ไม่พบผลการค้นหา
ครบรอบ 4 ปี วันที่ 2 ก.พ. 2557 การเลือกตั้งทั่วไป ครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย 'วอยซ์ ออนไลน์' จะพาหวนรำลึกการจากไปของสิทธิ์เสียงประชาชนที่ถูกตัดสินโมฆะ

2 กุมภาพันธ์ 2557 หรือ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว วันนั้นคุณทำอะไรอยู่?

หากความทรงจำของคุณกำลังหายไป 'วอยซ์ ออนไลน์' จะพาย้อนดูไทม์ไลน์เหตุการณ์วันที่สิทธิ์เสียงของประชาชนหายไป

รวมถึงในปัจจุบันความหวังยังดู 'เลื่อน' ลอยออกไป ตามกาลเวลาและคำสัญญา

'รัฐบาลยิ่งลักษณ์' ดึงดันจัดเลือกตั้ง จุดชนวนคว่ำบาตร ?

000_Hkg9268751.jpg
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา

เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มมวลมหาประชาชน ภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. และรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จนนำไปสู่การประกาศยุบสภาของรัฐบาล ในวันที่ 9 ธ.ค. 2556 ด้วยการคืนอำนาจให้กับประชาชน พร้อมเตรียมการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ ตามแนวทางของระบอบประชาธิปไตย 

ขณะนั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์กำหนดจัดเลือกตั้งครั้งใหม่ เป็นวันที่ 2 ก.พ. 2557 แม้จะมีเสียงท้วงติงจากคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) โดยอ้างว่าขอให้เลื่อนออกไป เพราะสถานการณ์บ้านเมืองไม่สงบ 

พร้อมกับเกิดปรากฎการณ์คว่ำบาตรการเลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองเก่าแก่อย่าง 'พรรคประชาธิปัตย์' นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค แถลงสรุปมติของพรรคต่อท่าทีการเลือกตั้งจะไม่ส่งผู้สมัคร และยังทำหนังสือเรียกร้องทุกพรรคการเมืองร่วมกันปลดเงื่อนกรอบเวลา ด้วยเหตุผลที่ว่าควรปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง ส่งผลให้การเมืองไทยในเวลานั้นอยู่ในสภาวะล้มเหลว กระบวนการประชาธิปไตยถูกบิดเบือน 

อวสาน 'เลือกตั้ง' ครั้งสุดท้าย

000_Hkg9418575.jpg
กลุ่มกปปส. เดินขบวนเรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

เมื่อมองย้อนกลับไป ในห้วงเวลานั้น ยิ่งคืบคลานเข้าใกล้วันที่ 2 ก.พ. สัญญาณความขัดแย้งยิ่งรุนแรงเพิ่มขึ้น

เมื่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. ประกาศให้มวลมหาประชาชนทุกจังหวัด เตรียมการขัดขวางการจัดการเลือกตั้ง และที่สุดรัฐบาลจะจัดเลือกตั้งได้สำเร็จ แต่บรรยากาศความขัดแย้งก็แผ่กว้าง เป็นวันเลือกตั้งท่ามกลางการปะทะกันระหว่างประชาชนผู้ต้องการใช้สิทธิเลือกตั้ง กับกลุ่มมวลชน กปปส. ที่ต้องการล้มเลือกตั้ง จนทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย

ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ ใน จ.สงขลา มีการปิดล้อมไม่ให้เจ้าหน้าที่นำบัตรเลือกตั้งไปใช้ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.สงขลา จ.สตูล จ.ยะลา จ.ปัตตานี และจ.นราธิวาส

000_Hkg9425344.jpg
กลุ่มประชาชนที่จะใช้สิทธิเลือกตั้ง

เมื่อสิ้นวันที่ 2 ก.พ. 2557 พบว่า มีหน่วยเลือกตั้งที่สามารถเปิดลงคะแนนได้ 83,813 หน่วย หรือคิดเป็น 89.2% จากหน่วยเลือกตั้งทั้งหมดที่มี 93,952 หน่วย ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ 

ภายหลังเหตุการณ์ชวนสลดใจเหล่านั้น เสียงทักท้วงที่ดังมาจากทั้งกรรมการเลือกตั้งและนักวิชาการถึงการจัดเลือกตั้งโดยมิชอบเริ่มดังขึ้น ขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินตอบรับคำร้อง ชงเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินัจฉัย กระทั่งวันที่ 21 มี.ค. 2557 มติศาลถูกเผยแพร่ ด้วยคะแนน 6 : 3 ตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ 

พลันเวลาล่วงเลยมาอีก 3 เดือน สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่คลี่คลาย แม้ว่าจะมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก จนทุกอย่างจบลงที่การทำ 'รัฐประหาร' เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาชาการทหารบกขณะนั้น ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และดำรงนายกรัฐมนตรีนับตั้งแต่บัดนั้น จนถึงปัจจุบัน พร้อมกับคำสัญญาเดินตามโรดแมป ปฏิรูปประเทศ ก่อนเลือกตั้ง 

เป็นเวลา 4 ปีที่ประเทศไทยไม่เคยมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นบนแผ่นดิน แม้ว่าจะมีคำมั่นสัญญาต่อประเทศมหาอำนาจ จากปาก 'พล.อ.ประยุทธ์' ไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง แต่ทุกอย่างกลับดูเลือนลางจนไม่มีท่าทีชัดเจนว่าจะมีการจัดเลือกตั้งอีกครั้งเมื่อไร พร้อมกับคำเปรยล่าสุดของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ระบุว่า "ไม่เคยสัญญา..."

พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog