ตลอดจนขอรับบริจาคจากประชาชนเพื่อช่วยซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่ไม่ยอมโยกงบประมาณปี 2563 ในส่วนที่ไม่มีความจำเป็น โดยเฉพาะการจัดอาวุธยุทโธปกรณ์มาใช้จ่ายด้านการสาธารณสุขแทนนั้น
ล่าสุดสำนักงบประมาณได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ขอความเห็นชอบจาก ครม.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตั้งวงเงินภาพรวมไว้ทั้งหมด 3.3 ล้านล้านบาท
โดยมีเนื้อหาบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญ ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ พ.ศ. 2564 มีสาระสำคัญตั้งแต่การประเมินภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.1 - 4.1 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ และปริมาณการค้าโลก การลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของการลงทุน และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้อย่างต่อเนื่อง มีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำ สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2564 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี
นโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายฯ พ.ศ. 2564 รัฐบาลคำนึงถึงการดำเนินภารกิจขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ฯลฯ ให้ประสบผลสำเร็จ และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัวต่อเนื่อง
ในเอกสารบันทึกวิเคราะห์สรุปฯ จำนวน 9 หน้ากระดาษ ไม่มีการบรรยายถึงสถานการณ์ในตอนต้นปี 2563 ที่สังคมไทยต้องเผชิญช่วงเวลาแห่งการยากลำบากของวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
ไม่มีใจความสำคัญถึงการฟื้นฟูสังคมไทยที่ยังไม่ทราบชะตากรรมว่าเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2563 จะเป็นเช่นไร เนื้อหาส่วนยังเต็มไปด้วยคำสวยหรูระบุว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นเหมือนที่เคยระบุไว้ในปีที่ผ่านๆ มา
(เอกสารภาพรวมเศรษฐกิไทยปี 64 ของสำนักงบประมาณ)
งบประมาณ พ.ศ. 2564 กำหนดวงเงินงบประมาณ จำนวน 3.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 1 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เพื่อให้หน่วยงานมีงบประมาณในการขับเคลื่อนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ
รวมทั้งรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยประมาณการรายได้สุทธิ 2.67 ล้านล้านบาท กำหนดวงเงินชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 6.23 แสนล้านบาท โดยโครงสร้างงบประมาณแบ่งออกเป็น
1) รายจ่ายประจำ จำนวน 2.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.9 ของวงเงินงบประมาณ
2) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ปีงบประมาณ 2564 ไม่มีรายการที่นำเสนอ โดยปีก่อนหน้าตั้งไว้ 6.2 หมื่นล้านบาท
3) รายจ่ายลงกำหนดไว้เป็นจำนวน 6.96 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 5.1 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.1 ของวงเงินทั้งหมด
4) รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ได้จัดสรรไว้เป็นจำนวน 9.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบปีก่อนหน้าจำนวน 9.8 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3 ของวงเงินงบประมาณ
เมื่อจำแนกรายกระทรวง จะมีกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุด 5 อันดับดังนี้
กระทรวงศึกษาธิการ วงเงิน 3.61 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.9 ลดลงจากปี 2563 จำนวน 6.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.8
กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 3.29 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 1.53 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.9
กระทรวงการคลัง วงเงิน 2.69 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.2 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 2.01 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.1
กระทรวงกลาโหม วงเงิน 2.31 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7 ลดลงจากปี 2563 จำนวน 168 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.1
กระทรวงคมนาคม วงเงิน 1.95 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.9 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 1.87 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.7
ส่วนงบกลาง วงเงิน 5.74 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.4 เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 5.55 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.7
(โครงสร้างงบประมาณปี 64 - สำนักงบประมาณ)
เมื่อย้อนดูการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลประยุทธ์1 ระยะเวลา 6 ปี ก่อนสืบทอดอำนาจผ่านกลไกในรัฐธรรมนูญ 2560 ต่อรัฐบาลประยุทธ์2 ในปีแรกจะพบว่า พล.อ.ประยุทธ์จัดสรรงบประมาณของประเทศไทยแล้วจำนวน 20 ล้านล้านบาท
ปี 2558 วงเงิน 2.57 ล้านล้านบาท ขาดดุล 2.5 แสนล้าน
ปี 2559 วงเงิน 2.77 ล้านล้านบาท ขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท
ปี 2560 วงเงิน 2.92 ล้านล้านบาท ขาดดุล 5.5 แสนล้านบาท
ปี 2561 วงเงิน 2.94 ล้านล้านบาท ขาดดุล 5.5 แสนล้านบาท
ปี 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท
ปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท
ล่าสุดงบประมาณประจำปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ขาดดุล 6.23 แสนล้านบาท
รวม 7 ปีขาดดุล 3.1 ล้านล้านบาท โดยในปี 2564 ขาดดุลเยอะที่สุด
(แผนงานบูรณาการจัดทำงบประมาณปี 64 - สำนักงบประมาณ)
สำหรับงบประมาณกระทรวงกลาโหมที่สังคมตั้งข้อสังเกตถึงงบประมาณจำนวนมากที่ติดอันดับสูงสุด 1 ใน 5 กระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณนั้น ภายใต้การนำของรัฐบาลสืบทอดอำนาจ 7 ปี มีดังนี้
ปี 2558 จำนวน 1.92 แสนล้านบาท
ปี 2559 จำนวน 2.06 แสนล้านบาท
ปี 2560 จำนวน 2.1 แสนล้านบาท
ปี 2561 จำนวน 1.1 แสนล้านบาท
ปี 2562 จำนวน 2.2 แสนล้านบาท
ปี 2563 จำนวน 2.31 แสนล้านบาท
และปี 2564 จำนวน 2.31 แสนล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จแล้ว 1.4 ล้านล้านบาท
ยังคงเป็นคำถามคาใจประชาชนจำนวนมากว่า งบประมาณมหาศาลนั้นถูกใช้ไปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ หรือตอบสนองภารกิจของกองทัพบกอย่างไร ในเมื่อต้นปี 2563 ที่เกิดเหตุกราดยิงที่ จ.โคราชของจ่าผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากโครงสร้างภายในกองทัพ ที่เกิดการเอารัดเอาเปรียบรีดหัวคิวจากนายทหารชั้นผู้ใหญ่ต่อนายทหารชั้นผู้น้อยจนเป็นต้นตอเหตุสลด หรือภารกิจลับที่ฝ่ายค้านเปิดเผยว่า มีการจัดตั้งกำลังพลไซเบอร์เพื่อปฏิบัติการ IO กับคนในชาติให้เกิดความเกลียดชัง
สุดท้ายงบกลางที่ไว้ใช้สำหรับเหตุฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนซึ่งยากแก่การตรวจสอบก็สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ต่อเนื่องจาก 5 ปี ก่อนหน้า ดังนี้
ปี 2558 วงเงิน 3.7 แสนล้านบาท
ปี 2559 วงเงิน 4.5 แสนล้านบาท
ปี 2560 วงเงิน 4.4 แสนล้านบาท
ปี 2561 วงเงิน 4.2 แสนล้านบาท
ปี 2562 วงเงิน 4.6 แสนล้านบาท
ปี 2563 วงเงิน 5.18 แสนล้านบาท
และปี 2564 วงเงิน 5.74 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ร่างพ.ร.บ.งบประมาณดังกล่าวอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นระหว่างวันที่ 25 มี.ค. - วันที่ 8 เม.ย. 2563 บนเว็บไซต์สำนักงบประมาณ ซึ่งผู้ที่จะแสดงความคิดเห็นจะต้องลงทะเบียนด้วยการใส่ชื่อ-นามสกุลและเลขบัตรประชาชนให้ครบถ้วนก่อนจึงจะแสดงความคิดเห็นได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง