ไม่พบผลการค้นหา
ชวนย้อนมองจุดเริ่มต้นของหายนะประชาธิปไตยไทย วันนี้เมื่อ 7 ปีก่อน 'สุเทพ เทือกสุบรรณ' นำทัพ กปปส. ปิดเมือง 7 จุด ก่อนลุกลามสู่การขัดขวางการเลือกตั้ง ปูทางรัฐประหาร ยื่นอำนาจใส่พานให้ 'ประยุทธ์' อยู่ยาวมา 7 ปี

ย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นวันที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกวันหนึ่ง เนื่องจากการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ที่มีสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ ได้ประกาศเพิ่มความเข้มข้นในการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรักษาการของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่ง ทั้งที่ไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ปฏิบัติการพิเศษของผุ้ชุมนุมกลุ่ม กปปส. ครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. 2557 และสำเร็จลุล่วงภายในวันถัดมา โดยการเข้าปิดพื้นที่สำคัญในกรุงเทพฯ ทั้งหมด 7 จุด คือ สวนลุมพินี , แยกอโศก , แยกราชประสงค์ , อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ , ห้าแยกลาดพร้าว , ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และแยกปทุมวัน

การชุมนุมของ กปปส. นั้นเริ่มต้นจากเดินออกจากรัฐสภาสู่ท้องถนนของ สุเทพ เทือกสุบรรณ และ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่ง ที่ไม่เห็นด้วยกับการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในเวลานั้นประกาศถอนการผลักดันร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว การชุมนุมก็หาได้ยุติลงไม่ หากแต่เกิดการยกระดับเป็นการชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน จนสุดท้ายรัฐบาลประกาศยุบสภาเพื่อ เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศได้ตัดสินใจทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งอีกครั้ง

shut down bangkokshut down bangkok

แต่ที่แทนสังคมไทยจะได้เดินทางกลับไปสู่จุดเริ่มต้น ผ่านการเลือกตั้งใหม่ การชุมนุมก็ยังคงเพิ่มความเข้มข้นและยกระดับไปสู่การกดดันให้รักบาลรักษาการ ซึ่งมิได้มีอำนาจหน้าที่เต็มอย่างรัฐบาลปกติ ลาออกจากตำแหน่ง ทั้งที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ พร้อมไปกับการชูแคมเปญ ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ และเกินเลยไปถึงขั้นนำพามวลชนเข้าขัดขวางการสมัครรับเลือกตั้ง และปิดล้อมเขตเลือกตั้งหลายจุดจนทำให้ประชาชนไม่สามารถออกไปใช้สิทธิได้ ด้านพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานั้นก็ประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้งเป็นครั้งที่ 3 หลังเคยคว่ำบาตรการเลือกตั้งในปี 2495 และปี 2549

ท้ายที่สุดแล้วดอกผลจากการปิดเมือง ไปจนถึงการขัดขวางการเลือกตั้ง ได้นำพาประเทศไทยไปสู่ทางตัน แม้การเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 จะสามารถเปิดให้มีการเลือกตั้งได้ทั้งหมด 83,813 หน่วยเลือกตั้งจาก 93,952 หน่วย คิดเป็น 89.2% แต่ก็ไม่อาจรอดพ้นการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้งนั้นเป็นโมฆะ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2557 และหลังจากนั้นเพียง 2 เดือน การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เกิดขึ้น

ผลที่ตามมาหลังจากนั้นคือ ไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารยาวนานกว่า 5 แม้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค. 2562 ทว่านั่นก็ขึ้นจากรัฐธรรมนูญที่เปิดให้มีการลงประชามติแบบมัดมือชก ทั้งกระบวนการร่างที่ไร้ห่วงโซ่แห่งความผูกโยงกับประชาชน ทั้งการใช้กฎหมายปิดปากผู้ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว จนมีผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีอย่างน้อย 212 คน

shut down bangkokshut down bangkok

ไม่เพียงเท่านั้นหลังการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารก็เริ่มแผลงฤทธิ์ ที่ชัดเจนที่สุดคงจะหนีไม่พ้นการยกมือโหวตให้หัวหน้าคณะรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยสมาชิกวุฒิสภา 250 คนซึ่งคัดเลือกโดย คสช. โหวตเป็นเสียงเดียวกัน จนทำให้พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับเสียงข้างมากจากที่ประชุมรัฐสภา และอยู่ยาวมาถึง 7 ปี