นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 1/2563 พบว่า สถานการณ์เด็กและเยาวชนต้องออกจากระบบการศึกษากลางคันเพิ่มขึ้น ซึ่งเด็กที่หลุดออกจากการศึกษาเพิ่มเติมเพิ่มขึ้นตามระดับการศึกษาที่สูงขึ้น
โดยนักเรียนที่เข้าศึกษาในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ในระหว่างปีการศึกษา 2546-2548 มีนักเรียนกว่าร้อยละ 20 ไม่จบการศึกษาภาคบังคับ หรือ มัธยมศึกษาตอนต้น และมีนักเรียนกว่าร้อยละ 31 หลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. และร้อยละ 38 หลุดออกจากการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยสาเหตุสำคัญคือความยากจนทำให้กลุ่มเด็กและเยาวชนไทยหลุดออกนอกระบบมากกว่า 6.7 แสนคน
นอกจากนี้ ปัญหาการหลุดออกนอกระบบการศึกษายังสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเมื่อเทียบกลุ่มเด็กและเยาวชนกลุ่มครอบครัวที่รวยที่สุด ได้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. ร้อยละ 80.3 และได้เรียนต่อในระดับปวส./อุดมศึกษา ร้อยละ 63.1 ขณะที่กลุ่มเด็กและเยาวชนครอบครัวที่จนที่สุด ได้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. ร้อยละ 40.5 และได้เรียนต่อในระดับ ปวส./อุดมศึกษาเพียงร้อยละ 4.2 เท่านั้น
ทั้งนี้ สัดส่วนของคนยากจนของไทย หรือมีรายได้น้อยกว่า 2,700 บาทต่อเดือน ในปี 2561 พบว่าอยู่ที่สัดส่วนร้อยละ 9.85 ของจำนวนประชากร หรือ ประมาณ 6.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 7.87 ในปี 2560
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :