ไม่พบผลการค้นหา
'รังสิมันต์' ตั้งข้อสงสัย 'ประยุทธ์' ต้อนรับอดีตผู้นำศรีลังกาที่ถูกขับไล่ แต่ไม่แยแส 'ผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์' หวั่นฉุดภาพลักษณ์ประเทศต่อนานาชาติ ติงหลายฝ่ายควรทบทวน

วันที่ 12 ส.ค. 2565 รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม ถึงกรณีที่ ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า ไม่ได้เห็นว่าเป็นปัญหา กรณี โกตาบายา ราชปักษา อดีตประธานาธิบดีศรีลังกา ใช้หนังสือเดินทางทางการทูต เพื่อเดินทางมาพำนักอยู่ในประเทศไทย

รังสิมันต์ กล่าวว่า ต้อนรับอดีตผู้นำศรีลังกาที่ถูกขับไล่อย่างสบายใจ แต่ผลักไสผู้ลี้ภัยจากสงคราม รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะฉุดภาพลักษณ์ประเทศไทยในสายตานานาชาติให้ตกต่ำถึงขนาดไหน

กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออกมายืนยันกรณีที่อดีตประธานาธิบดีศรีลังกา กำลังจะขอเข้ามาพักรอลี้ภัยไปประเทศที่สามจริงนั้น ตนรู้สึกแปลกใจมากว่าเหตุผลใดรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ถึงเอาประเทศไทยมาเป็นบ้านพักชั่วคราวให้ผู้นำที่ถูกประชาชนขับไล่จนต้องหนีออกมา แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ลี้ภัยสงครามชาวเมียนมาร์ กรณีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงยา หรือผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่อยู่ในสถานะหลบหนีภัยภายในประเทศ กลับเจอชะตากรรมที่ต่างกันราวฟ้ากับเหว

รังสิมันต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการร้องเรียนเข้ามาในกรรมาธิการการต่างประเทศ ให้ช่วยหาทางออกและการจัดการอย่างมีมนุษยธรรมต่อผู้ลี้ภัยอยู่หลายครั้ง เนื่องจากมีการร้องเรียนว่ามีมาตรการจากทางรัฐบาลที่ไม่เป็นไปตามหลักการที่ควร รวมถึงมีความพยายามกีดกัน ไปจนถึงส่งกลับผู้ลี้ภัยมาแล้วจากหลายกรณีในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จนทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเสียหายอย่างมาก

รังสิมันต์ เสริมว่า กลับกันพอเป็นอดีตประธานาธิบดีที่มีข้อสงสัยว่าเกี่ยวพันกับการอุ้มหาย ซ้อมทรมานประชาชนในศรีลังกา จนหาที่ไปไม่ได้ รัฐบาลไทยกลับอ้าแขนรับเข้ามาอย่างหน้าตาเฉยราวกับว่านี่คือเราไม่แคร์สายตาประชาคมโลกว่าจะมองประเทศเราเป็นอย่างไร กับการสองมาตรฐานในการต้อนรับผู้ลี้ภัยเช่นนี้

"ผมอยากเรียนคุณประยุทธ์ว่า ในฐานะของนายกรัฐมนตรี การกระทำครั้งนี้จะฉุดให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยต้องมัวหมองในสายตานานาชาติ กรณีผู้ลี้ภัยที่ตัวเองมีชนักปักหลังก็ยังจัดการไม่ได้ กลับมาเพิ่มภาระการแก้ไขภาพลักษณ์ประเทศให้กับรัฐบาลถัดไปอีก ยิ่งทำแบบนี้ศักดิ์ศรีประเทศไทยในสายตาชาติอื่นๆจะเป็นอย่างไร ที่ประเทศเรากลับต้องมากลายเป็นคุกขังผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ และเป็นสถานที่พักตากอากาศให้ผู้นำที่โดนประชาชนขับไล่แบบนี้กัน" รังสิมันต์ กล่าว

รังสิมันต์ กล่าวอีกว่า ตนอยากให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทบทวนให้ดีว่ากรณีเหล่านี้จะสร้างภาพลักษณ์อย่างไร และเกิดประโยชน์อย่างไรต่อประเทศชาติกันแน่ หากการกระทำนี้ไม่มีเหตุผลรองรับที่รับฟังได้มากพอ การเปลี่ยนมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นที่ยอมรับได้มากขึ้นทั้งต่อประชาชน และนานาประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตัดสินใจให้ดี เพราะนี่จะเป็นหน้าประวัติศาสตร์อีกหน้าที่ถูกบันทึกไว้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจทำอะไร เพราะอะไร และส่งผลเช่นไรในอนาคตแน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง