ช่วงปี 2017 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กต้องเจอศึกหนักหลายด้านทั้งเรื่องภาษีและข้อกล่าวหาว่าเป็นเครื่องมือควบคุมกลไกทางสังคมและการเมือง แต่ปี 2018 อาจยิ่งเป็นปีที่ยากลำบากของเฟซบุ๊ก
ในปี 2018 เฟซบุ๊กตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มยอดขายได้ร้อยละ 46 และทำกำไรได้มากกว่าปีนี้เป็น 2 เท่า แต่ความสำเร็จทางการเงินไม่ได้หมายความว่า เฟซบุ๊กจะไม่เจออุปสรรคด้านอื่นๆ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กมองว่า อุปสรรคแรกที่เฟซบุ๊กเผชิญอยู่ และจะเผชิญหนักขึ้นในปีหน้าก็คือตัวตนของเฟซบุ๊กนั่นเอง นายชามัธ พลิหปิติยะ อดีตรองประธานบริษัทเฟซบุ๊กที่ดูแลเรื่องการเติบโตของจำนวนผู้ใช้เคยกล่าวว่า แทนที่เฟซบุ๊กจะสร้างเครือข่ายสังคมโลกอย่างที่นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กเคยประกาศเอาไว้ เฟซบุ๊กกลับเปลี่ยนแปลงกลไกทางสังคม เขาจึงไม่อนุญาตให้ลูกของเขาเล่นเฟซบุ๊ก เพราะไม่ต้องการให้ลูกกลายเป็นทาสที่จะมีความสุขเมื่อได้รับเสียงตอบรับฉาบฉวยจากคนอื่นเท่านั้น และแม้เฟซบุ๊กจะออกมาแก้ตัวว่า นายพลิหปิติยะไม่ได้ทำงานกับเฟซบุ๊กมาตั้งแต่ปี 2011 แล้ว จึงไม่รู้ว่าเฟซบุ๊กตั้งใจจะทำอะไรบ้าง แต่ก็ไม่ได้แก้ต่างข้อกล่าวหาอย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับภาครัฐ เฟซบุ๊กดูเหมือนเป็นสิ่งอันตรายที่สนองความพึงพอใจของคนแบบทันที ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดความเศร้าและโกรธแค้นขึ้นมาได้ในพริบตา ปีที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการว่าด้วยมาตรฐานสิทธิมวลชนของอังกฤษได้เตือนให้รัฐบาลปรับสมดุลให้เฟซบุ๊กต้องมีส่วนรับผิดชอบกับการจัดการเนื้อหาที่ผิดกฎหมายด้วย ขณะเดียวกัน บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั้งกูเกิล ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊กต่างถูกรัฐบาลสหรัฐฯ และยุโรปกดดันให้จัดการเฮทสปีช
นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังถูกกล่าวหาว่าทำผิดจรรยาบรรณจากการคอยเก็บข้อมูลผู้ใช้ และเสิร์ฟแต่โพสต์หรือข่าวเพียงด้านที่ผู้ใช้พึงพอใจเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้ฝ่ายการเมืองหรือธุรกิจบางเจ้าฉกฉวยโอกาสนี้ในการควบคุมแนวทางความคิดของผู้ใช้ โดยเฉพาะหลังจากที่พบหลักฐานว่ารัสเซียได้ซื้อโฆษณาเพื่อช่วยให้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชนะการเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2016 ที่ผ่านมา
แม้เฟซบุ๊กจะจ้างพนักงานนับพันมาตรวจสอบโฆษณาและเนื้อหาสุ่มเสี่ยง แต่ต่อให้จ้างคนเพิ่มมาเป็นแสนคนก็อาจไม่สามารถดูแลเนื้อหาที่ผลิตออกมาจากผู้ใช้มากกว่า 2 พันล้านบัญชีได้ และในจำนวนนี้ก็ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นบอทและแอคเคานท์รับจ้างป่วนโพสต์มากน้อยเท่าไหร่ ทำให้เฟซบุ๊กจำเป็นต้องใช้มาตรการบังคับให้ผู้ใช้ใช้ชื่อจริง เพื่อให้พวกเขารับผิดชอบกับเนื้อหาที่ตัวเองโพสต์ แต่นั่นก็ทำให้ผู้ใช้จำนวนมากไม่ค่อยชอบนัก จนบางส่วนถึงกับเลิกใช้เฟซบุ๊กอย่างถาวร
เรื่องภาษีก็เป็นเรื่องใหญ่ที่เฟซบุ๊กถูกกดดันอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะไม่เลิกราไปง่ายๆ ในปี 2018 โดยเฉพาะในยุโรป ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กจดบัญชีไว้ว่ารายได้ที่ได้นอกสหรัฐฯ เป็นของบริษัทในไอร์แลนด์ เพื่อจะได้จ่ายภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าที่อื่น และยังมีบริษัทออฟชอร์ไว้เลี่ยงภาษีจากค่าลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา แต่ปีนี้ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และสเปนเรียกร้องให้สหภาพยุโรปมีมติให้เฟซบุ๊กจ่ายค่าชดเชยจากการเลี่ยงภาษี ซึ่งแม้คำร้องจะตกไป แต่หลายประเทศก็พยายามออกมาตรการการเก็บภาษีที่เข้มงวดขึ้น
บลูมเบิร์กเชื่อว่า ช่วงเวลาแห่งการเติบโตของโซเชียลมีเดียแบบไร้กฎเกณฑ์และไร้ภาษีกำลังจะมาถึงจุดจบแล้ว แม้ในปี 2018 เฟซบุ๊กอาจจะยังเป็นยักษ์ใหญ่ผู้กุมอำนาจทั้งเฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์ และอินสตาแกรม ซึ่งได้รับความนิยมมากในหมู่เด็กรุ่นใหม่ แต่ก็อาจต้องปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่างๆ ปรับขนาดธุรกิจ หรืออาจต้องมาปฏิรูปโมเดลธุรกิจใหม่ๆเพื่อความอยู่รอดในอนาคต