กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ สนับสนุน พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก หรือ พ.ร.บ.มิลค์โค้ด ที่มีสาระสำคัญ คือการห้ามส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก รวมถึงนมผง โดยยูนิเซฟกล่าวว่า สำหรับไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำที่สุดในเอเชีย กฎหมายดังกล่าวจะเป็นก้าวสำคัญในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และเป็นการทำให้แน่ใจว่าเด็กทารก จะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดในช่วงแรกของการเติบโต
กฎหมายดังกล่าว จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 กันยายนนี้ โดยจะห้ามไม่ให้โฆษณานมหรืออาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ตั้งแต่อายุ 0-3 ปี ซึ่งไม่ได้เป็นการห้ามซื้อหรือห้ามขาย แต่จะเป็นการควบคุมไม่ให้แม่เด็กตกเป็นเหยื่อของโฆษณาสรรพคุณของนมผงเกินจริง เช่น นมผงสามารถทดแทนนมแม่ได้ ลดการส่งเสริมโปรโมชันต่างๆ เช่น แลก แจก หรือ แถม โดยบริษัทผู้ผลิตอาหารเสริมหรือนมผง เพื่อลดการเข้าถึงแม่เด็กอ่อน และยังกำหนดให้ผู้ผลิตหรือนำเข้านมผงหรืออาหารเสริมสำหรับเด็กเล็ก ต้องติดฉลากอาหารสำหรับเด็กทารกหรือเด็กเล็กให้แตกต่างกันอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการสับสน ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติให้ถูกต้อง
ด้านตัวแทนของยูนิเซฟระบุว่า วิธีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต้องเป็นตัวเลือกที่ถูกต้องและเข้าถึงง่าย โดยตามฐานข้อมูลของยูนิเซฟ ไทยมีอัตราเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในปี 2016 เพียงแค่ร้อยละ 12.3 ซึ่งถือเป็น 1 ในประเทศที่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำที่สุดในเอเชีย โดยยูนิเซฟชี้ว่า แม่ชาวไทยยังมีอุปสรรคหลายอย่างในการให้นมแม่แก่ลูก ทั้่้งการตลาดเกี่ยวกับการใช้นมผงเลี้ยงลูก และกฎหมายที่กำหนดระยะเวลาลาคลอดในบริษัทเพียง 3 เดือน โดยยูนิเซฟยังเรียกร้องให้บริษัทต่างๆในไทย จ่ายเงินเดือนให้กับแม่ที่ลาคลอดเต็มอัตรา สนับสนุนชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นให้กับแม่ลูกอ่อน และสร้างห้องให้นมลูกในที่ทำงาน
ด้านแพทย์หญิง ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวมติชน ว่านมผงสามารถทำให้เหมือนนมแม่ได้เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น แต่กลับมีการโฆษณาในลักษณะที่สามารถใช้แทนนมแม่ได้ หรือดีกว่านมแม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด เพราะหากเด็กไม่ได้กินนมแม่ อาจจะทำให้ขาดภูมิต้านทาน รวมถึงความรักความอบอุ่นระหว่างแม่สู่ลูกระหว่างการให้นมด้วย
ตามข้อมูลของยูนิเซฟ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นวิธีที่ง่าย เร็ว และประหยัดที่สุดในการทำให้ทารกมีสุขภาพดีโดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด โดยวิธีที่ดีที่สุด คือการให้นมลูกทันที ภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอดและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว ซึ่งในไทยมีเด็กแรกเกิดเพียงร้อยละ 46 ที่ได้รับการดูแลด้วยวิธีดังกล่าว
ขณะเดียวกันรายงานที่ยูนิเซฟ ทำร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ขณะนี้ไม่มีประเทศใดในโลกลงทุนด้านการสนับสนุนการเข้าถึงวิธีเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเพียงพอ โดยใน 5 ประเทศซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ คือ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก และไนจีเรีย การขาดการส่��เสริมด้านดังกล่าวทำให้เด็กเสียชีวิต 236,000 ต่อปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 1 แสน 1 หมื่น 9 พันล้านดอลลาร์ต่อปี