ไม่พบผลการค้นหา
นักกฎหมายย้ำพ้น ก.ย.59 นำพลเรือนขึ้นศาลทหารไม่ได้ ไอลอว์เปิดสภาพร้อมชง พ.ร.บ.ปลดอาวุธ คสช. "ปริญญา" ชี้ หลัง 9 พ.ค.ระทึก กกต.เคาะสูตรปาร์ตี้ลิสต์ ย้ำ ต่ำ 7.1 หมื่นเสียงไร้ ส.ส. ยึดยอดพึงมี

ที่คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มูลนิธิศ.ดร.หยุด แสงอุทัย และศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญวิทยา จัดเสวนาเรื่อง "วิพากษ์มรดกกฎหมายอาญายุค คสช." โดยมี นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นายปกป้อง ศรีสนิท นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชน (ไอลอว์) ร่วมเสวนา 

นายยิ่งชีพ กล่าวว่า ต้องทำงานความรู้เกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ. ที่ สนช.พิจารณากว่า 444 ฉบับ ประกาศและคำสั่งคสช.อีก 537 ฉบับ ฉบับไหนมีประโยชน์คงไว้ ฉบับไหนสร้างผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนก็แก้ไขยกเลิก เช่น พ.ร.บ.ชุมนุม ที่ถูกนำมาใช้ปิดกั้นการแสดงออก จับประชาชนเป็นร้อยคน ถือเป็นงานใหญ่ที่ต้องจัดการ ตามการรณรงค์ล่าชื่อ 10,000 รายชื่อปลดอาวุธคสช. ที่ไม่ได้หมายถึงปืน แต่คือกฎหมาย ประกาศและคำสั่ง ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 279 รองรับไว้ ซึ่งต้องใช้การออก พ.ร.บ.ที่ประชาชนผลักดันเมื่อเปิดสภาที่มาจากการเลือกตั้งมายกเลิก ตามมาตรา 133 ของรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นมีทั้งสิ้น 35 ฉบับที่ต้องจัดการ มิเช่นนั้นประกาศคำสั่งเหล่านี้ จะมีอายุยืนยาวตลอดไป 

นายปกป้อง กล่าวว่า กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง เมื่อมีสภาก็ต้องดำเนินการแก้ไขสิ่งไม่ถูกต้อง ด้วยวิธีที่ถูกต้องตามระบบ เพราะหากแก้ไขสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง จะสร้างปัญหาตามมาอีก จึงต้องใช้กลไกรัฐสภาตามหลักสากลในการแก้ไข ในเรื่องการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารก็เช่นเดียวกัน ต้องตีความตาม ป.วิอาญา ที่การจะบังคับใช้กฎหมายต้องทำทันที ส่วนตามป.อาญานั้น จะมีผลร้ายย้อนหลังไม่ได้ ซึ่งในเดือนก.ย.59 ได้มีประกาศ คสช.ออกมาแล้วว่า พลเรือนไม่ต้องขึ้นศาลทหารแล้ว ให้คดีทั้งหมดมาที่พลเรือน ดังนั้นต่อให้คดีที่เกิดก่อนเดือน ก.ย. 59 ต้องมาที่ศาลพลเรือนตามหลักทั่วไป 

นายปริญญา กล่าวว่า เรื่องที่ต้องทำจริงจังทันที คือการยกเลิกไม่ให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร การตีความคดีที่เกิดขึ้นก่อนเดือนก.ย.59 พลเรือนยังต้องขึ้นศาลทหารนั้น ถือว่า ไม่เข้าท่า ขัดต่อรัฐธรรมนนูญ ที่สังคมไทยควรกลับคืนสู่ความปกติตั้งแต่บังคับใช้เมื่อเดือน เม.ย. 60 แล้ว การแก้ไขต้องรอที่มาสภาจากการเลือกตั้ง แต่หากเป็นนายกฯ คนเดิมก็คงยาก แต่ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน

ตนอยากให้ทุกพรรคการเมืองพาความเชื่อมั่นระบบรัฐสภากลับคืนมา ส่วนการเมืองตอนนี้ถือเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อและแปลกประหลาดที่สุดว่าเลือกตั้งจบไปแล้วหนึ่งเดือน แต่ยังไม่รู้ว่าใครจะได้เป็นส.ส. การเมืองหลังจากวันที่ 9 พ.ค. จะเดินหน้าไปทางไหน ก็คงขึ้นกับกกต. การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับเผือกร้อน ตีความสูตรคิดส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์นั้นถูกต้องแล้ว เพราะตามมาตรา 210 (2) ศาลจะรับตีความได้ก็ต่อเมื่อ ต้องมีข้อขัดแย้งมีผู้ร้องผู้ถูกร้องก่อนจะมาถ฿งศาลได้ 

 "สำหรับการคิดสูตรส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์นั้น ไม่ยากเพียง นำส.ส.พึงมี - ส.ส.เขต = ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองที่มีคะแนนต่ำกว่า 7.1 หมื่น แล้วจะได้ส.ส.จึงไม่มีเหตุผลเลย ปัญหาอยู่ที่ ม.128 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ท่อนหนึ่งคือ ใช้คำว่า ส.ส.พึงมีเบื้องต้น ต่างจากในมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญที่พูดถึงแต่ส.ส.พึงมี แต่ไม่มีเบื้องต้น จึงอาจทำให้เหมือนสูตรคิดจะเปลี่ยนได้อีก โดยภาพรวมนั้นทั้งกฎหมายลูกและรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาสอดคล้องกัน คือ เมื่อคิดส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แล้วพรรคการเมืองจะได้ส.ส.เกินจำนวน ส.ส.พึงมีไม่ได้" นายปริญญากล่าว