เทรนด์ใหม่ในวงการมังงะญี่ปุ่นตอนนี้ คือ มังงะคนชรา ที่สะท้อนถึงปัญหาสังคมสูงวัย โดยผู้ผลิตหลายรายเห็นว่า เทรนด์นี้จะเป็นที่นิยมอีกหลายปี
เทรนด์ใหม่ในวงการมังงะญี่ปุ่นตอนนี้ ทั้งแบบตีพิมพ์และแบบดิจิทัล คือ การเขียนเรื่องราวที่มีตัวเอกเป็นคนชรา โดยสำนักพิมพ์และนักเขียนอิสระเริ่มหันไปหาข้อมูลจากคนในช่วงอายุ 60 ถึง 80 ปี เพื่อสร้างตัวละครให้ออกมาสมจริงที่สุด ซึ่งกระแสนิยมนี้เกิดจากความรู้สึกร่วมของคนในสังคมที่กลัวชีวิตหลังเกษียณ และอยากจะเข้าใจภาวะเช่นนั้น เท่ากับว่ามังงะเหล่านี้มีขึ้นเพื่อสะท้อนความเป็นจริงในสังคมด้วย
หนึ่งในนั้นคือเรื่อง 'ซานจู มาริโกะ' ที่เล่าชีวิตของมาริโกะ หญิงหม้ายนักเขียนวัย 80 ปี ที่ตอนแรกอยู่บ้านร่วมกับลูกชาย ลูกสะใภ้ เป็นครอบครัวขยาย แต่ตอนหลังมาริโกะย้ายออกมา และต้องมาใช้ชีวิตในอินเทอร์เน็ตคาเฟ่แทน เพราะไม่สามารถหาที่พักที่เหมาะสมได้ ท่ามกลางความรู้สึกที่ว่า เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกับเธอกำลังทยอยเสียชีวิตไปทีละคน จนตัวเธอเองก็หวังที่จะจากโลกนี้ไปในอนาคตอันใกล้ด้วย โดยเรื่องนี้ขายแบบเล่มและออนไลน์ได้กว่า 250,000 ฉบับ ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร
สำหรับมังงะเหล่านี้ได้รวบรวมเอาปัญหาที่เกิดขึ้นจริงกับผู้สูงวัยในญี่ปุ่นเข้ามาไว้ในเส้นเรื่อง ซึ่งนอกจากการใช้ชีวิตกับครอบครัวขยายแล้ว ยังมีปัญหาการขับรถ เช่น ขับรถผิดเลน หรือ ปัญหาไม่ทิ้งของเก่าภายในบ้าน ทำให้บ้านกลายเป็นแหล่งรวมขยะ นอกจากนี้ ยังมีมังงะที่เล่าถึงความรักระหว่างคนชราในช่วงเริ่มต้นของภาวะความจำเสื่อม เพื่อรองรับความต้องการของผู้อ่านที่ชื่นชอบเรื่องโรแมนติกด้วย
ทางการญี่ปุ่นประมาณการว่าภายในปี 2040 ประเทศจะมีประชากรอายุเกิน 65 ปี มากถึง 44.2 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นจาก 36 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2015 ซึ่ง เคียวโกะ โทมินางะ อาจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยริตสึเมคัง ในเกียวโต ระบุว่า มังงะสมัยนี้เปลี่ยนแปลงคอนเทนต์ให้เข้ากับผู้อ่านที่เติบโตมากับมังงะยังคงรู้สึกเชื่อมโยงกับเนื้อหาต่อไป
ขณะเดียวกัน บรรณาธิการมังงะหลายสำนักได้ให้ความเห็นว่า เทรนด์มังงะคนชรานี้เป็นที่นิยมกับผู้ที่ไม่ได้อ่านมังงะเป้นปกติด้วย ทั้งกลุ่มวัยกลางคนและคนชรา ซึ่งสำหรับนักเขียนแล้ว นี่คือตลาดใหม่ ที่น่าจะเติบโตไปได้อีกหลายปี