Human rights Watch ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ EnLAW, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และองค์กรภาคีด้านสิทธิมนุษยชน จัดเวทีสะท้อนปัญหาการตีความบังคับใช้กฎหมายการชุมนุมสาธารณะกับการจำกัดเสรีภาพประชาชน โดยมีผู้แทนจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, ผู้แทนสำนักงานรัฐสภาและผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติและตำรวจในพื้นที่มาร่วมฟังการเสวนาด้วย
นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นำเสนอข้อมูลการศึกษารวบรวมปัญหาการตีความบังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ระบุว่า ช่วงที่ สนช.ผ่านร่างกฎหมายนี้ อยู่ใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว และมีคำสั่ง คสช. 3/2558 ห้ามชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปบังคับใช้อยู่ด้วย ซึ่งภาครัฐพยายามผลักดันมาร่วม 10 ปี เพิ่งสำเร็จในยุครัฐบาล คสช.
โดยสถิติตลอด 3 ปีที่บังคับใช้มีอย่างน้อย 218 คน ถูกดำเนินคดี โดยความผิดฐานไม่แจ้งการชุมนุมมากที่สุด 99 คน, รองลงมาคือชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน 52 คน มี 2 คดีที่เจ้าหน้าที่ละเมิดไม่ปฏิบัติตาม พ.ร บ.นี้ คือ กรณีกิจกรรมเดินมิตรภาพ หรือ We Walk ซึ่งศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราวและคดีในศาลปกครองของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง
นอกจากนี้ยังมีกรณีใช้บังคับกับการจัดกิจกรรมทางการเมือง ที่เป็นการชุมนุมขนาดเล็ก หรือ ไม่ถึง 5 คน อย่างคดียืนเฉยๆ ของนายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รับโทษปรับ จากนั้นมีการนำเสนอประสบการณ์และสะท้อนปัญหาจากปะชาชนผู้ใช้เสรีภาพการชุมนุม
โดยนางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จังหวัดเลย ที่ได้รับผลกระทบและคัดค้านการทำเหมืองทอง กล่าวว่า หลายครั้งที่ชาวบ้านรวมตัวกัน จะถูกหมายเรียกจากตำรวจและต้องเสียค่าปรับ รวมถึงมีการฟ้องศาล ข้อหาผิด พ.ร.บ.การชุมนุม กับชาวบ้าน 7 คน ซึ่งศาลยกฟ้องและเจ้าหน้าที่กำลังยื่นอุทธรณ์ ขณะที่ อบต.ผู้ปกครองท้องถิ่นพยายามต่ออายุให้เอกชนใช้พื้นที่ป่าอย่างเดียว ไม่รับฟังปัญหาที่ชาวบ้านนำเสนอ
ตัวแทนกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ยืนยันว่าชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปกป้องทรัพยากรของชุมชน ทั้งที่ภาครัฐควรสนับสนุนชาวบ้านที่ช่วยปกป้องผลประโยชน์ของชาติ
นายกรกช แสงเย็นพันธ์ จากกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ระบุว่า พ.ร.บ.การชุมนุม กับ คำสั่ง คสช.ที่ 3 / 2558 มีความย้อนแย้งและทับซ้อนกัน โดยเฉพาะไม่มีความชัดเจนในนิยาม การชุมนุม บางกรณีใช้อำนาจตามคำสั่ง คสช.แต่บางกรณีใช้ พ.ร.บ.ชุมนุม หรืออาจใช้ทั้ง 2 ส่วนร่วมกับ พ.ร.บ.จราจร อีกด้วย
นายกรกช มองว่า ควรยกเลิกทั้ง พ.ร.บ.การชุมนุมและคำสั่ง คสช.ที่มีที่มาโดยมิชอบและล้วนขัดกับรัฐธรรมนูญ และควรให้รัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง พิจารณาหรือออกกฎหมายชุมนุมใหม่อีกครั้ง
นายเอกชัย อิสระทะ จากเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชน เขาคูหา จังหวัดสงขลา ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการจัดกิจกรรมเทใจให้เทพาและกิจกรรม We Walk ด้วย ระบุว่า หลายกิจกรรมในการคัดค้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา หรือ โรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ ชาวบ้านไม่ได้คิดว่าเป็นการชุมนุม เพราะเพียงการไปยื่นหนังสือต่อผู้เกี่ยวข้องหรือร่วมเวทีรับฟังความเห็นเท่านั้น แต่ฝ่ายสนับสนุนโครงการไม่เคยถูกดำเนินคดี ขณะที่การเป็นผู้แจ้งการชุมนุมก็สุ่มเสี่ยงจะโดนคดีด้วย และในทางปฏิบัติเป็นการขออนุญาต ทั้งๆที่ควรเป็นการแจ้งเพื่อทราบเท่านั้น
