สำหรับการสร้างครอบครัวเพื่อไทย เริ่มปักธงที่โคราช ช่วงต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ด้วยโคราชเป็น “ประตูสู่ภาคอีสาน” ที่เป็น “ฐานเสียง” สำคัญของพรรค ผ่านกิจกรรมชื่อว่า “ครอบครัวเพื่อไทย บ้านหลังใหญ่หัวใจเดิม” พร้อมกับเปิดตัว หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย “อุ๊งอิ๊งค์”แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมพรรคเพื่อไทย
แต่ความเคลื่อนไหวถูกจับตามากขึ้น หลังพรรคเพื่อไทยมาจัดงานที่ จ.สมุทรปราการ อีกจังหวัดปราการของคนเสื้อแดง ชื่องานว่า “ครอบครัวเพื่อไทย สมุทรปราการ บ้านหลังใหญ่ หัวใจดวงเดิม” ที่มีบรรยากาศการชุมนุมของคนเสื้อแดงกลับมาอีกครั้ง ซึ่งตรงกับรูปแบบที่พรรคตั้งใจคือการรวมพลัง “คนเสื้อแดง-เพื่อไทย” เพื่อภารกิจ “แลนด์สไลด์” อีกครั้ง เฉกเช่นเมื่อปี 2554 โดย “แพทองธาร” ในฐานะหัวหน้าครอบครัว ได้เชิญชวนพี่น้องเสื้อแดงกลับบ้านเรา พร้อมขอบคุณที่ไม่เคยทิ้งกัน
ซึ่งภายในงานมีมวลชนคนเสื้อแดงจำนวนมากมาร่วมงาน นำโดย “วรชัย เหมมะ” อดีต ส.ส.สมุทรปราการ แกนนำคนเสื้อแดง รวมทั้ง “สุทิน คลังแสง” เลขาธิการพรรค อดีตประธาน นปช. มหาสารคาม ซึ่งทั้งคู่ถือเป็น “รุ่นใหญ่” ร่วมปลุกใจคนเสื้อแดง หลอมรวมเป็นครอบครัวกับพรรคเพื่อไทย พร้อมย้ำถึง “ยุทธวิธี” ที่ต้องปรับใหม่ เพราะ “สมรภูมิ” ได้เปลี่ยนไปแล้ว
นอกจากนี้ยังมี 2 สายเลือด “ลูกคนเสื้อแดง” อย่าง “น้ำ-จิราพร สินธุไพร” ส.ส.ร้อยเอ็ด บุตรสาว “นิสิต สินธุไพร” แกนนำ นปช. ที่เล่าเรื่องราวของคุณพ่อผ่านการต่อสู้ทางการเมือง ความเจ็บปวดของครอบครัว พร้อมประกาศสานเจตนารมย์สานต่อจากคุณพ่อ ยกย่องคนเสื้อแดงฆ่าไม่ตาย จิตวิญญาณนักสู้ยังคงอยู่ ขอฝ่ายประชาธิปไตยจับมือ “แสวงจุดร่วม- สงวนจุดต่าง” เพื่อชัยชนะของประชาชน
รวมทั้ง “เดียร์-ขัตติยา สวัสดิผล” เปิดเนื้อหา “จดหมายจากน้องเดียร์ถึงคุณพ่อ” พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ที่ถูกลอบสังหาร 13 พ.ค. 2553 ด้านหน้าสวนลุมพินี แยกศาลาแดง ที่ผ่านมา 12 ปี คดีไม่คืบหน้า ผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในอดีต เป็นผู้มีอำนาจในวันนี้ จึงขอฝากความหวังพรรคเพื่อไทย เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้คนเสื้อแดงทุกคน
แน่นอนว่าเมื่อสิ้นสุดงาน “ฝ่ายความมั่นคง” ก็มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะเป็นการ “ปลุกพลัง” คนเสื้อแดงให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง
โดยมีรายงานว่าฝ่ายความมั่นคงเอง ยังไม่มีความกังวลมากนัก เพราะมองบริบททางการเมืองช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนแปลงไปมาก มี “ปัจจัยทางการเมือง” อื่นๆเข้ามาเพิ่ม เช่น การเกิดขึ้นของ “ขั้วพรรคอนาคตใหม่” ที่เป็นอีก “ทางเลือก” ในทางการเมือง และฝั่ง นปช. ก็แบ่งเป็น 2 สาย ระหว่าง “สายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ-สายจตุพร พรหมพันธุ์”
รวมทั้งข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ที่ “ทะลุเพดาน” ชัดเจนกว่าในอดีต มาพร้อมการแสดงออกทางการเมืองที่เป็น “อิสระ” มากขึ้น ทำให้ฝ่ายความมั่นคงให้ “น้ำหนัก” การเคลื่อนไหวในส่วนหลังมากกว่า
