กรมขนส่งทางบกชี้แจง การเพิ่มโทษกรณีไม่มี-ไม่พกใบขับขี่ว่ายังไม่มีผลบังคับใช้ หลังชาวเน็ตและประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการปรับแก้กฎหมายนี้
หลังจากที่โลกโซเชียลแสดงความเห็นคัดค้านการแก้กฎหมายเพิ่มโทษความผิดเกี่ยวกับใบอนุญาตขับขี่ ซึ่งส่วนใหญ่มองว่าเป็นการปรับปรุงกฎหมายโดยไม่เปิดให้มีการทำประชาพิจารณ์จากประชาชนอย่างรอบด้าน และไม่สามารถลดอุบัติเหตุ หรือการทำผิดวินัยจราจรได้จริง รวมทั้งยังเปิดทางให้เจ้าหน้าที่รีดไถเงินจากประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย
กรมการขนส่งทางบกจึงได้โพสต์ชี้แจงผ่าน เฟซบุ๊กเพจ กรมการขนส่งว่า การแก้กฎหมายเพิ่มโทษเรื่องใบอนุญาตขับขี่ยังอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ขณะนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้แต่อย่างใด พร้อมย้ำว่าการปรับปรุงกฎหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมและกำกับการใช้รถ และเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดอุบัติเหตุและความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย พบว่า กลุ่มผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตมีโอกาสเสียชีวิต 34 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าผู้มีใบอนุญาตถึง 2 เท่า และพบสถิติกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 15-19 ปี เป็นกลุ่มที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนมากที่สุด เฉลี่ย 1,688 คนต่อปี ขณะที่ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มีโทษปรับสูง 88,000 บาท และสหรัฐฯ กว่า 8 แสนบาท หากไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถ
กรมขนส่งทางบกจึงได้เสนอปรับปรุงพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 เข้าเป็นฉบับเดียวกัน มีสาระสำคัญ ใน 3 กรณี คือ
- กรณีขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต ได้ปรับเพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 3 เดือน และปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท
- กรณีขับรถในระหว่างใบอนุญาตสิ้นอายุ ถูกพักใช้ เพิกถอนใบอนุญาต หรือถูกยึดใบอนุญาต ได้มีการเพิ่มโทษจำคุกเข้ามา โดยจำคุกไม่เกิน 3 เดือน และปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท
- ส่วนการขับรถโดยไม่แสดงใบอนุญาต ถูกเพิ่มโทษเป็นปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
โดยหากกฎหมายนี้ผ่าน ก็จะมีเวลาประมาณหนึ่งปีให้เจ้าหน้าที่และประชาชนได้เตรียมการ ก่อนนำไปบังคับใช้จริง