ไม่พบผลการค้นหา
คลังเตรียมแผนผลักดันเม็ดเงินเข้าระบบตามข้อกำชับนายกรัฐมนตรี ใช้จ่ายงบดูแลเศรษฐกิจตามกฎหมายให้ทำได้ ไม่กระทบเงินสวัสดิการดูแลกลุ่มเปราะบาง

วันที่ 16 ก.ค. 2566 ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องด้วยขณะนี้อยู่ในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล และหลายฝ่ายโดยเฉพาะภาคธุรกิจได้แสดงความกังวลว่าจะเกิดความล่าช้าในการบังคับใช้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

ต่อข้อกังวลดังกล่าวกระทรวงการคลังได้เตรียมแผนการดูแลเศรษฐกิจไว้แล้ว ซึ่งเป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่วมกันขับเคลื่อนงานตามภารกิจแม้จะเป็นช่วงรัฐบาลรักษาการ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจต้องรักษาความต่อเนื่องของการฟื้นตัว ทางด้านงบประมาณก็ให้ใช้จ่ายให้เป็นไปตามที่กฎหมายให้ทำได้ และไม่กระทบต่อสวัสดิการของประชาชนกลุ่มเปราะบาง

ไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมแผนงาน 3 ส่วน ที่จะขับเคลื่อนให้มีเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจในช่วงรอยต่อรัฐบาล ประกอบด้วย ส่วนที่1 การใช้จ่ายงบประมาณในส่วนรายจ่ายประจำ และปรับรายการที่เบิกจ่ายได้เร็วจากเดิมที่เบิกจ่ายในช่วงท้ายปีงบประมาณให้มาเบิกจ่ายในช่วงต้นปีงบประมาณ เช่น งบอบรม สัมมนา

โดยในส่วนงบรายจ่ายประจำนี้ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2562 เปิดทางให้สามารถใช้จ่ายได้ กล่าวคือ หากปีใดเกิดกรณี พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายล่าช้าก็สามารถใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปีก่อนหน้า(ในกรณีนี้คือใช้พ.ร.บ.งบประมาณปี66) ไปพลางก่อนได้ ซึ่งการสามารถใช้จ่ายงบรายจ่ายประจำได้นี้จะรวมถึงงบสวัสดิการต่างๆ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ด้วย 

“กระทรวงการคลังย้ำว่า ถึงแม้เกิดกรณี พ.ร.บ.งบประมาณ 67 ล่าช้า ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการจ่ายเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เนื่องจากเป็นงบรายจ่ายประจำและมีเงินกองทุนสวัสดิการแห่งรัฐอยู่แล้ว ส่วนที่จะชะลอไว้รอรัฐบาลใหม่จะมีเพียงส่วนของงบลงทุนใหม่เท่านั้น” ไตรศุลี กล่าว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนที่ 2 ที่กระทรวงการคลังเตรียมไว้คือ การเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจประมาณ 50 แห่งเร่งเบิกจ่ายเพื่อการลงทุน จากงบลงทุนของทุกแห่งรวมกันประมาณ 5 แสนล้านบาท คาดว่าจะมีส่วนที่สามารถขยับการลงทุนให้เร็วขึ้นและเบิกจ่ายได้ก่อน (Front Load) ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

ส่วนที่3 ให้สถาบันการเงินของรัฐเร่งรัดการปล่อยสินเชื่อตามโครงการที่เคยได้รับอนุมัติให้ดำเนินการไปแล้ว ซึ่งยังเหลือวงเงินประมาณ 70,000 ล้านบาท

ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับว่าทุกหน่วยงานต้องขับเคลื่อนภารกิจไม่มีหยุดหรือใครเกียร์ว่าง เพราะประเทศต้องได้หยุดเดิน ทั้งรัฐบาลรักษาการและส่วนราชการต้องร่วมกันส่งต่องานไปยังรัฐบาลหน้าอย่างไร้รอยต่อ ซึ่งแผนงานที่กระทรวงการคลังเตรียมไว้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความต่อเนื่องดังกล่าว ที่จะสร้างทั้งเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และลดผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้

สำหรับงบประมาณปี 67 ที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม. ไปแล้วและรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาดำเนินการตามขั้นตอนการงบประมาณ มีวงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 2.49 ล้านล้านบาท รายจ่ายลงทุน 7.17 แสนล้านบาท รายจ่ายชำระคืนเงินกู้ 1.17 แสนล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 3.37 หมื่นล้านบาท