ไม่พบผลการค้นหา
กทม. พร้อมรับมือน้ำเหนือ ลุยเสริมกระสอบทรายคันกั้นน้ำ สูงกว่าระดับน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ฝากเตือนให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เฝ้าระวังในช่วงที่จะมีน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเหนือไหลเข้ามา

วันนี้ (24 ส.ค.2567) นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายศุภมิตร ลายทอง รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ และนายนิพนธ์ ศรีเรือง ผู้อำนวยการกองระบบคลอง สำนักการระบายน้ำ ติดตามความพร้อมในการเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำเหนือไหลหลาก โดยล่องเรือจากท่าเรือใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ข้ามไปยังวัดระฆังโฆสิตาราม  ล่องไปทางเหนือสุดเขต กทม. พื้นที่เขตบางพลัด ซึ่งมีแนวเขื่อนบริเวณวัดวิมุตยารามที่กรุงเทพมหานครดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว และล่องกลับมาจบในพื้นที่เขตสัมพันธวงศ์  

“จริงๆ แล้วไม่อยากให้พี่น้องประชาชนเป็นกังวลจนเกินไป เพราะว่ากรุงเทพมหานครได้มีการติดตามใกล้ชิดตลอดเวลาว่าน้ำเหนือที่จะไหลเข้ามาผ่านแต่ละจุดเป็นอย่างไร เราจะมีการแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า ซึ่งวันนี้ระดับน้ำที่จุดบางไทร จ.อยุธยา ยังอยู่ไม่ระดับที่ไม่น่ากังวล แต่เราก็ไม่ประมาทโดยเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงต่างๆ เป็นอย่างไร ซึ่งน้ำจากน่านที่จะไหลเข้ามาถึง กทม.จะใช้เวลาประมาณ 6 วัน จะทำให้พอรู้ล่วงหน้าอย่างน้อย 2 วัน น้ำจากบางไทรจะมาถึงกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังได้ใช้กระสอบทรายเสริมคันกั้นน้ำให้สูงขึ้นจากแนวเดิมโดยใช้ฐานจากปี 54 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่  ส่วนจุดที่มีปัญหารั่วซึม หรือเป็นแนวของท่าเรือ จะต้องแก้ปัญหาโดยการใช้กระสอบทรายเสริมกั้นเพื่อไม่ให้น้ำล้นเข้ามา อย่างไรก็ตาม ฝากเตือนให้พี่น้องประชาชาที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เฝ้าระวังในช่วงที่จะมีน้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเหนือไหลเข้ามา และขอให้ติดตามข่าวสารการแจ้งเตือนด้วย” รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าว 

ด้วยปัจจุบันพื้นที่ทางภาคเหนือมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และอาจส่งผลกระทบให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว กรุงเทพมหานครได้มีการติดตามสถานการณ์และประสานข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อยู่เป็นประจำ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครได้ 

สำหรับสถานการณ์น้ำเหนือ วันนี้ (24 สิงหาคม 2567) มีปริมาณน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 499 ลบ.ม./วินาที (เมื่อวาน 450 ลบ.ม./วินาที)  และมีปริมาณน้ำผ่านจุดวัดน้ำบางไทร 707 ลบ.ม./วินาที (เมื่อวาน 576 ลบ.ม./วินาที)  ซึ่งปริมาณน้ำผ่านจุดวัดน้ำบางไทรที่กรุงเทพมหานครต้องเฝ้าระวัง คือ 2,500 ลบ.ม./วินาที ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อวานนี้ ระดับน้ำสูงสุดที่จุดวัดน้ำปากคลองตลาด สูงประมาณ +1.50 ม.รทก. จากอิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูง (ระดับคันกั้นน้ำ +3.00 ม.รทก.) ไม่กระทบต่อแนวพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพมหานคร 

การเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ กรุงเทพมหานครได้ออกคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำนักงานเขตที่มีชุมชนอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำหรือชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ แจ้งเตือนประชาชนให้เฝ้าระวัง และเตรียมการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ดูแลอุปกรณ์ไฟฟ้าและปลั๊กไฟ พร้อมทั้งให้สำนักงานเขตตรวจสอบการเรียงกระสอบทรายให้มีความสูงเพียงพอและมีความแข็งแรงสามารถป้องกันน้ำได้ จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น การจัดทำคันกั้นน้ำชั่วคราวด้วยกระสอบทราย การทำสะพานทางเดินชั่วคราว การให้ความช่วยเหลือประชาชนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ตลอดจนแจกจ่ายยารักษาโรค พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำรับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งน้ำเหนือ และน้ำหนุน 

พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังตามจุดอ่อนหรือจุดเสี่ยงน้ำท่วม รวมทั้งได้จัดเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เพื่อให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างรวดเร็ว เตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชน หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการแก้ไขและช่วยเหลือได้ในทันทีตลอด 24 ชั่วโมง และยังได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและเข้าตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระโขนงในช่วงที่มีระดับน้ำขึ้นสูง ส่วนของแนวป้องกันตนเองบางแห่งที่มีระดับคันกั้นน้ำต่ำและไม่มีความมั่นคงแข็งแรง หรือแนวฟันหลอ กรุงเทพมหานครได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการเรียงกระสอบทรายเพื่อเสริมความสูงของแนวคันกั้นน้ำและเสริมความมั่งคงแข็งแรงเพื่อให้สามารถป้องกันน้ำท่วมได้อย่างปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง โดยได้เรียงแนวกระสอบทรายแล้วเสร็จ มีความสูงตั้งแต่ +2.40 ถึง + 2.70 ม.รทก.  พร้อมทั้งตรวจสอบเตรียมความพร้อมของสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรณีที่มีน้ำรั่วเข้ามาจากแม่น้ำเจ้าพระยาจะใช้สถานีสูบน้ำในคลองตามแนวริมแม่น้ำสูบเร่งระบายออก 

นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการตรวจสอบความสมบูรณ์ของแนวคันกั้นน้ำพระราชดำริด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันแนวคันกั้นน้ำพระราชดำริมีความสมบูรณ์ ประตูระบายน้ำสามารถใช้การได้ทุกแห่ง 

ทั้งนี้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถติดตามสถานการณ์น้ำ รวมถึงช่องทางการแจ้งเหตุเดือดร้อนและขอรับความช่วยเหลือจาก กทม.ได้ ที่ http://dds.bangkok.go.th/ ,www.prbangkok.com , Facebook:@BKK.BEST, สำนักงานประชาสัมพันธ์ Twitter:@BKK_BEST, สำนักงานประชาสัมพันธ์ และแจ้งเหตุน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ โทร. 1555 หรือศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำ โทร. 0 2248 5115 หรือแจ้งผ่านระบบทราฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue)

5012847.jpg5012845.jpg