นักวิชาชี้ 'กระบวนยุติธรรม' ต้องสังคยานา
ด้านรองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การชุมนุมเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแสดงออก ที่จะดึงให้ผู้มีอำนาจลงมาถกเถียงและรับฟังปัญหาด้วยเหตุและผลขณะที่เนื้อแท้ของ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ สร้างมาเพื่อข่มขู่คุกคามและสร้างความกลัว กับเตะถ่วงฉุดยื้อเพื่อสร้างภาระอันหนักหน่วงให้กับประชาชน โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งทั้งตัวบทและการบังคับใช้ ถูกออกแบบมาให้คลุมเครืออย่างจงใจและเมื่อกฎหมายใดคลุมเครือ อำนาจจะไปอยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงสถาบันและกลไกในกระบวนการยุติธรรมทั้งมวล
รศ.สมชาย กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายไทยอยู่ใต้อำนาจและใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง ทั้งยังสะท้อนถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหา ไม่อิสระและเป็นธรรมอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้นการดำเนินคดีจำนวนมาก จึงเป็นการเปลือยกระบวนการยุติธรรมได้อย่างถึงไส้ โดยหวังว่าหากไทยก้าวพ้นเงาระบบอำนาจนิยมไปได้ ต้องปฏิสังขรณ์หรือสร้างกระบวนการยุติธรรมขึ้นใหม่จากซากปรักหักพัง ลำพังการปฏิรูปนั้นไม่เพียงพอ
ขณะที่นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความประจำ EnLAW กล่าวว่า การนิยามการชุมนุมไม่ชัดเจนและกว้างขวางเกินไป ที่สำคัญกฎหมายนี้ไม่ผ่านการระดมความเห็นอย่างทั่วถึง เพราะออกมาในยุครัฐบาลทหาร เจ้าหน้าที่จะใช้เป็นเครื่องมือสะกัดกั้นและกดทับการแสดงออกของชาวบ้าน
ดังนั้น พ.ร.บ.นี้ จึงควบคุมและสร้างความหวาดกลัวให้ชาวบ้านมากกว่าอำนวยความสะดวก ทำให้การใช้เสรีภาพต้องมาคู่กับการได้รับโทษทางอาญาได้อย่างไม่น่าเชื่อ ที่สำคัญยังขาดหลักเกณฑ์การใช้อำนาจและตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครองของตำรวจ ปล่อยให้ใช้ดุลพินิจแล้วแต่กรณีไป และหากไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ใช้ คำสั่ง คสช.ที่ิ 3/2558 ได้อีกต่างหาก โดยเสนอให้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งอาจใช้วิธีประชาชนอาจเข้าชื่อ 1 หมื่นรายชื่อเพื่อยกเลิก ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 133
นอกจากนี้ต้องศึกษาวิจัยการบังคับใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ เพื่อยกเลิกหรือแก้ไขโดยรับฟังความเห้นของประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 โดยใช้สิทธิผ่านกระบวนการศาล เพื่อตีความการใช้อำนาจ รวมถึงร่างกฎหมายใหม่โดยรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และใช้เครือข่ายสังคมและภาคประชาชนผลักดันการแก้ไข เสรีภาพ
ทั้งนี้มีการประกาศแถลงการณ์ร่วมเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรสิทธิมนุษยชน 52 เครือข่ายและ 33 บุคคลเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.บ.การชุมนุม และทบทวนยกเลิก คำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 และยังมีการเปิดตัวคู่มือการใช้เสรีภาพการชุมนุม ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ
โดยนายอัมรินทร์ สายจันทร์ เจ้าหน้าที่ EnLAW ยืนยันว่า คู่มือนี้จะทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐเข้าใจหลักเกณฑ์, เงื่อนไขการบังคับใช้และเนื้อหา พ.ร.บ.ฉบับย่อ รวมถึงข้อสังเกตจากการถอดบทเรียนการช่วยเหลือทางกฎหมายที่ผ่านมาตลอด 3 ปีตั้งแต่่ปี 2558 ที่กฎหมายบังคับใช้ โดยจะมีทั้งข้อควรปฏิบัติต่างๆ คำสั่งข้อวินิจฉัยของศาลเกี่ยวกับการชุมนุม ซึ่งจากนี้จะเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตและส่งเป็นรูปเล่มให้ผู้สนใจที่ร้องขอมาด้วย