วัฒนธรรรมกล่องข้าวสุดแสนน่ารักเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น แต่กล่องข้าวที่ทำด้วยความรัก อาจจะกลายเป็นเครื่องมือนำผู้หญิงกลับเข้ามาเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลังจากที่ผ่านมา ผู้หญิงญี่ปุ่นที่แต่งงานและมีลูก มักลาออกมารับบทแม่บ้าน ทั้งที่ประเทศกำลังขาดแคลนแรงงาน ก่อนที่เราจะเฉลยว่ากล่องข้าวเกี่ยวกับวีเมโนมิกส์อย่างไร คุณชลวิศว์มีสถิติที่บ่งบอกวิกฤตผู้หญิงหายไปจากตลาดแรงงานญี่ปุ่นมาให้ดูกัน
ญี่ปุ่นมีประชากร 127 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 51.3% และผู้ชาย 48.7% แต่กลับมีอัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานน้อยอย่างน่าตกใจ สถิติจากธนาคารโลกพบว่านับตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา ผู้หญิงญี่ปุ่นวัย 15 ปีขึ้นไปที่มีงานทำ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 52% และหลังวิกฤตการเงินในสหรัฐฯและยุโรปในปี 2008 อัตราการทำงานของผู้หญิงยิ่งลดลงไปอีกอย่างน่าตกใจ เหลือเพียง 50% แม้ว่าหลังจากปี 2012 สถานการณ์จะดีขึ้นเล็กน้อย แต่ผู้หญิงญี่ปุ่นก็ยังมีงานทำเพียงครึ่งเดียวของจำนวนผู้หญิงทั้งประเทศอยู่ดี
ที่เป็นเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะการกีดกันผู้หญิงในสายงานต่างๆเท่านั้น แต่อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจ ก็คือค่านิยมของสังคม ผลสำรวจของรัฐบาลพบว่าผู้หญิงวัยรุ่นถึง 30% ตอบว่าตัวเองอยากมีอาชีพแม่บ้านเมื่อเรียนจบ ทั้งที่โกลด์แมน แซคส์ วานิชธนกิจชื่อดังของโลก ประเมินว่าญี่ปุ่นจะเพิ่มจีดีพีได้ถึง 13% หากทำให้ผู้หญิงมีงานทำได้ถึง 80%
ปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมของผู้หญิงทั้งหมดเกิดจากการหล่อหลอมของสังคมที่คาดหวังว่าผู้หญิงญี่ปุ่นจะต้องรับบทแม่และภรรยา ดูแลบ้าน ทำให้รัฐบาลต้องปวดหัว เพราะในภาวะที่ประเทศอยู่ในสังคมสูงวัยที่ประชากรมีอายุเฉลี่ยถึง 49 ปี จำเป็นต้องมีการผลักดันให้ประชากรเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำงานเพื่อจ่ายภาษีให้มากที่สุด รวมทั้งเพิ่มจำนวนแรงงานในประเทศด้วย นโยบายวีเมโนมิกส์ หรือดึงผู้หญิงเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ กลายเป็นหนามยอกอกชิ้นใหญ่ของรัฐบาลนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพราะแม้อัตราการทำงานของผู้หญิงในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมาจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่มากพอที่จะกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจได้
แต่ธุรกิจยุค 4.0 ทำให้อาจไม่จำเป็นอีกต่อไปที่รัฐบาลจะต้องสู้กับค่านิยมเรื่องการเป็นแม่บ้านของผู้หญิงญี่ปุ่น เพราะผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างงานกับบ้านอีกต่อไป แม้จะนั่งอยู่ที่บ้าน แต่ก็สามารถมีรายได้ได้ และทักษะแม่บ้านก็ทำเงินได้เช่นกัน เช่นการทำกล่องข้าวน่ารัก หรือ "จาราเบน" ซึ่งย่อมาจาก "Charactor Bento" หรือเบนโตะรูปตัวการ์ตูนต่างๆ
ปกติจาราเบนจะเป็นสนามรบของแม่บ้าน ที่พวกเธอจะประกวดประขัน อวดฝีมือและความร่ำรวยกันในกล่องข้าวที่บรรจงทำให้ลูกไปกินที่โรงเรียนในมื้อกลางวัน ใครทำได้อลังการเท่าไหร่ ก็เป็นการแสดงถึงความทุ่มเทที่มีให้กับครอบครัวมากเท่านั้น
แต่ปัจจุบัน วัฒนธรรมกล่องข้าวรูปการ์ตูนที่มีการประดิษฐ์ประดอยอย่างพิศดารนี้ กลับทำให้เกิดอาชีพใหม่ นั่นก็คือการเปิดแชนแนลยูทูบสอนทำกล่องข้าว ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นที่นิยมไม่เฉพาะในญี่ปุ่น แต่รวมถึงทั่วโลก โทโมมิ มารุโอะ ได้ชื่อว่าเป็น "ตัวแม่" แห่งวงการกล่องข้าวจาราเบนของญี่ปุ่น และมีแชนแนลยูทูบเป็นของตัวเอง เช่นเดียวกับแชนแนลโอกะเอริ ที่มียอดวิววีดีโอบางคลิปเกือบล้าน
ส่วนรัน แม่บ้านเจ้าของโคเนล เบรด ผู้ทำขนมปังเป็นรูปตัวการ์ตูนต่างๆ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะการทำซูชิของญี่ปุ่น ที่สามารถม้วนซูชิโดยจัดวางไส้สลับสี ให้เมื่อหั่นออกมาได้เป็นซูชิที่มีลวดลายต่างๆ รันมีผู้ติดตามในอินสตาแกรมกว่า120,000 คน และออกตำราอาหารเป็นของตัวเองด้วย ส่วนแชนแนลยูทูบในตำนานอีกเจ้าที่เป็นแม่บ้านญี่ปุ่นผู้ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการโชว์สกิลการทำอาหารและการประดิษฐ์ประดอยเมนูแบบญี่ปุ่น ก็คือ Cooking With Dog ที่ตอนนี้ยุติการออกคลิปแล้ว
แม้ว่าแม่บ้านที่สร้างรายได้จากแชนแนลยูทูบและช่องทางออนไลน์ต่างๆจะยังมีไม่มากนัก แต่ธุรกิจออนไลน์แบบนี้ อาจจะเป็นคำตอบของการทำให้วีเมโนมิกส์ประสบความสำเร็จในญี่ปุ่น เพราะมันคือการพบกันครึ่งทางระหว่างการทำตามค่านิยมของสังคมญี่ปุ่น แต่ก็เปิดโอกาสให้แม่บ้านได้เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ยุคเจแปน 4.0 ด้วยไปพร้อมๆกัน