พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะ ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร โดยมีพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ ซึ่งได้ตรวจโครงการก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) บริเวณสถานีตำรวจนครบาลบางเขน และโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (Pipe jacking) ถนนพหลโยธิน บริเวณแยกเกษตรศาสตร์ รวมถึงโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต
สำหรับ การวางบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) เพื่อแก้จุดเสี่ยงน้ำท่วมย่านวงเวียนบางเขน ทางสำนักการระบายน้ำดำเนินโครงการก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) บริเวณสถานีตำรวจนครบาลบางเขน ประกอบด้วย ก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำค.ส.ล. จำนวน 1 บ่อ ก่อสร้างบ่อรับน้ำค.ส.ล. จำนวน 2 บ่อ ก่อสร้างบ่อส่งน้ำค.ส.ล. จำนวน 1 บ่อ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า กำลังสูบ 1 ลบ.ม./วินาที จำนวน 1 เครื่อง โดยก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำที่ซอยอัมรินทร์ 3 และบ่อรับน้ำที่ปลายคลองบางบัว เพื่อดึงน้ำฝนที่ท่วมขังบริเวณวงเวียนบางเขนมากักเก็บไว้ในบ่อหน่วงน้ำ เมื่อฝนหยุดตกหรือระดับน้ำในคลองลดต่ำลง จะสูบน้ำที่เก็บไว้ระบายลงคลองบางบัว และอีกส่วนหนึ่งระบายลงคลองรางอ้อรางแก้ว สำหรับบ่อหน่วงน้ำดังกล่าว มีขนาดกว้าง 6 ม. ยาว 30 ม. ลึก 6 ม. สามารถเก็บน้ำได้ 1,000 ลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่ 25,000 ตร.ม. ทั้งนี้โครงการก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) บริเวณสถานีตำรวจนครบาลบางเขน ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 61
สำหรับรูปแบบการก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) จะเริ่มจากการก่อสร้างบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ใต้ดิน พร้อมทั้งก่อสร้างบ่อส่งน้ำเพื่อรับน้ำที่ท่วมขังส่งไปยังบ่อหน่วงน้ำ โดยวางท่อระบายน้ำเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 1.20 ม. สำหรับรับน้ำฝนในช่วงเวลาที่ฝนตกเข้ามาเก็บไว้ที่บ่อหน่วงน้ำ โดยการเชื่อมท่อระบายน้ำเข้ากับท่อระบายน้ำเดิม หรืออาจจะวางท่อระบายน้ำใหม่จากบ่อหน่วงน้ำไปยังคลองโดยตรง และดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เมื่อฝนหยุดตกหรือระดับน้ำในคลองลดต่ำลง จะสูบน้ำจากบ่อหน่วงน้ำออกไปตามแนวท่อระบายน้ำไปยังบ่อรับน้ำเพื่อระบายลงสู่คลองในพื้นที่ต่อไป
ส่วนโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (Pipe jacking) ถนนพหลโยธิน บริเวณแยกเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย ก่อสร้างท่อระบายน้ำค.ส.ล. เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.80 ม. ความยาว 1,120 ม. ด้วยวิธีดันท่อ ก่อสร้างท่อระบายน้ำค.ส.ล. เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.50 ม. ความยาว 245 ม. ด้วยวิธีดันท่อ ก่อสร้างท่อลอดเหล็กเหนียว เส้นผ่านศูนย์กลาง 1,200 มม. ความยาว 528 ม. ด้วยวิธีดันท่อ ก่อสร้างท่อลอดเหล็กเหนียว เส้นผ่านศูนย์กลาง 1,800 มม. ความยาว 150 ม. ก่อสร้างบ่อสูบน้ำค.ส.ล. จำนวน 1 บ่อ ก่อสร้างบ่อดันท่อ จำนวน 11 บ่อ ก่อสร้างบ่อรับ จำนวน 3 บ่อ โดยดำเนินการดันท่อเหล็กเหนียว เส้นผ่านศูนย์กลาง 1,200 มม. ในถนนพหลโยธินทั้งฝั่งขาเข้าและฝั่งขาออก เพื่อรับน้ำจากซอยเสนานิคมและหน้าตลาดอมรพันธ์ไปลงคลองลาดพร้าว
ส่วนในถนนประเสริฐมนูกิจฝั่งขาออก เป็นการดันท่อระบายน้ำค.ส.ล. เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.50 ม. และ 1.80 ม. ซึ่งการดันท่อจะก่อสร้างบ่อดัน 11 บ่อ บ่อรับ 3 บ่อ พร้อมทั้งก่อสร้างบ่อสูบน้ำบริเวณริมคลองลาดพร้าว กำลังสูบ 4.50 ลบ.ม./วินาที เพื่อสูบน้ำเร่งระบายลงสู่คลองลาดพร้าว ผลงานที่ทำได้ 50% ประกอบด้วย ก่อสร้างท่อระบายน้ำค.ส.ล. เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.80 ม. ได้ความยาว 882 ม. จากความยาว 1,120 ม. ก่อสร้างท่อลอดเหล็กเหนียว เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.20 ม. ได้ความยาว 53 ม. จากความยาว 528 ม. ก่อสร้างท่อเหล็กเหนียว เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.80 ม. ได้ความยาว 200 ม. จากความยาว 206 ม. ก่อสร้างบ่อดันท่อได้ 7 บ่อ จาก 11 บ่อ และก่อสร้างรางระบายน้ำความยาว 20 ม. เมื่อโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (Pipe jacking) ถนนพหลโยธิน บริเวณแยกเกษตรศาสตร์แล้วเสร็จ จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในถนนสายหลัก เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณถนนพหลโยธินและพื้นที่ใกล้เคียง
และจุดสุดท้าย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต เนื่องจากถนนวิภาวดีรังสิตเดิมอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกรมทางหลวง ต่อมาเมื่อปี 2542 กรมทางหลวงได้มอบให้กรุงเทพมหานครดูแลรับผิดชอบระบบระบายน้ำบริเวณคูน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตทั้ง 2 ฝั่ง
ทั้งนี้สถานีสูบน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตได้เปิดใช้งานมาเป็นระยะเวลายาวนาน อัตรากำลังสูบน้ำที่มีอยู่เดิม 59 ลบ.ม./วินาที ไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สำนักการระบายน้ำจึงดำเนินโครงการปรับปรุงสถานีสูบน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิต จำนวน 15 สถานี โดยปรับปรุงเพิ่มอัตรากำลังสูบน้ำเป็น 81 ลบ.ม./วินาที สำหรับสถานีสูบน้ำที่อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุง 3 สถานี ได้แก่ สถานีสูบน้ำคลองบางซื่อขาออกฝั่งเหนือ ผลงานที่ทำได้ร้อยละ 30 สถานีสูบน้ำคลองบางซื่อขาเข้าฝั่งเหนือ ผลงานที่ทำได้ร้อยละ 40 และสถานีสูบน้ำคลองวัดหลักสี่ขาเข้า ผลงานที่ทำได้ร้อยละ 26
ทั้งนี้ในระหว่างที่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราว เพื่อระบายน้ำจากถนนวิภาวดีรังสิตและคูน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตลงสู่คลองในพื้นที่ เมื่อโครงการปรับปรุงสถานีสูบน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตแล้วเสร็จทั้งหมด จะเพิ่มอัตรากำลังสูบน้ำจาก 81 ลบ.ม./วินาที เป็น 110 ลบ.ม./วินาที สามารถเร่งระบายน้ำลงสู่คลองบางซื่อ คลองลาดยาว คลองบางเขน คลองวัดหลักสี่ ระบายออกสู่คลองเปรมประชากร และอีกส่วนหนึ่งระบายออกคลองลาดพร้าว ตลอดจนช่วยดึงน้ำบริเวณคูน้ำตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตทั้งฝั่งขาเข้าและฝั่งขาออกลงสู่ระบบอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5.00 ม. ความยาว 6.40 กม. กำลังสูบ 60 ลบ.ม/วินาที ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพโครงการระบบระบายน้ำทั่วกรุง มั่นใจระบายน้ำท่วมขังได้เร็วกว่าปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีความลาดชันน้อย และมีระดับต่ำกว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้น้ำไม่สามารถไหลตามธรรมชาติลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ กรุงเทพมหานครจึงได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ เช่น การก่อสร้างบ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) บริเวณวงเวียนบางเขน โครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (Pipe Jacking) บริเวณถนนทรงสวัสดิ์ ถนนเยาวราช และถนนเจริญกรุง ซึ่งทั้ง 2 โครงการดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งติดตามสถานการณ์ฝนในพื้นที่จุดเสี่ยงน้ำท่วม 14 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม 56 จุด
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเตรียมเข้าพื้นที่ก่อนที่ฝนจะตก ขณะฝนตก และหลังฝนหยุดตก ซึ่งสำนักการระบายน้ำมีศูนย์เรดาร์ตรวจอากาศอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เรดาร์ตรวจอากาศหนองแขม ศูนย์เรดาร์ตรวจอากาศหนองบอน และศูนย์เรดาร์ตรวจอากาศหนองจอก ซึ่งศูนย์เรดาร์ดังกล่าวจะทำการตรวจจับกลุ่มเมฆฝน โดยจะทราบล่วงหน้าก่อนที่กลุ่มเมฆฝนจะเข้าพื้นที่ประมาณ 3 ชั่วโมง จากนั้นสำนักการระบายน้ำจะแจ้งเตือนผ่านระบบต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เข้าพื้นที่เตรียมความพร้อมล่วงหน้าก่อนที่ฝนจะตก รวมถึงการลดระดับน้ำในคลองให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อเตรียมรองรับปริมาณฝนที่ตกลงมา
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำแล้วเสร็จหลายโครงการ หากฝนตกลงมาในปริมาณมากเกินกว่า 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง กรุงเทพมหานครจะใช้ระยะเวลาในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้เร็วกว่าปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับปริมาณฝนที่เท่ากัน