ไม่พบผลการค้นหา
สภาพัฒน์ เผย หลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ ดันหนี้ครัวเรือนปี 2561 พุ่งสูง เริ่มพบสัญญาณความสามารถในการชำระหนี้ต่ำลง

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยปี 2561 พบว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไตรมาส 3/2561 มีมูลค่า เท่ากับ 12.56 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 77.8 ต่อจีดีพี

ขณะที่ ในไตรมาส 4/2561 หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พิจารณาจากยอดคงค้างสินเชื่อรวมเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวร้อยละ 9.4 สูงสุดตั้งแต่ปี 2547 โดยเป็นการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ และสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ

โดยส่วนสำคัญเป็นผลมาจากการเร่งก่อหนี้ใหม่ ในช่วงก่อนปรับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ที่จะมีผลวันที่ 1 เม.ย. 2562 นี้

หากดูความสามารถในการชำระหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคเริ่มส่งสัญญาณที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยยอดหนี้คงค้างเอ็นพีแอล เพื่ออุปโภคและบริโภค ไตรมาส 4/2561 มีมูลค่า 120,213 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9, สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับมีมูลค่า 9,752 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 ขณะที่ยอดสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิตมีมูลค่า 7,583 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3

นายทศพร ยืนยันว่า หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ไม่ได้เพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือ มีนัยสำคัญ เนื่องจากเทียบสัดส่วนต่อจีดีพียังมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือนต่อไป

ด้านสถานการณ์การจ้างงาน ปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรเป็นผลจากเศรษฐกิจขยายตัว มีผู้มีงานทำจำนวน 37.86 ล้านคน จากกำลังแรงงาน 38.38 ล้านคน ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.1 หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน 400,000 คน ลดลงจาก 460,000 คนในปี 2560 โดยลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานและที่ไม่เคยทำงาน และเมื่อพิจารณาการว่างงานตามระดับการศึกษา พบว่า ผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษายังคงมีอัตราว่างงานสูงกว่าระดับการศึกษาอื่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง