บริการสตรีมมิงดังของจีน ภายใต้การบริหารของบริษัท 'ไป่ตู้' ปรับตัวตาม 'อาลีบาบา' โดยหันจับกลุ่มตลาดใหม่ที่ยังไม่เท่าทันเทคโนโลยีนักอย่าง กลุ่มผู้สูงอายุ ล่าสุดมีการเปิดตัวแอปพลิเคชันวิดีโอสั้นสำหรับผู้สูงอายุแล้ว
'อ้ายฉีอี้' แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงของบริษัทไป่ตู้ เปิดตัวแอปพลิเคชันวิดีโอสั้น 'จิ่นชื่อ' ซึ่งถือเป็นแพลตฟอร์มรับชมวิดีโอลำดับที่สามของ อ้ายฉีอี้ โดยเน้นเนื้อหาคอนเทนต์เป็นเรื่องการเมือง การเมือง และสุขภาพ เพื่อจูงใจผู้ชมสูงอายุ ส่วนจุดเด่นอื่นที่ทำให้ จิ่นชื่อ แตกต่างจากแอปฯ อื่นก็คือ ผู้ชมสามารถเปลี่ยนจากการรับชมวิดีโอและออดิโอ หรือรับฟังแค่เสียงได้
นอกจากนี้ ยังมีคลิปแบบแนวนอนให้ชม สำหรับผู้สูงวัยที่อาจจะยังติดภาพแบบโทรทัศน์อยู่ ในขณะที่คลิปต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ปัจจุบันเริ่มเป็นแนวตั้ง เพราะเป็นการถ่ายจากสมาร์ตโฟน หรือขนาด 1:1 กันมากขึ้น ซึ่งผู้ชมบางกลุ่มอาจถือว่าไม่สบายตา
ทั้งนี้ บริการสตรีมมิงวิดีโอในประเทศจีนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการรับชมวิดีโอสั้น โดยในปี 2013 มีชาวจีนรับชมความบันเทิงในโซเชียลมีเดียคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของการรับชมความบันเทิงทั้งหมดในวันนั้น ๆ ขณะที่ 13 เปอร์เซ็นต์รับชมบนแพลตฟอร์มวิดีโอ
จากข้อมูลเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ (2018) ชี้ว่า ผู้ให้บริการรายต่าง ๆ มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก คิดเป็นเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ โดยแพลตฟอร์มดัง ๆ มีผู้ใช้เฉลี่ยต่อวันถึง 52 นาที
ขณะเดียวกัน จีนก็เป็นอีกประเทศที่มี Silver Economy หรือ สังคมผู้สูงอายุ ผู้ประกอบการจึงหันมาทำตลาดกับผู้ชมกลุ่มนี้ ซึ่งยังเป็นกลุ่มลูกค้าที่ธุรกิจต่าง ๆ ไม่ค่อยสนใจ โดยปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กลุ่มผู้สูงวัยถือเป็นกลุ่มลูกค้าที่น่าจะเจาะตลาดด้านเทคโนโลยีได้ ก็คือ ระดับการศึกษาของผู้สูงวัยรุ่นนี้เริ่มดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน และสามารถใช้อินเทอร์เน็ต ไม่เพียงเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังใช้เพื่อติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นในชีวิตประจำวันด้วย
สถิติชี้ว่า ผู้สูงวัยเสพคอนเทนต์เกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองมากถึง 67 เปอร์เซ็นต์ และเกี่ยวกับสุขภาพ 66.9 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ กลุ่มผู้ฟังสถานีวิทยุออนไลน์ยอดนิยมอย่าง Ximalaya FM ในช่วงอายุ 50 ถึง 80 ปี มีมากถึง 21,000 คน และในจำนวนนี้ 32.3 เปอร์เซ็นต์ เลือกรับฟังคลิปอ่านหนังสือ หรือ Audio Books ด้วย
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รายการเวิลด์เทรนด์เราเคยรายงานว่า เถาเป่า เว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ชื่อดังที่บริหารงานโดยอาลีบาบา เริ่มหันมาโฟกัสกลุ่มลูกค้าใหม่ คือ กลุ่มคนชรา มากขึ้น ในยุคที่หลายบริษัทพยายามเอาชนะใจลูกค้ากลุ่มมิลเลนเนียล
โดยตอนนั้นมีการเปิดตัวแอปพลิเคชันชอปปิงออนไลน์เวอร์ชันที่เป็นมิตรกับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ เพื่อจับกลุ่มลูกค้าวัยเกิน 60 ปี ในจีน ซึ่งปัจจุบันมี 222 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มจำนวนถึง 255 ล้านคน ในปี 2020 คิดเป็นเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ
การออกแบบแอปพลิเคชันดังกล่าวเน้นให้ใช้งานง่าย เพื่อให้นักชอปสูงวัยสามารถลิงก์ไปยังบัญชีของลูกหลาน โดยมีระบบการจ่ายเงินแบบ pay-for-me หรือการให้ลูกหลานจ่ายเงินให้ ในกรณีที่ลูกหลานลงชื่อยินยอมไว้ นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชันโชว์รูปลูกหลานในทุกหน้าเพจ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถแชร์ข้อมูลสินค้า หรือเริ่มบทสนทนาผ่านโทรศัพท์หรือการแชต และที่สำคัญ ได้มีการปรับอินเทอร์เฟสให้ใหญ่ มองเห็นได้ชัด และไม่รกสายตาผู้ใช้สูงวัยอีกด้วย
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา นอกจาก เถาเป่าและทีมอล โดยอาลีบาบา แล้ว บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก อย่าง IBM เนสท์เล่ และแอปเปิล ในจีนและญี่ปุ่น ก็เริ่มวางแผนธุรกิจจับกลุ่มลูกค้าสูงวัยแล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงการให้บริการวิดีโอสตรีมมิงแล้ว อ้ายฉีอี้ยังคงต้องพบกับอุปสรรคอยู่บ้าง เนื่องจากรัฐบาลจีนหันมเข้มงวดกับการเผยแพร่เนื้อหาต่าง ๆ ออนไลน์ยิ่งขึ้น และจะมีการระงับการเผยแพร่คอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมบางอย่างจากทุกแพลตฟอร์ม ทำให้ผู้ใช้บริการต้องมีระบบ 'เซ็นเซอร์ตัวเอง' ที่ดี และคอยกลั่นกรองคอนเทนต์ทั้งหมดอย่างรัดกุม