เทศกาลกินเจ เมนูอาหารเจจึงมีให้เลือกมากมาย และหาซื้อได้ง่าย แต่สำหรับผู้บริโภคแล้วเราควรเลือกรับประทานให้ดี เพราะจากการสำรวจของ สสส. พบว่า อาหารเจหลายชนิดมีรสชาติเค็ม มีปริมาณโซเดียมสูง ทั้งยังมีคุณค่าทางอาหารน้อย ส่งผลเสียต่อร่างกาย
เครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เปิดเผยผลการตรวจสอบ หลังลงพื้นที่สุ่มตัวอย่างอาหารเจ 13 เมนูยอดนิยมบนถนนสายเศรษฐกิจ 3 แหล่งในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เยาวราช , อตก. และตลาดยิ่งเจริญ โดยใช้เครื่องวัดความเค็มตรวจสอบปริมาณโซเดียมในอาหาร ไม่ว่าจะเป็น 'แกงเขียวหวาน แกงกะทิ จับฉ่าย พะโล้ ผัดกะเพรา แกงส้ม ผัดผัก ต้มจืด ต้มกะหล่ำปลี ขนมจีนน้ำยากะทิ ลาบเห็ด กระเพาะปลา และผัดขิง'
โดยพบว่า 13 เมนูข้างต้น มีปริมาณโซเดียมเกินความจำเป็นที่ร่างกายควรได้รับ ซึ่งเมนูที่มีโซเดียมสูงสุดคือ พะโล้ มีปริมาณโซเดียมเฉลี่ย 1,092.44 มิลลิกรัม ต่อ 200 กรัม ซึ่งมากกว่าปริมาณที่ควรบริโภคต่อมื้อเกือบ 2 เท่า อันดับ 2 ต้มจับฉ่าย และอันดับ 3 ขนมจีนน้ำยากะทิ
นอกจากนี้ยังพบว่า ผักดอง เกี้ยมไฉ่ กานาฉ่าย จับฉ่าย เป็นอาหารที่ใช้เกลือมาก และให้คุณค่าทางอาหารน้อย รวมถึงอาหารแปรรูป เช่น โปรตีนเกษตร เนื้อสัตว์เจ จะมีการเติมรสเค็มเพื่อทำให้รสชาติใกล้เคียงของจริงมากที่สุด
จึงแนะนำ 3 วิธีในการกินเจให้ได้สุขภาพดี คือ
1. เลือกทานผักสด แต่ต้องล้างผักให้สะอาด
2. ลดเค็ม เลี่ยงอาหารแปรรูปหรือการทานน้ำซุป
3. หลีกเลี่ยงของมันของทอดและลดแป้ง
โดยชดเชยด้วยน้ำเต้าหู้ หรือธัญพืช ส่วนผู้ป่วยเบาหวานควรลดปริมาณข้าวให้น้อยลง
ปัจจุบัน คนไทยกินเค็มเกินปริมาณที่ร่างกายควรได้รับถึง 2 เท่า โดยในแต่ละวันไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม แต่คนไทยกลับกินโซเดียมเฉลี่ย 4,351.69 มิลลิกรัมต่อวัน ทำให้แต่ละปีมีผู้ป่วยจากการกินเค็มมากถึง 2 ล้านคน
ขณะที่ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในปี 2561 พบว่า กลุ่มวัยทำงานเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะกินเจ ทำให้พฤติกรรมการบริโภคอาหารเจจะเน้นสะดวก ซื้อจากร้านอาหาร และมักเลือกซื้อโดยพิจารณาจากรสชาติ และหน้าตาของอาหารเป็นอันดับแรก