ไม่พบผลการค้นหา
ในปัจจุบัน โลกของเรากำลังดำเนินไปสู่จุดเปลี่ยนผ่านสำคัญทางการเมืองจากวิกฤตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด หรือสงคราม ความกังวลด้านความมั่นคงของผู้กำหนดความเป็นไปของโลกหลังสงครามเย็น อย่างสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นในทุกวินาที

ความท้าทายและการเติบโตของประเทศมหาอำนาจใหม่อย่างจีนและรัสเซียกำลังไล่ตามมา ชวนให้นึกย้อนถึงภาพสงครามเย็นในอดีตอีกครั้ง เมื่อมีการแข่งขัน การสู้รบ ระเบียบโลกเดิมที่สหรัฐฯ เคยสร้างขึ้นไม่สามารถครองอำนาจนำได้อีกต่อไป กระแสลมการเมืองโลกกำลังพัดพาไปในทิศทางใดยังคงต้องจับตามอง

คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (14 มิ.ย. 65 ) จัดงานเสวนาในหัวข้อง "ยามเมื่อลมพัดหวน : ระเบียบโลกใหม่ในปี 2022" ‘วอยซ์’ จึงได้สรุปใจความสำคัญมาในรายงานชิ้นนี้


แนวคิดระเบียบโลกใหม่ 2565

ศ.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงการตีความระเบียบโลกใหม่ในขณะนี้ว่า เรากำลังอยู่กับระเบียบโลกหลังรัสเซียประกาศสงครามกับยูเครน เมื่อ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นภาพสงครามเย็นที่ย้อนกลับขึ้นมาใหม่ แต่นี่ไม่ใช่เหตุการณ์เปลี่ยนโลกครั้งแรกหลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดในปี 2534

ตลอดระยะเวลา 30 ปีหลังสิ้นสุดสงครามเย็น เกิดความเปลี่ยนแปลงและวิกฤตการณ์มากมายทั้ง สงคราม โรคระบาด และการก่อการร้าย ทำให้ความหวังหลังสิ้นสุดสงครามเย็นว่าโลกจะมุ่งสู่สันติภาพถาวร กลับกลายเป็นระเบียบโลกที่บิดเบี้ยว โดย 30 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าสงครามเย็นจะยุติไปก็จริง แต่การเกิดสงครามใหม่ๆ กลับเกิดขึ้นอีกมากมาย สร้างคำถามท้าทายสหรัฐฯ ในฐานะผู้ถืออำนาจการกำหนดทิศทางโลกไว้คนเดียวว่าคงสถานะดังกล่าวด้อีกนานแค่ไหน ใครจะขึ้นมาเป็นคู่แข่งทางอำนาจกับสหรัฐฯ รวมถึงการจัดการกับปัญหาทางด้านความมั่นคง ที่มาพร้อมกับปัญหาในด้านอื่นๆ และสงครามใหม่ๆ

สุรชาติได้ให้ความคิดเห็นว่า หลังสงครามเย็นจบลง ตำราด้านความมั่นคงต้องถูกเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมด หลังเห็นสถานการณ์ในสงครามบอสเนีย รวันดา และโมกาดิชู จนกระทั่ง 9 ก.ย. 2544 เกิดเหตุการณ์เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ โดยที่ไม่มีใครคาดคิด เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างระเบียบโลกที่ต้องรับมือกับการก่อการร้าย เกิดตัวแสดงหน้าใหม่ที่ไม่มีใครคาดถึงในการเมืองโลก ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้มีการรื้อยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศกันใหม่ ซึ่งเหตุการณ์และวิกฤตต่างๆ ที่ไม่มีใครคาดเดาได้นี้ เกิดขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือการชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีของ โดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกด้วย

โลกหลังวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างความหวังให้ผู้คนที่จะได้เห็นความสวยงามของความร่วมมือระหว่างประเทศ แต่กลับกลายเป็นการแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจว่าใครจะแก้สถานการณ์โควิด-19 ได้ดีกว่ากัน วัคซีนที่จะช่วยเหลือประชาชนทั่วโลกถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการทูต และความมั่นคงด้านสาธารณสุขถูกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

เห็นได้ชัดว่าวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบขนาดใหญ่แก่สังคมโลก สุรชาติแสดงความกังวลถึงชีวิตของรัฐและผู้คนว่าจะดำเนินอย่างไรหลังสถานการณ์โควิด-19 นี้ อนาคตของการอยู่ร่วมกับโรคระบาดจะเป็นอย่างไร รวมถึงแนวทางการป้องในอนาคตกันจะเป็นอย่างไร โรคระบาดใหม่จะอุบัติขึ้นหรือไม่

แต่ถึงอย่างไรก็ดี ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและวิกฤตการณ์มากมายที่เกิดขึ้น คงไม่มีใครคาดคิดถึงการเกิดวิกฤตสงครามยูเครน ที่ถือว่าเป็นการกลับมาของสงครามใหญ่ที่มีรูปแบบเป็นสงครามตัวแทนแห่งรัฐ (state actor warfare) และการยอมรับว่าสงครามครั้งนี้ถือเป็นสงครามลูกผสม (hybrid warfare) ที่ไม่ได้รบในสนามรบเพียงมิติเดียว การเกิดสงครามในครั้งนี้ส่งผลกระทบทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร หรือเศรษฐกิจ แต่ก็เกิดความร่วมมือภายในโลกตะวันตกที่เข้มแข็งหลังจากดูอ่อนแอลงในสายตาประชาคมโลก ในขณะที่โลกตะวันออกเกิดภาพการร่วมมือกันระหว่างจีนกับรัสเซียที่ต่างไปจากยุคสงครามเย็น

สุดท้าย สุรชาติได้แสดงความคิดเห็นว่าสงครามยูเครนยังไม่มีท่าทีที่จะยุติลงง่ายๆ อย่างน้อยก็ไม่จบภายในสิ้นปีนี้ และผลกระทบของสงครามอาจจะเหนือความคาดหมายไปอีก รวมถึงสถานการณ์ระหว่างไต้หวันกับจีนในโลกตะวันออกด้วย สุรชาติทิ้งท้ายเอาไว้ว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ไต้หวันกับยูเครนจะกลายเป็นพื้นที่ข้อพิพาทที่นำไปสู่สงครามระหว่างประเทศหรือไม่ ระเบียบโลกที่ถูกท้าทายจากสงครามเย็นสู่สงครามเย็นใหม่จะเป็นเช่นไร


การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในโลกใหม่

รศ.จิตติภัทร พูนขำ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับการเมืองระหว่างประเทศที่สำคัญทั้งการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิสัมพันธ์ อย่างวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาเช่น เหตุการณ์เครื่องบินพุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์) และวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในปี 2551 ส่วนอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลง คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่เกิดขึ้นหลังสงครามเย็น ซึ่งเปลี่ยนจาก 2 ขั้วมหาอำนาจไปสู่มหาอำนาจเดี่ยวอย่างสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นว่าโลกปัจจุบันอาจจะกำลังเปลี่ยนผ่านเชิงระบบอีกครั้งหรือไม่

10 ปีที่ผ่านมา ภาพการเกิดขึ้นของขั้วอำนาจอื่น นอกเหนือจากสหรัฐฯ เริ่มเผยออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่จีนเข้ามามีบทบาทและแข่งขันกับสหรัฐฯ อย่างโดดเด่นในทุกๆ ด้าน ทำให้เกิดคำถามและการตั้งข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในครั้งนี้

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่มหาอำนาจต้องแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ คือ เพื่อการคงเอาไว้ซึ่งอำนาจ โดยในปัจจุบัน พื้นที่สำคัญในการแข่งขันด้านภูมิรัฐศาสตร์คือบริเวณอินโด-แปซิฟิก ผ่านมุมมองของสหรัฐฯ ที่ว่าจีนเป็นภัยความมั่นคง จิตติภัทรมีความเห็นว่ากรณีนี้ ถือเป็นการเชื่อมโยงกับการมีพื้นที่อิทธิพลในอดีตอีกครั้ง อย่างที่สหรัฐฯ เคยมีอำนาจนำในลาตินอเมริกาและอเมริกากลาง โดยมีรัสเชียที่ตอนนี้เห็นได้ชัดว่ากำลังพยายามสร้างอิทธิพลในประเทศที่ติดชายแดนของตน และจีนที่มีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ในบริเวณทะเลจีนใต้

การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้โลกเหมือนจะแบ่งขั้วอำนาจเป็น 2 ขั้วมากขึ้น ผ่านการแข่งขันกันของจีนกับสหรัฐฯ ในทุกๆ ด้าน ด้วยความแตกต่างของระบอบทุนนิยมนำโดยรัฐของจีน และทุนนิยมนำโดยตลาดในสหรัฐฯ การแข่งขันในอินโด-แปซิฟิกจึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ขึ้นมาจากการที่สหรัฐฯ มองว่าจีนเป็นภัยคุกคาม 

แม้ว่าจะเกิดการแข่งขันในทุกด้าน แต่จิตติภัทรเห็นว่า ตอนนี้ยังไม่มีการแบ่งฝั่งที่ชัดเจน รัฐขนาดกลางและเล็กยังคงดำเนินนโยบายแบบประกันความเสี่ยง โดยไม่ได้ประกาศเลือกข้างใดข้างหนึ่ง แต่การกดดันให้เลือกข้างในเวทีระหว่างประเทศก็มีให้เห็นมากขึ้น รวมถึงการท้าทายองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ในระบบพหุภาคีเสรีนิยม ที่ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับความร่วมมือกระหว่างประเทศที่มากขึ้น ในเรื่องของการควบคุมอำนาจ และการเกิดกลไกต่างๆ เพื่อเข้ามาแก้ไข ปัญหาอย่างการเกิดความร่วมมือระบุพหุภาคีขนาดเล็ก ที่ถือว่าเป็นการตั้งกลุ่มความร่วมมืออิสระไม่เป็นทางการมากนัก ซึ่งเน้นหาทางออกจากข้อจำกัดในกติกาดั้งเดิม

จิตติภัทรใช้คำว่า “ระเบียบเดิมกำลังผุกร่อน ระเบียบใหม่กำลังเข้ามา” เพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงและวิกฤตการณ์ใหม่ๆ มากมายในปัจจุบัน ซึ่งมหาอำนาจทั้งสหรัฐฯ จีน และรัสเซีย ต่างมียุทธศาสตร์ในการรับมือกับการเปลี่ยนทางอำนาจที่ต่างกันไป อย่างสหรัฐตั้งแต่รัฐบาลทรัมป์ ถึง โจ ไบเดน ต่างมองว่าจีนเป็นภัยคุกคามมากขึ้น และไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงที่สหรัฐฯ จะไม่ได้ประโยชน์ รวมถึงความพยายามสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศพันธมิตรมากขึ้น เพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่อินโด-แปซิฟิก

ส่วนยุทธศาสตร์จีนที่อิงตามคำพูดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการประชุมแชงกรีล่า ไดอะล็อก เมื่อวันที่ 10-12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ถึงท่าทีการตอบโต้สหรัฐฯ ที่กำลังขยายพื้นที่อิทธิพลเข้ามาในอินโด-แปซิฟิก และเน้นย้ำนโยบายจีนเดียวในกรณีของไต้หวัน โดยกล่าวว่าจีนพร้อมเจรจากับสหรัฐฯ แบบสันติ แต่หากอยากจะเผชิญหน้าก็พร้อมเช่นเดียวกัน

