นายอุตตม สาวนายน รัฐนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) วันนี้ (6มี.ค.63) ว่าที่ประชุมได้มีการอนุมัติ “มาตรการดูแลเยียวยาผลกระทบไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ชุดที่ 1” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป ซึ่งจะมี 2 มาตรการหลัก คือ มาตรการทางการเงินและมาตรการทางภาษี โดยมาตรการด้านการเงิน จะมี 4 เรื่อง ประกอบด้วย
1.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) โดยให้ธนาคารออมสินจะปล่อยกู้ ให้กับสถาบันการเงินอื่นๆ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 เพื่อให้สถาบันต่างปล่อยกู้ต่ออัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2
2. มาตรการพักชำระเงินเงินต้น ผ่อนภาระดอกเบี้ย และขยายเวลาชำระหนี้
3. การปรับโครงสร้างหนี้ โดยการการยืดเวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย เปลี่ยนแปลงประเภทเงินกู้ และลดค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นมาตรการแบบผ่อนคลายถึง 31 ธ.ค. 2563
4. มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของสำนักงานประกันสังคม จะให้นายจ้างและลูกจ้างกู้ได้ เพื่อบรรเทาภาระและเป็นเงินทุนเวียน โดยหลังจากนี้สำนักงานประกันสังคมจะกลับไปพิจารณาหลักการดำเนินงาน
ส่วนมาตรการทางภาษี มี 4 เรื่องเช่นกัน คือ
1. ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการเป็นการชั่วคราว
2. ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กู้เงินซอฟท์โลน ได้สิทธินำภาระดอกเบี้ยเป็นรายจ่ายลดหย่อนภาษี
3. ส่งเสริมการจ้างงาน โดยให้ผู้ประกอบการนำรายจ่ายลูกจ้างมาหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ตั้งแต่ 1 เม.ย. - 31 ก.ค 2563
4. เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ภายใน 15 วัน ให้กับผู้ประกอบการที่ยื่นแบบผ่านระบบอินเตอร์เน็ต และไม่เกิน 45 วันสำหรับผู้ประกอบการที่ยื่นแบบปกติ
นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับกับการลดค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ให้กับผู้ประกอบการ มาตรการลดค่าน้ำค่าไฟ ค่าพลังงาน ซึ่งยังต้องไปพิจารณาถึงอัตราที่เหมาะสมก่อน และยังมีมาตรการลดเงินสมทบประกันสังคมของผู้ประกบอการ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินงบประมาณ รวมถึงมาตรการด้านตลาดทุนด้วย
ทั้งนี้ในเรื่องของมาตรการดูแลประชาชน อนุมัติให้สนับสนุนเงินโดยตรงให้กับคน 3 กลุ่ม คือ ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ประกอบการชีพอีสระ เป็นจำนวนเงิน 2,000 บาท แบ่งจ่ายเดือนละ 1,000 บาท จำกัดไม่เกิน 2 เดือน ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2563 ผ่านระบบพร้อมเพย์ ส่วนจะมีผู้ได้รับสิทธิ์กี่คน และจะต้องใช้วงเงินเท่าใด ยังต้องมีการไปหารือในรายละเอียดอีกครั้ง โดยทั้งหมดจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ วันที่ 10 มี.ค.นี้
“จำนวนคนเราจะไปดูอีกครั้งใน 3 กลุ่มนี้ โดยเฉพาะอาชีพอิสระจะต้องคลอบคลุมมากที่สุด และดูแลผู้ค้ารายเล็กด้วย ส่วนจะได้กี่คน วงเงินเท่าไหร่ ยังต้องไปดูในรายละเอียด” นายอุตตม กล่าว
ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำนายไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ทวีความรุนแรงทั่วโลก ไม่ใช่แค่ที่ไทย ซึ่งขณะนี้ยังไม่ถึงจุดพีค ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาคการผลิต และบริการ ที่ผ่านมาได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอดในการกำหนดมาตรการชุดที่ 1 เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวัง วาระที่เข้ามาในวันนี้ผ่านการกลั่นกรองพูดคุยจากทุกสถาบันเรียบร้อย และก็ไม่ใช่ออกไปแล้วจบ เป็นเพียงมาตรการชุดที่ 1 ซึ่งหากมองให้คลบทุกมาตรการจะพบว่าไม่ใช่เป็นการแจกเงินแก้ปัญหา เพราะเป็นเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น
“งานนี้ไม่มีการแจกเงินนะ ถ้าท่านดูให้ครบ การใช้เงินช่วยเหลือเป็นแค่เสี้ยวเดียว ฉะนั้นกรุณาอย่าไปเขียนให้มันเลอะเทอะ ภาวะยามนี้เป็นภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญปัญหา ทุกคนต้องร่วมกัน” นายสมคิด กล่าว
ทั้งนี้นายสมคิด ระบุว่า จากสถานณ์ที่เกิดขึ้นได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ไปหารือกับสำนักงบประมาณ ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้สำหรับผ่อนคลายผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย