ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมสถานการณ์อุทกภัยและฟื้นฟูเกษตรกรหลังน้ำลด ปี 2567 โดยมี นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมธารทิพย์ 01 อาคาร 99 ปี ม.ล.ชูชาติ กำภู กรมชลประทาน สามเสน โดยที่ประชุมได้มีการรายงานปริมาณฝนสะสมปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 29 ส.ค. 67 จำนวน 981.4 มม. ต่ำกว่าค่าปกติ -33.1 มม. คิดเป็น -3% และปริมาณฝนสะสมช่วงฤดูฝนปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. – 29 ส.ค. 67 มีปริมาณฝน 800.1 มม. สูงกว่าค่าปกติ 91.9 มม. คิดเป็น 13% รวมถึงปริมาณน้ำเก็บกักอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ทั่วประเทศ 470 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ย. 67) มีปริมาณน้ำ 47,805 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 63% สามารถรับน้ำได้อีก 28,532 ล้าน ลบ.ม. และปริมาณน้ำคาดการณ์ 1 พ.ย. 67 คาดว่าจะมีน้ำเก็บกัก 59,355 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 84%
นอกจากนี้ ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สรุปสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 - ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.ย. 67) โดยปัจจุบันสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 23 จังหวัด และยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยอีก 16 จังหวัด 64 อำเภอ แบ่งเป็น ด้านพืช มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ ทั้งข้าว พืชไร่พืชผัก และไม้ผลไม้ยืนต้น รวม 758,376.80 ไร่ เกษตรกร 121,708 ราย ด้านประมง พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ ทั้งบ่อปลา บ่อกุ้ง รวม 10,514.25 ไร่ กระชัง 80,806.50 ตารางเมตร เกษตรกร 13,107 ราย ด้านปศุสัตว์ จำนวนสัตว์ได้รับผลกระทบ ทั้งโค กระบือ สุกร แพะ/แกะ และสัตว์ปีก รวม 3,290,033 ตัว แปลงหญ้า 2,476.55 ไร่ เกษตรกร 54,026 ราย
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เข้าให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า ทั้งในเรื่องการสนับสนุนอาหารกล่องพร้อมน้ำดื่มให้แก่ผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ตั้งแต่วันที่ 23 – 30 ส.ค. 67 รวม 17,490 ชุด และช่วยเหลือเครื่องมือเครื่องจักรแล้ว 646 หน่วย แบ่งเป็น เครื่องสูบน้ำ 533 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 50 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 7 คัน เครื่องจักรอื่น ๆ 56 หน่วย รวมถึงอพยพสัตว์ 230,305 ตัว รักษาสัตว์ 7,082 ตัว ส่งเสริมสุขภาพสัตว์ 11,641 ซอง ถุงยังชีพสัตว์ 45 ถุง หญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน 100,565 กิโลกรัม รวมถึงจัดชุดเฉพาะกิจพร้อมเจ้าหน้าที่ รถยนต์ เรือตรวจการประมง ช่วยนำส่งเสบียงอาหารและน้ำดื่ม และซ้อมเครื่องยนต์ เครื่องจักรการเกษตร ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยด้วย
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเร่งหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรโดยบูรณาการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน และมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหาย ทั้งด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ เพื่อประกาศเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติ พร้อมเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบต่อไป