเลือกตั้ง สะท้อนว่า ผบ.ทบ. “มอนิเตอร์” อยู่ตลอด

โดย พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก ทบ. เปิดเผยว่า ผบ.ทบ. ได้กล่าวในการประชุมสั่งการหน่วยทหาร ว่า “การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เป็นไปตามวิถีทางการเมือง การใช้สิทธิ์ของประชาชน และการเสนอนโยบายของผู้สมัครมีบรรยากาศที่ดี เป็นมิติใหม่ทางการเมือง ที่ไม่ปรากฏการให้ข้อมูลกล่าวร้าย และเป็นแนวทางการเมืองที่ประเทศไทยมุ่งหวังจะก้าวไปสู่ในอนาคต ทั้งนี้ผู้สมัครและพรรคการเมืองที่จะได้รับการคัดเลือกนั้น คือผู้ที่เข้าใจในความคิดของประชาชน รวมทั้งให้การดูแลช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง”

ณรงค์พันธ์ กองทัพบก ทหารบก 4501000000.jpg

คำพูดดังกล่าวจึงถูกนำมา “จับนัย” ที่ซ่อนอยู่ แน่นอนว่าหากดูเพียงผิวเผิน ก็จะเป็น “แต้มบวก” ไปยัง ผบ.ทบ. ที่สะท้อนว่าไม่ “แทรกแซงการเมือง” แต่ในอีกนัยหนึ่งก็แค่ “ตามน้ำไป” หรือไม่

แต่หากเจาะลึกสิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนถึง “ท่าที” ของ ผบ.ทบ. ที่จะไม่นำ “กองทัพ” ลงมาสู่สนามการเมืองไปในตัว เพราะถ้าดูท่าทีของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ช่วง 1 ปีกว่าที่ผ่านมา ถือว่ามี “ระยะห่าง” กับ นายกฯ และไม่ “ออกตัวแรง” ปกป้องรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ณรงค์พันธ์ เคยกล่าวถึงการ “รัฐประหาร” หลังรับตำแหน่ง ผบ.ทบ. เมื่อ ต.ค. 2563 ไว้ว่า "โอกาสของการทำเรื่องพวกนี้ทุกอย่างเป็นศูนย์หมด บนพื้นฐานที่อย่าให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสร้างเงื่อนไขปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรง และกระทบต่อความเดือดร้อน” และ “ขจัดเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ให้หมดไปจากประเทศไทย และติดลบ เพราะศูนย์ก็ไม่พอ แต่การจะติดลบได้ทุกคนต้องช่วยกัน”

แต่เป็นการกล่าวในบริบทขณะนั้น ที่เป็นช่วงจุดสูงสุดของการชุมนุม พร้อมกับข้อเรียกร้อง “ทะลุเพดาน” แต่ในขณะนั้น “เรตติ้งรัฐบาล” ยังดีกว่านี้ และ “ระบอบลุง” อยู่ในภาพรวมที่ยังมีเสถียรภาพ ไม่ปรากฏ “รอยร้าว” ขนาดนี้ และเป็นเรื่องยากที่จะมาทำ “รัฐประหาร” กับฝ่ายเดียวกันเองด้วย

แม้ว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ จะแสดงท่าทีต่างๆผ่าน “ทวิตเตอร์” ที่เป็นอาวุธในการแสดงออกเพื่อสื่อสารไปยังกำลังพล โดยจะรีทวีตกับกดไลค์แทนการพิมพ์แสดงความเห็น และมีม็อตโต้สำคัญ คือ “ทหารพระราชา ดูแลประชา” แต่โดยเนื้อแท้เชื่อได้ว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ ก็เข้าใจ “บริบทนอกค่าย” และปรากฏการ “คนรุ่นใหม่” ผ่านบุคคลใกล้ชิด

ทั้งนี้ต้องจับตาการเมืองช่วงปี 2566 หากมีการยุบสภาเกิดขึ้นและเลือกตั้ง มี.ค. 2566 จะต้องดู “สมการ” การเมืองในเวลานั้น

โดยเฉพาะสภาพ “ระบอบลุง” จะคงสภาพไว้ได้แค่ไหน บทสรุปของสายสัมพันธ์ “2ป.ประยุทธ์-ประวิตร” จะเป็นอย่างไร

รวมทั้งการ “ต่อรองอำนาจ” ของแต่ละพรรคในขณะนั้น จะเกิดสภาพ “สุญญากาศ” หรือ “ทางตัน” ทางการเมืองหรือไม่

เมื่อนั้นต้องจับตา “ขบวนการจัดตั้ง” ต่างๆจะเกิดขึ้นมาในรูปแบบใด รวมทั้งการต่อรองอำนาจต่างๆของ “ฝ่ายอำมาตย์” ที่ยังไม่นิ่ง ที่จะสะเทือนมาถึง “ดุลอำนาจ” ภายใน “เหล่าทัพ” ด้วย

ประยุทธ์ ประวิตร สภา อภิปรายไม่ไว้วางใจ D3359.jpeg

ดังนั้นการเมืองในปี 2565 หาก พล.อ.ประยุทธ์ ยังประคองสถานการณ์ได้ “ระบอบลุง” ก็จะดำเนินต่อไป

การเมืองปี 2566 จึงเป็น “ทางแพร่ง” ของระบอบลุงจะเป็นอย่างไร

เพราะในการเลือกตั้งครั้งหน้า ต่างให้จับตา “พรรคตัวแปร” ให้ดี โดยเฉพาะ “พรรคตระกูลสีน้ำเงิน” ทั้งพรรคสร้างอนาคตไทย ของขั้วสี่กุมาร-สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ , พรรคไทยสร้างไทย ของ ‘หญิงหน่อย’คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และ พรรคกล้า ของ ‘กรณ์ จาติกวณิช’

แต่โจทย์ที่เปรียบเป็น “หล่ม” คือการหาตัว “นายกฯ คนต่อไป” ที่ยังไม่ได้ หากไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ แล้วจะเป็นใคร ?

แม้แต่ ‘เสี่ยหนู’อนุทิน ชาญวีรกูล ก็ยังไม่ได้รับสัญญาณใดๆ หากได้ตัว “นายกฯคนใหม่” เมื่อใด ตามมาด้วย “กระบวนการปั้น” ให้ไปถึงปลายทาง ก็จะมาเอง เพราะกระบวนการทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากอำนาจมีอยู่หลายทางผ่านการเมืองในระบบ แต่สุดท้ายก็จะเป็นฉากสิ้นสุด “ระบอบลุง” ภาคแรก เท่านั้น

เรื่องนี้ดูกันอีกยาว สู้กันยิบตา !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง