รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 31 มีนาคม 2563
“อ.วิโรจน์” จัดหนักชุดใหญ่! ท้านายกฯ “บิ๊กตู่” ใช้ ม.157 เอาผิด “จุรินทร์” ละเลยปฏิบัติหน้าที่ ทำสินค้าปกป้องคนไทยอย่างหน้ากากอนามัยราคาแพง ที่เจ้าตัวโร่แจงสต๊อกหน้ากาก แค่อ้างถึงวัตถุดิบ ให้อารมณ์ “มันคือแป้ง” ภาค 2 แถม 5-6 ปีที่ผ่านมาทำงานไม่เวิร์ค แล้วจะอยู่ไปทำไม “อ.หญิง” ก็ชี้สถานการณ์ฉุกเฉินทำให้ภาพยิ่งชัดว่าทำงานล้มเหลว
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยระบุว่า / ยังไม่มีแนวโน้มที่จะยกเลิก โดยในภาพรวม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะใช้ได้ใน 3 เดือน แต่จะมีการประเมินใน 1 เดือนแรกก่อน หากจำเป็นต้องดำเนินการต่อ ในเดือนที่ 2 และ 3 มาตรการต่างๆ ก็จะเข้มข้นขึ้นตามลำดับ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงความเป็นห่วงเรื่องการทำบุญทางศาสนา โดยเห็นว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน ได้รับความเชื่อมั่นเชื่อถือ โดยเฉพาะศาสนาพุทธ ที่เป็นห่วงพระสงฆ์ จึงได้เน้นย้ำมาตราการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 เช่น การสวดมนต์จะต้องมีการแยกกัน กำหนดวิธีการ การทำบุญต่างๆ ให้เหมาะสม ทั้งเรื่องการใส่บาตร การทำโรงทาน ซึ่งตนทราบทุกคนมีเจตนาที่ดี แต่ทุกคนต้องช่วยกันคิด เพราะนายกฯ จะไปลงรายละเอียดทุกเรื่องไม่ไหว ขอให้ทุกภาคส่วน ช่วยกันหามาตราการของตัวเอง ออกมาเพื่อรองรับนโยบายหลักของรัฐบาล ทุกประเด็นด้วย
นอกจากนี้ทีมงานยังได้ย้อนไทม์ไลน์กรณีหน้ากากอนามัย โดยเมื่อ วันที่ 30 ม.ค. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ยกทีมตรวจโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย ย่านปากเกร็ด จ.นนทบุรี เพื่อสำรวจกำลังการผลิต พร้อมแถลงข่าวว่า ความต้องการในการใช้หน้ากากภายในประเทศ อยู่ที่เดือนละ 30 ล้านชิ้น... แต่เรามีโรงงานขนาดใหญ่ ที่ผลิตอยู่ 11 โรงงาน กำลังการผลิตรวมเดือนละ 100 ล้านชิ้น และยังมีอยู่ในสต๊อกอีกประมาณ 200 ล้านชิ้น...
ต่อให้ไม่มีการผลิตเพิ่มก็ยังมีเพียงพอให้ใช้ไปได้อีก 4-5 เดือน สบายๆ จึงไม่อยากให้ตื่นตระหนก ไม่ควรซื้อมาเก็บไว้เพิ่มอีก เพราะถ้าทุกคนยิ่งตื่นตระหนก ซื้อมาเก็บไว้ ก็จะยิ่งทำให้ของขาดตลาด...
คล้อยหลังจากที่ “รมว.จุรินทร์” ออกมาแถลงได้แค่วันสองวัน หน้ากากอนามัยก็เริ่มหายไปจากท้องตลาด วันที่ 3 ก.พ. “รมว.จุรินทร์” ก็เรียกประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. เพื่อแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยที่เริ่มจะ “ขาดตลาด” ซึ่งที่ประชุมก็เห็นชอบให้หน้ากากอนามัย และวัตถุดิบในการผลิต รวมถึงเจล ล้างมือแอลกอฮอล์ “เป็นสินค้าควบคุม” ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อขอความเห็นชอบ ในวันที่ 4 ก.พ. ซึ่ง ครม.ก็ให้ความเห็นชอบไปตามนั้น ...
จากนั้นก็มีประกาศจากกระทรวงพาณิชย์ กำหนดราคาหน้ากากอนามัย ห้ามขายเกินราคาชิ้นละ 2.50 บาท คราวนี้ หน้ากากอนามัย ก็เลยหายไปจากท้องตลาดแบบ “เบ็ดเสร็จเด็ดขาด” แต่ไปโผล่ที่ตลาดมืด ตลาดออนไลน์ ขายกันในราคาชิ้นละ 15-20 บาท รวมทั้งมีข่าวพ่อค้าไปตัดราคาหน้าโรงงาน เพื่อส่งออกนอก... เพราะเมื่อไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดออกไปในวงกว้าง ต่างประเทศก็มีความต้องการหน้ากากอนามัยเพิ่มตามไปด้วย
ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยภายในประเทศ กลายเป็นเรื่องเดือดร้อนแสนสาหัสของประชาชน ลามไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ เพราะในโรงพยาบาลก็ไม่มีหน้ากากอนามัยให้ใช้ ...ขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวเกี่ยวกับขบวนการหาประโยชน์จากหน้ากากอนามัย โดยมีพ่อค้า ข้าราชการ นักการเมือง สมคบกัน ...
กระทั่งนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งย้าย “อธิบดีกรมการค้าภายใน” ไปประจำที่สำนักนายกรัฐมนตรี ...พร้อมให้กระทรวงพาณิชย์ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
ขณะที่ ภาคประชาชนอย่าง “อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์” ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ก็ออกมาเปิดโปง ถึงเรื่องหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้น หายไปไหน ... ว่า มีผู้ใกล้ชิดรัฐมนตรีเข้ามาเกี่ยวข้อง จนมีเรื่องฟ้องร้องและตั้งกรรมการสอบกันอยู่
ถึงวันนี้ รัฐบาล “ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ออกมาแล้ว ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดตลาด ก็ยังแก้ไม่ตก ผลการสอบสวนหาข้อเท็จจริง ทั้งกรณีของ “อธิบดีกรมการค้าภายใน” และกรณี “ผู้ใกล้ชิดรัฐมนตรี” ก็ยังไม่มีผลสรุปออกมา
ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 มี.ค. นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ออกมาเฉลยว่า หน้ากากอนามัย ที่ก่อนหน้านี้ มีการระบุกันว่า มีในสต๊อกถึง 200 ล้านชิ้นนั้น เป็นตัวเลขที่คลาดเคลื่อน... ข้อเท็จจริงคือ ที่ว่ามีในสต๊อกนั้น “เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตหน้ากากอนามัยได้ 200 ล้านชิ้น” ไม่ใช่หน้ากากอนามัยที่ผลิตสำเร็จแล้ว กองอยู่ในโกดัง 200 ล้านชิ้น... พร้อมแจกแจงรายละเอียดเรื่องหน้ากากอนามัยเป็นข้อๆ ว่า
1. กระทรวงพาณิชย์ ประชุมกับผู้ผลิต ที่ขึ้นทะเบียน อย. 11 โรงงาน กำลังการผลิตอยู่ที่ 1.2 แสนชิ้นต่อวัน 36 ล้านชิ้นต่อเดือน
2. ที่ว่ามีหน้ากากอนามัยในสต๊อก 200 ล้านชิ้น ตัวเลขนั้น เป็นการคลาดเคลื่อนในการสื่อสาร
3. โรงงานให้ข้อมูลว่า ปัญหาขึ้นกับวัตถุดิบ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยสีเขียวๆ เป็นใยสังเคราะห์ ที่ผลิตในจีน แต่ในประเทศก็มีผลิต ส่วนที่เป็นชั้นกลาง แผ่นกรอง ไม่มีผลิตในไทย ต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศเท่านั้น
4. ชั้นแผ่นกรองมีอยู่ 200 ล้านชิ้น ทำให้คนไทยคิดว่ามีหน้ากากอนามัยในสต๊อก 200 ล้านชิ้น
5. กลางเดือน เม.ย.นี้ จะเพิ่มปริมาณการผลิตเป็น 2.8 ล้านชิ้นต่อวัน
6. เรามีวิธีใหม่ เน้นให้กับผู้ที่ต้องการมากที่สุด ขอจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อน และเหลือจึงจะส่งให้ประชาชน โดยเมื่อ 30 มี.ค ไปรษณีย์จะส่งไปยัง ณ ศาลาว่าการจังหวัดทั่วประเทศ
7. ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.เป็นต้นไป จะเปลี่ยนระบบ โดยให้ สธ. บริหารจัดการหน้ากากอนามัยให้กับโรงพยาบาลทุกระดับ ทั้งภาครัฐและเอกชน ส่วนที่กรมการค้าภายใน เคยบริหารจัดการส่งไปยังร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อเปลี่ยนไปให้ มหาดไทย เป็นผู้บริหาร เนื่องจากปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้บัญชาการแก้ปัญหาโควิดในระดับจังหวัด จึงควรมีหน้ากากอนามัยไปบริหารจัดการด้วย
หลังการแถลงของปลัดกรระทรวงพาณิชย์ ...“รมว.จุรินทร์” ก็ออกมาให้สัมภาษณ์แบบ “ตามน้ำ” ไปว่า ที่ตนเองเคยบอกว่า มีสต๊อกหน้ากากอนามัย 200 ล้านชิ้นและมีคำถามว่าหน้ากากอนามัยหายไปไหนนั้น ขอชี้แจงว่า หมายถึงมีวัตถุดิบที่ใช้ผลิตได้ 200 ล้านชิ้น ไม่ได้แปลว่า มีหน้ากากอนามัยกองอยู่ 200 ล้านชิ้นแล้วมันหายไปและเมื่อผลิตแล้วก็จะออกไปเข้าสู่ระบบตามปกติ...
จากต้นเดือน ก.พ.ถึงวันนี้ เป็นเวลา 2 เดือนเต็ม ที่ประชาชนตั้งคำถามว่า “หน้ากากอนามัยในสต๊อก 200 ล้านชิ้นหายไปไหน” วันนี้ “รมว.จุรินทร์” เฉลยแล้วว่า นั่นมันแค่มีวัตถุดิบที่จะผลิตได้ 200 ล้านชิ้น ไม่ใช่หน้ากากอนามัยที่ทำสำเร็จแล้ว