นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 4/2562 สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยมีมูลค่า 13.47 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5 โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 79.8 สูงสุดในรอบ 14 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/2559 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องและเร็วกว่าการชะลอตัวของหนี้สินครัวเรือน
ขณะที่มียอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เพื่อการอุปโภคบริโภค ในระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 1/2563 มูลค่า 156,227 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.23 ต่อสินเชื่อรวม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.90 ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากความสามารถในการชำระหนี้ของสินเชื่อทุกประเภทด้อยลง โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล
โดยแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2563 สศช. ประเมินว่า มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งยอมรับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง แม้ว่าหนี้บ้านและหนี้รถยนต์จะชะลอตัวลงจากความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจที่ลดลง แต่พบว่าหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากประชาชนก่อหนี้เพื่อชดเชยรายได้ที่ลดลงจากวิกฤตและแก้ไขปัญหาสภาพคล่องและผลกระทบทางด้านรายได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลพยายามได้ดำเนินการช่วยเหลือหลายด้าน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และภาคการเกษตร แต่มาตรการต่างๆ ยังคงเป็นมาตรการระยะสั้นและมุ่งบรรเทาความเดือดร้อนเท่านั้น ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งแผนการดำเนินงานและมาตรการต่างๆ ที่มุ่งเน้นช่วยเหลือฟื้นฟูและยกระดับรายได้ครัวเรือนอย่างชัดเจนเพื่อให้สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินของแต่ละครัวเรือน รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ให้สามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่ครัวเรือนเพื่อชดเชยรูปแบบหนี้ที่เน้นการอุปโภคบริโภคด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :