รายการ คิดเล่นเห็นต่างกับคำผกา ประจำวันเสาร์ ที่ 4 พฤษภาคม 2556
"สงกรานต์" ถูกทำให้เชื่อว่าเป็น วันขึ้นปีใหม่ไทยแท้ๆ มาแต่โบราณกาล ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะสงกรานต์เป็นประเพณีที่รัฐโบราณทุกรัฐในอุษาอาคเนย์รับจากพราหมณ์ชมพูทวีป เหมือนๆ กัน ไม่ใช่ที่ไทยแห่งเดียว ลาว เขมร มอญ พม่า รวมทั้งลังกา สิบสองพันนาในประเทศจีน ล้วนมีงานประเพณีเฉลิมฉลอง ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของตนด้วย
ประเพณี พิธีกรรมและการละเล่นเฉลิมฉลองสงกรานต์ จะมีในชุมชนดึกดำบรรพ์ของอุษาคเนย์ ราว 3,000 ปีมาแล้ว จะจัดให้มีขึ้นทุกปีหลังฤดูเก็บเกี่ยว หรือราวหลังเดือนมกราคม ผ่านพิธีกรรมศักดิ์สิทธิลงสู่ชาวบ้าน ผ่านพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ทำให้ราษฎรรับเอาสงกรานต์ไปปฏิบัติเป็นประเพณีด้วย และรวมเอาพิธีเลี้ยงผีที่รับจากราชสำนักไปด้วย กลายเป็นประเพณีสืบมาจนถึงปัจจุบัน
สงกรานต์ถือว่าเป็นช่วงเวลาของการปลดปล่อยเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดที่คนเรามีทั้งปีที่ผ่านมา เช่น จากการทำมาหากิน และการรักษาจารีตประเพณี ซึ่งจะมีการละเล่นอย่างสนุกสนาน ละเมิดข้อห้ามต่างๆ ได้โดยไม่ถือว่าเป็นผิด แต่ต้องมีขอบเขตไม่ทำร้ายบุคคลอื่นให้บาดเจ็บหรือล้มตาย มีเอกสารบันทึกว่า สงกรานต์ในอดีต อนุญาตให้พระสงฆ์ในหมู่บ้านร่วมเล่นแข่งขันกับชาวบ้านได้ เช่นพระสงฆ์แข่งเรือ แข่งเกวียน แข่งจุดบั้งไฟ หรือแม้หญิงชาวบ้านที่มีข้อห้ามถูกเนื้อต้องตัวพระสงฆ์ได้ยามปกติ ก็อนุญาตให้ผู้หญิงในหมู่บ้านอุ้มพระสงฆ์ที่นิมนต์มาฉันอาหาร โยนลงไปในแม่น้ำลำคลองได้ และอาจละเมิดมากกว่านี้ แต่ไม่ถึงขั้นละเมิดผิดทางเพศ
นอกจากนี้รัฐ มีคำบอกเล่าว่า ในวันสงกรานต์ กลุ่มชาติพันธุ์ในหุบเขาจะทำพิธีกรรมอย่างหนึ่งด้วยการพากันสาดน้ำใส่ พระเจ้าแผ่นดินของตนที่ประทับในท้องพระโรง พระเจ้าแผ่นดินต้องวิ่งหนี แต่ยามปกติหากทำอย่างนั้นจะต้องถูกฆ่า ดังนั้นสงกรานต์นอกเหนือจากการปลดปล่อยเพื่อความสนุกสนานแล้ว พิธีกรรมทั้งหมดล้วนมีความหมายเชิงสัญลักษณ์เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของฤดูกาลใหม่ที่มาถึงทั้งสิ้น