รายการ คิดเล่นเห็นต่างกับคำผกา ประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2556
พระราชพิธีพืชมงคลพระนังคัลแรกนาขวัญ จัดขึ้นในเดือน 6 หรือราวเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงเข้าฤดูฝน เริ่มต้นฤดูเพาะปลูก พิธีนี้จึงมีเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับเกษตรกร จากบทความของ 'ปราการ กลิ่นฟุ้ง' ได้กล่าวถึงหลักฐานพิธีแรกนาขวัญเมื่อราว 400 ปีก่อน ในจดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2230 ว่าเดิมพระเจ้าแผ่นดินทรงแรกนาขวัญด้วยตนเอง เป็นเวลาติดต่อกันมาเกือบ 100 ปี ต่อมามอบให้ขุนนางเป็นตัวแทนพระองค์ ทำพิธี เพื่ออ้อนวอนผีให้บันดาลความเจริญงอกงามแก่พืชพันธุ์ ธัญญาหารในราชอาณาจักร ติดต่อกันมาทุกปีไม่ขาด
ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นพระยาแรกนา "สุลักษณ์ ศิวรักษ์" ให้สัมภาษณ์ กรุงเทพธุรกิจว่า ''ทำไมต้องมีพระยาแรกนา เพราะเมื่อก่อนพระเจ้าแผ่นดินแรกนาเอง พอปีไหน ข้าวยากหมากแพง เขาก็ด่าเลย ตอนนี้พระยาแรกนาถูกด่าแทน''
การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ได้มีการยกเลิกพระราชพิธีตรียัมปาวายโล้ชิงช้า ในปี 2476 คณะรัฐมนตรีเห็นว่าควรเลิกพิธีโล้ชิงช้าเสีย เพราะเป็นของพ้นสมัย ถ้าจะจัดทำก็ควรเป็นหน้าที่เทศบาลจัดทำ และถ้าจะเลิกพิธีโล้ชิงช้า ก็ควรเลิกพระราชพิธีแรกนาขวัญเสียด้วย แต่เนื่องจากพิธีนี้เป็นพิธีเก่าและเกี่ยวกับการทำนา ถ้าเลิกเสียแล้ว ข้าวเกิดไม่ได้ผลดีในปีนั้น ราษฎรจะครหารัฐบาลได้ ดังนั้นจึงมีการเปลี่ยนแปลงให้แต่ละจังหวัดทำพิธีแรกนา โดยผู้แรกนา ต้องเป็นชาวนาผู้ที่ทำนาตามหลักวิทยาศาสตร์ ที่กรมเกษตรวางไว้ในการกสิกรรม และได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดของจังหวัดนั้น และเชิญเมียผู้แรกนาเป็นนางเทพี และภายในงานมีการจัดประกวด แสดงผลผลิตการเกษตรด้วย
ต่อมาสมเด็จฯ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และได้ทำหนังสือแจ้งพระดำริมาถึงนายกรัฐมนตรีถึงพิธีดังกล่าวว่า "ถ้าจะทำพิธีแรกนา ควรมีคำสั่งตั้งข้าหลวงประจำจังหวัด เป็นผู้แทนพระองค์ลงมือแรกนานำราษฎรทุกจังหวัดไป เช่นนั้นพอจะเข้าระบอบได้ ที่จะจัดให้ข้าหลวงประจำจังหวัดว่าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตั้งชายชาวนาเป็นพระยาแรกนา ตั้งหญิงชาวนาเป็นนางเทพีนั้น เป็นการเท่ากับเล่นละครตลก"
เพื่อไม่ให้พิธีแรกนาขวัญ เป็นพิธีกรรมทางวัฒนธรรมเท่านั้น ควรจะมีการจัดแสดงนำเชฟมาทำอาหาร ว่าข้าวชนิดนี้กินกับอาหารชนิดใดถึงจะอร่อย เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของข้าวไทยว่ามีเสน่ห์อย่างไร