ทั้งนี้ฝ่ายความมั่นคงยังมองว่า การเคลื่อนไหวของ “คนเสื้อแดง-พรรคเพื่อไทย” เป็นไปตาม “วิถีการเมือง” ตามปกติ ที่ปูทางไปสู่การเลือกตั้ง และประเมินว่าพรรคเพื่อไทยจะยังคงจัดกิจกรรมต่อไป โดยเน้นไปในจังหวัดที่เป็น “ฐานที่มั่น” ของคนเสื้อแดง เพื่อปลุกความฮึกเหิมขึ้นมา
ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นห้วง “รำลึกประวัติศาสตร์” ทั้งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. แยกราชประสงค์ พ.ค. 2553 ครบ 12 ปี และครบรอบ 8 ปี เหตุการณ์รัฐประหาร 22พ.ค. 2557 ทำให้มีความเคลื่อนของคนเสื้อแดงมากขึ้นในช่วงเวลานี้
ทว่าในฝั่งคู่ขัดแย้งของ “คนเสื้อแดง” นั่นคือ “กองทัพบก” ก็ขยับเช่นกัน
หลัง พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. นำ กองทัพบก จัดพิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศให้แก่กำลังพลและเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตในการปฏิบัติภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยปี 2553 รวม 7 นาย ที่วัดโสมนัส พร้อมจารึกชื่อบนโกศ นายทหาร สังกัด ทบ. เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีชื่อ “เสธ.แดง”พล.ต.ขัตติยะ
ที่สำคัญการจัดทำบุญครั้งนี้ของ ทบ. ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์เมื่อปี 53 ที่ ทบ. จัดขึ้นที่ส่วนกลาง ซึ่งที่ผ่านมาญาติหรือครอบครัวกำลังพล จะไปจัดพิธีส่วนตัวกันเอง โดยการจัดพิธีของ ทบ. ครั้งนี้ ก็คู่ขนานไปกับฝั่ง นปช. ที่แบ่งเป็ย 2 แห่ง ได้แก่ที่ พีซทีวี นำโดย “ตู่”จตุพร พรหมพันธุ์ และฝั่ง ยูดีดี นิวส์ นำโดย “เต้น”ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ ธิดา ถาวรเศรษฐ จัดที่วัดเสมียนนารี
สะท้อนถึงการเลือก “บันทึก-จำ” เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของ ทบ.-นปช. ที่อยู่คนละฝั่งกัน ผ่าน “ความรุนแรง” ที่เป็น “บทเรียน” ของทุกฝ่าย โดย พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวกับผู้บาดเจ็บรายหนึ่งในพิธีฯ ว่า “ทุกฝ่ายก็เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้คนใกล้ชิดบาดเจ็บและสูญเสีย และไม่อยากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นมา เพราะการใช้ความรุนแรงซึ่งกันและกัน ไม่มีอะไรดี ขอให้เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียน”
ในแง่หนึ่งฝั่ง ทบ. ก็ถูกตีความว่าเป็นการ “ขยับ” ที่มี “นัยยะ” ซ่อนอยู่หรือไม่ เพราะเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ที่จัดขึ้นมา ทาง ทบ. ต้องการแอ็คชั่นหรือไม่ เพราะเป็นห่วงเวลาเดียวกับที่พรรคเพื่อไทยได้ปลุกคนเสื้อแดงเพื่อรวมเป็น “ครอบครัวเดียวกัน” ปูทางสู่การเลือกตั้ง ซึ่งในเรื่องนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ก็เลี่ยงตอบสื่อ โดยกล่าวตัดบทว่า วันนี้มาทำบุญให้กับผู้เสียชีวิต
เมื่อก่อนย้อนกลับไปเมื่อสัปดาห์ก่อน พล.อ.ณรงค์พันธ์ ได้ออกมาแอ็คชั่นกรณีโฆษณาลาซาด้า ผลพวงจาก “นารา เอฟเฟกต์”
ทำให้ ผบ.เหล่าทัพ แอ็คชั่นตามมา โดยเฉพาะ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด ประกาศชัดถึงการปกป้องสถาบัน ไม่ยอมให้มีการก้าวล่วงเกิดขึ้น ที่สำคัญ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ได้ให้สัมภาษณ์ในรอบปี โดยมีคีย์เวิร์ดคำสำคัญหลายจุด ซึ่งทั้ง พล.อ.ณรงค์พันธ์ กับ พล.อ.เฉลิมพล ต่างเป็น “นายทหารคอแดง” ทั้งคู่ด้วย
“เราไม่ได้ปราม เราทำตามหน้าที่บทบาทของกองทัพนะครับ ที่จะต้องเทิดทูนปกป้องรักษาสถาบันหลักไว้ แค่นั้นเอง" พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าว
นอกจากนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ถูกถามถึงว่าถ้าในอนาคตมีลักษณะการกระทำที่หมิ่นเหม่อย่างนี้ จะออมาอยู่แถวหน้าในการปกป้องอีกหรือไม่ โดย พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวว่า “เราทุกคนมีหน้าที่ ที่จะต้องทำ ตามหน้าที่บทบาทของตนเอง ทุกคน ทุกองค์กร”
ถือเป็นการแอ็คชั่นที่ไปถึงองคาพยพอื่นๆ ในการทำ “หน้าที่” ของแต่ละองค์กร ผ่านตามอำนาจและกฎหมายที่รองรับ
รวมทั้งย้ำถึงจุดยื่นของกองทัพที่ชัดเจนอีกครั้ง เพราะออกมาทุก ผบ.เหล่าทัพ ทำให้ปรากฏการณ์ดังกล่าวถูกมองว่าเป็น “รัฐประหารเงียบ” เกิดภาพฉายไปยังอนาคตถึงสถานการณ์ทางการเมือง
เพราะเป็นช่วง “เปลี่ยนผ่านรัฐบาล” ในปีหน้า ซึ่ง พล.อ.ณรงค์พันธ์ กล่าวยืนยันว่า “ไม่มีหรอกนะ ยืนยันจุดยืนอุดมการณ์ เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน”
อย่างไรก็ตามบริบททางการเมืองของทำรัฐประหารแตกต่างจากอดีต ด้วย “ดุลอำนาจ” ภายในกองทัพที่เปลี่ยนไป และการจัดโครงสร้างหน่วยใหม่ของ ทบ. ในการย้ายหน่วยกำลังรบกลางกรุงออกนอกพื้นที่ กทม. รวมทั้งการโอนหน่วย ร.1 รอ. กับ ร.11 รอ. ออกนอก ทบ. รวมทั้งกระแสธารของสังคมต่อการทำรัฐประหารที่เปลี่ยนไป ทำให้การทำรัฐประหารมี “ต้นทุนสูง” กว่าในอดีต
ถือเป็นช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ ผบ.ทบ. มีแอ็คชั่นสำคัญถึง 2 เหตุการณ์ ในแง่หนึ่งก็เป็นการ “เสริมแกร่ง” เก้าอี้ ผบ.ทบ. ไปในตัวด้วย
เพราะช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พล.อ.ณรงค์พันธ์ เลือกที่จะนิ่งและไม่ออกตัวแรงในเรื่องที่เชื่อมโยงกับการเมือง รวมทั้งช่วงปี 2565 มานี้มีกระแสข่าวระส่ำเก้าอี้ ผบ.ทบ. อาจมีการโยก พล.อ.ณรงค์พันธ์ ไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด หรือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ก่อนเกษียณฯ 1 ปี ก.ย. 2566 ในโผโยกย้ายนายทหารปลายปี ต.ค. 2565
เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับไม่พูดให้เต็มปากเต็มคำ แต่กลับทิ้งประเด็นไว้ว่า “ไม่มี ยังไม่ถึงเวลา” เพื่อเปิดทางให้ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. สายทหารเสือฯ เหมือนกับ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. เกษียณฯ ก.ย. 2567 ไม่นับรวมการวัดพลังระหว่าง ตท.26-27-28 ที่กำลังจะขึ้นมาคุม “เหล่าทัพ” ในอนาคตด้วย โดยแต่ละรุ่นต่างมี “แบ็คอัพ” ของตัวเอง
ทั้งหมดนี้สะท้อนภาพขั้วอำนาจฝั่ง “รัฐบาล-กองทัพ” ที่ต้องจัดดุลอำนาจกัน เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์การเมืองช่วง “เปลี่ยนผ่านรัฐบาล” ต้นปี 2566 ที่แต่ละฝ่ายเตรียมขุมกำลังไว้เต็มที่ ต่างฝ่ายต่างแพ้ไม่ได้ เดิมพันครั้งนี้สูงยิ่งนัก