สหรัฐฯ ยังต้องเผชิญกับความท้าทายทางยุทธศาสตร์ทางการทหารของรัสเซีย ในสงครามยูเครนที่เกิดจากยุทธศาสตร์การบริหารอำนาจในเวทีการเมืองโลกของรัสเซีย ทั้งความพยายามในการแสดงตนเป็นอีกหนึ่งขั้วอำนาจ และการรวบรวมอำนาจบริเวณรอบข้างให้มากขึ้น ผ่านการอ้างตนเป็นชนชาติสลาฟที่ยิ่งใหญ่ รวมถึงการสั่งสอนชาติในพื้นที่ใกล้เคียงที่หันเข้าหาตะวันตกมากขึ้น อาทิ การใช้ทหารยึดพื้นที่ในยูเครน ทั้งนี้หมดนี้รัสเซียอ้างเหตุผลด้านภัยความมั่นคงจากนโยบายรับสมาชิกใหม่ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่เป็นการหักหลังความมั่นคงของรัสเซียหลังสงครามเย็น ซึ่งสังเกตุได้ว่าการทหารของรัสเซีย มีรูปแบบที่เปลี่ยนไปจากรูปแบบดั้งเดิมสู่รูปแบบการรบแบบผสมมากขึ้น

ในอีกทางหนึ่ง รัสเซียเลี่ยงที่จะใช้คำว่าประกาศสงครามกับยูเครนเพื่อหาความชอบธรรมในการบุกรุก แม้ว่าจะผิดระเบียบข้อตกลงระหว่างประเทศก็ตาม จิตติภัทรชี้ให้เห็นถึงนัยของสงครามที่ส่งผลต่อระเบียบโลกว่า สงครามยูเครนมีผลกระทบต่อกฎหมายระหว่างประเทศที่เกิดข้อถกเถียงเรื่องสงครามที่ชอบธรรมและการรุกล้ำอธิปไตย การเปลี่ยนดุลในยุโรปที่ NATO มีความแข็งแกร่งขึ้น รัฐที่เป็นกลางอย่างฟินแลนด์และสวีเดนพิจารณาการเข้าเป็นสมาชิก NATO เป็นผลเสียให้กับรัสเซีย การเกิดภาวะทรัพยากรขาดแคลนทำให้หลายประเทศต้องหันเข้าหาสกุลเงินรูเบิลของรัสเซียมากขึ้น อิทธิพลรัสเซียที่แข็งกร้าวขึ้นในยุโรปหลังวิกฤตการณ์ไครเมีย ทำให้หลายชาติตะวันตกยังลังเลที่จะคว่ำบาตรรัสเซีย และความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับจีนที่ดูจะใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่กลับอยู่ในลักษณะที่รัสเซียต้องพึ่งพาจีนและจีนก็ไม่ได้ความชัดเจนในการสนับสนุนรัสเซีย

สุดท้าย จิตติภัทรฝากถึง 4 ประเด็นที่จะเป็นข้อกังวลในการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบนี้คือ หนึ่งกับดักธูซีดิดีส หรือความหวาดระแวงของอำนาจเก่าที่กลัวการขึ้นมาของอำนาจใหม่ จากในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่เกิดกรณีศึกษาแบบนี้มาแล้ว 16 กรณี แต่มี 4 กรณีเท่านั้นที่จบลงด้วยสันติ สองความพร้อมของผู้นำที่จะบริหารบริการสาธารณะระหว่างประเทศ เช่น ค่าเงิน หรือสภาพการเงิน ซึ่งเคยเกิดจากกรณีล้มเหลวของผู้นำสหรัฐฯ ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลก สามกับดักความร่วมมือของประเทศขนาดกลางและเล็ก ที่จะร่วมมือกันถ่วงดุลมหาอำนาจ และสุดท้ายกับดัก AI ที่เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในการทหารและการเมือง ซึ่งความเสียหายอาจจะเกิดจากความผิดพลาดจากวิทยาการการคำนวนของคอมพิวเตอร์


ระเบียบโลกใหม่ที่อ่อนแอ

อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงธรรมชาติของมนุษย์ที่เมื่อช่วงอายุคนเปลี่ยนไป ความทรงจำก็เปลี่ยนไปเช่นกัน อย่าง เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันมีอายุ 45 ปี อาจจะไม่ได้มีความทรงจำร่วมเรื่องสงครามเย็น ในขณะที่คนไต้หวันในปัจจุบัน ที่เกิดและโตในไต้หวันก็ไม่ได้รู้สึกเกี่ยวข้องกับจีนแผ่นดินใหญ่ และความสามารถของมนุษย์ที่มองปัญหาที่เปลี่ยนไปเป็นความปกติใหม่ (new normal) คือ มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกับปัญหาเหล่านั้นให้ได้

อาร์มอธิบายถึงสภาพภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน ที่ไม่ได้เป็นตามความต้องการของจีนและสหรัฐฯ ทั้งในมุมมองของสหรัฐฯ เรื่องการเป็นมหาอำนาจเดี่ยวของโลกเสรี และมุมมองของจีนที่ต้องการให้โลกมีหลายขั้วอำนาจ แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นสองมหาอำนาจโลก มหาอำนาจเด่นอย่างสหรัฐฯ จึงพยายามจับขั้วกับชาติตะวันตกภายใต้แนวคิดสมาทานอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย หรือการเมืองแบบตะวันตก ส่วนจีนพยายามนำเสนอตัวเองว่าเป็นผู้นำของประเทศกำลังพัฒนา ที่ต่อสู้กับการเอารัดเอาเปรียบของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า การมีอำนาจของจีนจะถูกตีกลับหรือไม่

อาร์มยกตัวอย่างการผงาดขึ้นมามีอำนาจของญี่ปุ่นในช่วงปี 2523-2533 แต่ถูกสกัดด้วยนโยบายการแข่งขันของสหรัฐฯ ทำให้ปัจจุบัน ญี่ปุ่นมีขนาดเศรษฐกิจเพียง25% ของสหรัฐฯ แต่จีนมีปัจจัยที่แตกต่างไปจากญี่ปุ่น ทั้งเทคโนโลยี จำนวนประชากรที่มีมากกว่าสหรัฐฯ ถึง 4 เท่า และปัจจัยทางด้านกองทัพที่จีนมีกองทัพประชาชนอยู่เหนือการควบคุมของสหรัฐฯ ต่างจากญี่ปุ่น

ในขณะเดียวกัน  อาร์มยังชี้ให้เห็นถึงความอ่อนแอในระเบียบปัจจุบัน ที่ทุกคนต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ ทั้งสหรัฐฯ ที่ต้องพบกับภาวะเงินเฟ้อ และปัญหาความรุนแรงทางการเมืองที่ฝังรากภายในประเทศ จีนที่อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การเปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานทางการเมือง และปัญหาสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงยุโรปที่ต้องเผชิญเงินเฟ้อในสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ที่สุด ซึ่งความอ่อนแอและความล้มเหลวของมหาอำนาจเหล่านี้อาจจะส่งผลกระทบประเทศกำลังพัฒนาอีกด้วย

อีกหนึ่งปัญหาที่อาร์มกล่าวถึง คือ ระเบียบโลก 3 ชาชินในการแก้ปัญหาโรคระบาด สงคราม และเงินเฟ้อ ทั้งสามประเด็นกลายมาเป็นความชินชา แม้ว่าปัญหาทั้งสามจะแย่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งเงินเฟ้อที่สูงถึง 5% โควิด-19 ที่ยังกลายพันธุ์เรื่อยๆ ปัญหาสุขภาพของผู้ผ่านการติดเชื้อโควิด-19 ในระยะยาว และสงครามที่ส่งผลต่อภาวะขาดแคลนทรัพยากรทั่วโลก โดยโลกยังคงต้องอยู่กับปัญหาเหล่านี้ในระยะยาวต่อไป

ประเด็นถัดมาที่อาร์มได้กล่าวถึง คือ ความเสี่ยงต่อการเกิดสงครามร้อนทั้งในยูเครนและไต้หวัน ซึ่งอาจจะเกิดจากการประเมินที่ผิดพลาดของจีนและสหรัฐฯ ที่อาจมองว่าการเปิดสมรภูมิรบของตน มียุทธศาสตร์ที่พร้อมกว่าการโจมตีในอนาคต ซึ่งในกรณียูเครนเป็นการประเมินที่ผิดพลาดของทุกฝ่าย ทั้งรัสเซียที่คิดว่าสงครามจะจบโดยที่ยูเครนยอมจำนนต่อความเข้มแข็งของกองทัพรัสเซีย ส่วนสหรัฐฯ และยุโรปไม่คิดว่าการคว่ำบาตรรัสเซียจะไม่ประสบกับความสำเร็จ รวมถึงความเสี่ยงเรื่องผลกระทบจากสงครามที่ไม่คาดคิด ทั้งวิกฤตขาดแคลนอาหาร และการคว่ำบาตรที่ยืดเยื้อ

สุดท้ายอาร์มกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกที่เป็นดั่งสายลมเดิม จากการคำนวณตัวเลขและเหตุผล สู่การคำนวณผ่านภูมิรัฐศาสตร์ ยุทธศาสตร์ อันเป็นความคิดในการหาทางออกของการแข่งขันว่าถึงแม้จะต้องเสียหายเหมือนกัน แต่ใครจะเสียหายน้อยที่สุด ซึ่งเป็นแนวคิดที่อันตรายต่อระเบียบโลกใหม่อย่างมาก

 

ความเป็นไปได้ในการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3

ทั้ง สุรชาติ จิตติภัทร และอาร์ม ให้ความเห็นเกี่ยวกรณีโอกาสในการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ไว้ค่อนข้างต่างกัน ผ่านจุดร่วมเดียวกันคือความหลากหลาย และปัจจัยความร่วมมือระหว่างประเทศที่มากขึ้นกว่าในอดีต รวมถึงข้อจำกัดในการทำสงคราม และรูปแบบการรบที่หลากหลายกว่าการรบในสนามรบเช่นเดิม

สุรชาติเล่าเรื่องราวย้อนอดีตให้เห็นถึงฟางเส้นสุดท้ายของการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เอาไว้ว่า สงครามทั้งสองครั้งเกิดจากข้อขัดแย้งในพื้นที่พิพาท ทั้งซาราเยโวในสงครามโลกครั้งที่ 1 และดินแดนซูเดเทนของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 2 นำมาสู่ข้อกังวลที่ว่าอาจเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ทั้งนี้ ไต้หวันกับยูเครนจะกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ก่อให้เกิดสงคราม พร้อมคำถามที่ว่าหรือสงครามเย็นที่จบในปี 2534 จบจริง หรือเป็นเพียงการพักรบเหมือนช่วงเวลาปี 2462 – 2482 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 อันเป็นภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ที่ยังอยู่ในวังวนภูมิทัศน์เดิมของช่วงเวลาสงครามโลกทั้งสองครั้ง

จิตติภัทรพูดถึงปัจจัยของชนวนสงครามในแต่ละรัฐที่เกิดขึ้นไม่เหมือนกัน อย่างในสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ ไม่ได้เริ่มสงครามพร้อมกับในยุโรป และในปัจจุบัน สงครามยูเครนอาจมีหลายปัจจัยทั้งจากการที่รัสเซียอาจจะมองการเข้าร่วม NATO ของฟินแลนด์และสวีเดนเป็นการประกาศสงคราม หรือการที่ตะวันตกชวนยูเครนเข้า NATO แต่เงื่อนไขหลังสงครามเย็นกลายเป็นข้อจำกัดในการเกิดสงคราม ทั้งอาวุธนิวเคลียร์ การพึ่งพาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และข้อจำกัดที่เกี่ยวกับท่าทางระหว่างรัฐ

รวมถึงรูปแบบสงครามที่ไม่ได้อยู่ในสนามรบอย่างเดียว แต่รวมถึงสงครามทางสื่อโซเชียลมีเดียอีกด้วย จิตติภัทรเสนอว่า หากจะหาข้อยุติของสงครามในครั้งนี้ ทั่วโลกคงต้องร่วมมือกันหาคำตอบว่าแต่ละฝ่ายต้องการอะไร จะหาทางลงอย่างไร ผู้นำของแต่ละประเทศตอบโจทย์การปกครองแค่ไหน การเมืองระหว่างประเทศจึงควรทำให้กฎหมายระหว่างประเทศมีเป้าหมายที่มีคุณค่า มีแรงดึงดูด มีสิทธิในการตีความ และเข้าใจความเป็นไปได้ว่าไม่มีทางที่ทุกคนจะคิดเหมือนกัน

อาร์มมีความเห็นต่อกรณีไต้หวัน-จีน ว่าทั้งไต้หวัน จีน และสหรัฐฯ ต่างมีแนวคิดที่ต่างกัน แต่มีความเห็นร่วมที่ว่าปัญหาในตอนนี้ ยังไม่จำเป็นต้องใช้ยุทธศาสตร์การรบ แต่นโยบายฉลอง 100 ปีรวมชาติของจีนในปี 2593 จะทำให้เรื่องการรวมชาติยังคงส่งผลกระทบต่อไต้หวัน จากคำพูดของพรรคก๊กมินตั๋งในอดีตที่กล่าวว่ากิจการภายในไต้หวันคือกิจการภายในของจีน แต่ในยุคของไช่อิงเหวินในปัจจุบัน มีการมองอำนาจอธิปไตยของไต้หวันตัดขาดออกจากจีน

ในด้านของสหรัฐฯ ไมค์ ปอมปีโอ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยุคทรัมป์ และว่าที่ผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2567  ได้ประกาศหนึ่งในนโยบายว่า สหรัฐฯ จะประกาศความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน และแนวโน้มนโยบายของสหรัฐฯ ในกรณีจีน-ไต้หวันจะแข็งกร้าวขึ้นทุกวัน ทำให้ความเสี่ยงของการเกิดสงครามเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทั้งหมดที่ว่าสงครามจะเกิดเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับท่าทีของผู้นำทั้งจีน ไต้หวัน และสหรัฐ ที่ต้องคอยถ่วงดุลกันไม่ให้เกิดสงคราม

 

บทบาทของไทยในระเบียบโลกใหม่

สุรชาติ จิตติภัทร และอาร์ม มีความคิดเห็นเกี่ยวกับบาทหน้าที่ของไทย ในสถานการณ์การแบ่งขั้วอำนาจการเมืองในขณะนี้ ผ่านนโยบายทางการทูตไทยที่มีมาตั้งแต่อดีต ซึ่งมีลักษณะไผ่ลู่ลม คือ สามารถเอนเอียงไปได้ในสถานการณ์ความขัดแย้ง แต่ในเวลานี้ นโยบายระหว่างประเทศของไทยได้เปลี่ยนไปอีกครั้ง อันเป็นผลมาจากการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557

สุรชาติ ให้ความคิดเห็นเอาไว้ว่า ทางที่ไผ่ลู่ลมอย่างไทยจะอยู่รอดได้ ขึ้นอยู่กับผู้นำว่าจะมีความคิดความเข้าใจเกมการเมืองโลกแค่ไหน เพราะไผ่จะลู่ลมหรือไม่ ขึ้นอยูกับนโยบาย แต่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือเป็นความล้มเหลวทางการวางแผนนโยบายที่ไม่มีความยืดหยุ่น ท่ามกลางกระแสการเมืองโลกที่ผันผวนแปรเปลี่ยนไปในทุกวัน ไผ่ที่เคยลู่ลมก็อาจกลายเป็นไผ่ที่ยืนต้นตาย

จิตติภัทรกล่าวถึงสภาพนโยบายทางการทูตไทย ที่เคยเป็นไผ่ลู่ลมว่าตอนนี้เป็นไผ่ที่ปลิวไปตามลมเพราะไร้ราก เนื่องจากนโยบายทางการทูตไทยอาจไม่ตอบโจทย์ผลประโยชน์แห่งชาติ และการคาดการณ์คำนวณเครื่องมือทางการทูตที่เพียงพอต่อการดำเนินนโยบาย และที่สำคัญนั้น ท่าทีของรัฐบาลภายใต้ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่ปี 2557 มีความเอนเอียงไปทางจีน เนื่องจากเงื่อนไขทางการเมืองที่ไม่ชอบด้วยประชาธิปไตย แม้ว่าต่อมารัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ไบเดนเริ่มดำเนินการเชิงรุกเข้ามาหาความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก ไทยกลับถูกดึงไปเล่นเกมการเมืองนี้มากขึ้น ผ่านการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯ อีกครั้ง

จิตติภัทรแสดงความกังวลต่อไหวพริบในการเล่นเกมการเมืองกับทั้งมหาอำนาจทั้งสองว่า ไทยควรลดการใช้นโยบายการป้องกันความเสี่ยงทางการทูตที่ไร้เป้าหมาย มาเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ยืดหยุ่นและตอบสนองผลประโยชน์ภายในที่ต้องทันโลก มีเป้าหมาย และสามารถเล่นบทบาทในเวทีการเมืองระดับต่างๆ โดยทั้งหมดขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านศักยภาพของผู้นำ นวัตกรรมต่างๆ ที่จะนำเสนอต่อประเทศมหาอำนาจ และความร่วมมือระดับเล็ก เพื่อผลักดันการต่อรองกับรัฐใหญ่ หาวิถีทางพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เพราะวิกฤตที่แปรผันมากมายนั้น บางปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นภายใต้พรมแดนของประเทศเดียว การวางแผนนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาและร่วมมือระหว่างประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญ

อาร์มมีข้อเสนอว่าไทยไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง เพราะในหลายๆ ประเทศที่เข้าข้างสหรัฐฯ ก็มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน อย่างออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่มีคู่ค้าอันดับหนึ่งเป็นจีน ไทยจึงจำเป็นต้องคิดยุทธศาสตร์ที่มีความชัดเจนว่าต้องการอะไร มีอำนาจต่อรองกับประเทศต่างๆ มากแค่ไหน รวมถึงไม่จำเป็นต้องยึดโยงอยู่กับขั้วอำนาจเพียงแค่สองขั้วนี้ ไทยต้องมองโลกให้กว้างขึ้น กระจายความเสี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทั้งสองขั้วอำนาจ ผ่านการรับรองของประเทศที่ 3 โดย อาร์มให้ความคิดเห็นว่า ไทยจะเกาะโลกโตไม่ได้แล้ว เราต้องหาจุดเติบโตภายในให้มากขึ้น เพื่อให้อยู่รอดในความผันผวนของโลกปัจจุบัน

ท่ามกลางคำถามที่เกิดขึ้นมากมายในยุคที่โลกกำลังเข้าสู่การจัดระเบียบครั้งใหม่ ซึ่งต้องเผชิญกับความผันผวนตลอดเวลา นโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงเป็นยุทธศาสตร์หลัก ที่จะช่วยไทยต่อรองและผลักดันประเด็นต่างๆ ในเวลาที่โลก นำมาซึ่งคำถามที่ว่าไทยให้ความสำคัญกับนโยบายทางการทูตมากพอแล้วหรือยัง และภายใต้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ไทยต้องสูญเสียโอกาสทางการทูตไปมากเพียงใดจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 


เรียบเรียงโดย ปรีชญา บุญมี