ศรีลังกากำลังประสบปัญหาการขาดแคลนอาหาร เชื้อเพลิง และสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอื่นๆ ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างหนักตั้งแต่ประเทศได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 2491 ความไม่พอใจของประชาชนลุกลามจนกลายเป็นการประท้วงครั้งใหญ่
สืบเนื่องจากความไม่พอใจดังกล่าว คณะรัฐมนตรีทั้ง 26 คน ยกเว้น โกตาบายา ราชปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกา และพี่ชายอย่าง มาฮินดา ราชปักษา นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งของตน ผ่านการยื่นจดหมายลาออกในช่วงคืนวานนี้ (3 เม.ย.)
การลาออกดังกล่าวจะส่งผลให้ในวันนี้ (4 เม.ย.) ประธานาธิบดีศรีลังกาจะต้องแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยรัฐมนตรีคนใหม่บางราย อาจได้มาจากคนในคณะรัฐมนตรีเดิม ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลราชปักษาได้ตัดสินใจลาออกหลังจากศรีลังกาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน สืบเนื่องจากประชาชนผู้ประท้วงพยายามบุกเข้ามายังบ้านพักของประธานาธิบดีในกรุงโคลอมโบของศรีลังกา
รัฐบาลศรีลังกาได้ทำการปิดแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อหวังจะควบคุมการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ที่กำลังวิจารณ์พวกตนจากการบริหารเศรษฐกิจของประเทศที่ผิดพลาด โดยการสั่งปิดโซเชียลมีเดียต่างๆ ของรัฐบาลราชปักษาครอบคลุมถึง เฟซบุ๊ก วอทส์แอพ ทวิตเตอร์ และแพลตฟอร์มอื่นๆ แต่ความพยายามดังกล่าวกลับไม่ได้ช่วยให้ประชาชนออกมาประท้วงขับไล่รัฐบาลน้อยลงแต่อย่างใด
ศรีลังกากำลังประสบปัญหาขาดเงินตราต่างชาติอย่างรุนแรง จนไม่สามารถชำระหนี้ต่างประเทศมูลค่ากว่า 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท) สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้การท่องเที่ยวและการส่งเงินกลับประเทศพบกับวิกฤต ตลอดจนการที่ศรีลังกาเป็นประเทศพึ่งพาการนำเข้าสินค้าหลายชนิดเป็นหลัก อย่างไรก็ดี การประท้วงของประชาชนปะทุขึ้นเมื่อรัฐบาลไม่สามารถควบคุมราคาน้ำมันดีเซลเอาไว้ได้
นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักชี้ว่า วิกฤตของศรีลังกาในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลศรีลังกาบริหารจัดการประเทศผิดพลาด อีกทั้งมีการกู้เงินสะสมมานานหลายปี กอปรกับนโยบายการลดภาษีที่ไม่ได้ผ่านคำแนะนำที่ดี ปัจจุบันนี้ ศรีลังกายังคงหารือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก
ที่มา: