วันที่ 26 ก.ค. 2566 ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้รับทราบสถานการณ์ที่ขณะนี้ได้มีผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มสูงขึ้น โดยทั่วประเทศเฉลี่ยสัปดาห์ละกว่า 5,000 ราย โดยนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยสำหรับพื้นที่ซึ่งมีผู้ป่วยสูงใน 30 อำเภอของ 18 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา ตาก เพชรบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด อุบลราชธานี กระบี่ ภูเก็ต สงขลา สตูล นราธิวาส และกรุงเทพมหานคร ที่พบผู้ป่วยต่อเนื่องนานเกิน 8 สัปดาห์ และมีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกใน 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา มากกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังในช่วงเวลาเดียวกัน และนับว่าเข้าใกล้เกณฑ์ในการประกาศให้เป็นพื้นที่ระบาดไข้เลือดออก
ทั้งนี้ ระยะที่ผ่านมาหน่วยงานภายในของกระทรวงสาธารณสุขประกอบด้วยกรมควบคุมโรค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมการแพทย์ ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่เพื่อสนับสนุนด้านวิชาการและทรัพยากรต่างๆ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย แต่ในพื้นที่ 18 จังหวัด ยังคงมีจำนวนผู้ป่วยสูงเข้าใกล้วิกฤต กระทรวงสาธารณสุขจึงมีการประสานขอความร่วมมือเพิ่มจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เพื่อระดมกำลังในการต่อสู้กับโรคไข้เลือดออกที่เข้มข้นขึ้น
“นายกรัฐมนตรีกำชับให้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย และท้องถิ่นซึ่งมีความใกล้ชิดกับชุมชน ให้ความร่วมมือสนับสนุนภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ อสม. เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตให้เร็วที่สุด ขณะที่โรงเรียน วัด ชุมชน ไปจนถึงหน่วยที่เล็กที่สุดคือบ้าน ครอบครัวขอให้ดูแลบุตรหลาน และร่วมกันขจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายซึ่งเป็นพาหะของไข้เลือดออก” ไตรศุลี กล่าว
ไตรศุลี กล่าวว่า รายงานของกรมควบคุมโรคระบุว่าทั่วประเทศมีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกเฉลี่ยสัปดาห์ละ 5,000 ราย ทำให้ยอดสะสมตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเกือบ 40,000 ราย มีผู้ป่วยเสียชีวิตกว่า 40 ราย โดยอัตราการเพิ่มของผู้ป่วยในขณะนี้ถือว่าใกล้เคียงกับจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการระบาดในปี 2562 ที่พบผู้ป่วยทั้งปีกว่า 70,000 รายและเสียชีวิตกว่า 70 ราย
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกำลังติดตามสถานการณ์ไข้เลือดออกอย่างใกล้ชิด โดยหากผู้ป่วยยังคงเพิ่มขึ้นสูง อาจมีความจำเป็นต้องใช้กฎหมาย โดยอธิบดีกรมควบคุมโรคใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ประกาศสถานที่ที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ตามคำแนะนำของคณะกรรมการด้านวิชาการเพื่อเพิ่มอำนาจแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในการดำเนินการ เช่นเดียวกับการควบคุมและป้องกันโรคติดต่ออันตราย เพิ่มความร่วมมือของประชาชน อสม. เจ้าหน้าที่ภาครัฐทั้ง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ให้สามารถควบคุมโรคให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด