ไม่พบผลการค้นหา
“มดน้อยสามารถช่วยเหลือพญาราชสีห์ได้” คือคำพูดยกย่องจีนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย มันอาจเป็นร่องรอยของการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของไทยต่อจีน ประเทศคอมมิวนิสต์ที่กำลังถูกโลกจับตาว่าเป็นภัยต่อความเป็นประชาธิปไตย

ประเทศไทยเข้าสู่วงจรอุบาทว์ของการรัฐประหาร และการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน การถูกคว่ำบาตรและประณามจากชาติประชาธิปไตยในช่วงแรกก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 ผลักดันให้ผู้นำเผด็จการเลือกหันหน้าเข้าใกล้ชิดกับจีนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเผด็จการเดียวกันนี้พยายามสร้างความชอบธรรมและการยอมรับตามระบอบประชาธิปไตยตะวันตกผ่านการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้ประเทศดูเหมือนจะมีประชาธิปไตยตามครรลองโลก เหล่านี้ล้วนเป็นผลลัพธ์ของการหาที่อยู่ที่ยืนของไทยบนเวทีโลก ซึ่งขับเคี่ยวกันด้วยความขัดแย้งทางอุดมการณ์ เพราะมันไม่มีจุดกึ่งกลางของอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยกับเผด็จการคอมมิวนิสต์

000_1FY57X.jpg

ไทย (เคย) โชคดีที่โลกหันขวา

ไทยกับสหรัฐฯ สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตตั้งแต่ พ.ศ.2376 และจีนคอมมิวนิสต์ใน พ.ศ.2518 ความสัมพันธ์ของไทยกับทั้งสองชาติมหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจดำเนินมาในลักษณะการถ่วงดุลตามอัตภาพ อย่างไรก็ดี การดุลอำนาจของไทยเริ่มโน้มเอียงไปในทางจีนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในระลอกล่าสุด

ในปี 2557 สหรัฐฯ ตัดความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจทันทีหลัง คสช.ยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คสช.ก่อนแปลงรูปมาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้กลไกรัฐธรรมนูญ 2560 พยายามหาความชอบธรรมผ่านการยอมรับบนเวทีโลก ชาติมหาอำนาจไม่กี่แห่งที่พร้อมอ้าแขนรับรัฐบาลเผด็จการไทยคงหนีไม่พ้นจีนซึ่งปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์

รัฐบาลสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยจัดการเลือกตั้งหลังการรัฐประหารมาโดยตลอด ขณะที่จีนกล่าวอ้างว่าจะไม่แทรกแซงการเมืองในประเทศอื่น ข้ออ้างเช่นนี้เป็นเสมือนเครื่องค้ำยันจีนกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในประเทศตนเอง แต่ทุกอย่างกลับเปลี่ยนไปเมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ในปี 2560

การกดดันจากต่างชาติ เป็นอีกหนึ่งตัวแปรต่อการกำหนดนโยบายทางการเมืองและการทูตของไทย ตั้งแต่ต้นปี 2560 มาจนถึงปลายปี 2563 ไทยได้รับประโยชน์ทางการเมืองจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนภายใต้สงครามการค้า โลกกลับหันไปให้ความสนใจในเรื่องการค้ามากกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์มีแนวนโยบายที่ไม่ให้ความสนใจกับปัญหาเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนเท่ารัฐบาลชุดก่อนๆ

000_9UB8A4.jpg

แต่ดูเหมือนไทยอาจต้องพิจารณาปรับท่าทีของตนเอง หลังจาก โจ ไบเดน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ตั้งแต่ต้นปี 2564 ภายใต้การประกาศทวงคืนตำแหน่งผู้นำโลกด้านประชาธิปไตย ซึ่งถดถอยลงไประหว่าง 4 ปีที่ผ่านมา ไบเดนยังเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่จัดการประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย (Summit for Democracy) สร้างความไม่พอใจให้แก่จีน และไทยก็ไม่ถูกเชิญให้เข้าร่วมประชุม มันอาจกำลังฟ้องถึงการวางตำแหน่งความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ ที่มีต่อไทยซึ่งยังคงไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ

ประชาธิปไตย คำเดียวสองความหมาย (?)

สหรัฐฯ ภายใต้การนำของไบเดนกำลังประกาศทวงบทบาทนำบนเวทีโลก โดยเฉพาะการเป็นผู้นำทางด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แนวทางดังกล่าวกดดันจีนอย่างหนักในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่จีนละเมิดมาอย่างต่อเนื่อง

“การเป็นผู้นำและการมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ นั้นสำคัญ เราได้ยินมาจากมิตรของเรา พวกเขายินดีที่เรากลับมา ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ โลกใบนี้ไม่สามารถบริหารจัดการตัวมันเองได้ เมื่อสหรัฐฯ ถอยออกไป” แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ แถลงนโยบายต่างประเทศต่อประชาชน

“หนึ่งในสองสิ่งนี้อาจเกิดขึ้น คือ มีประเทศหนึ่งพยายามชิงพื้นที่ของเราไป แต่ไม่ใช่ในแนวทางเพื่อการยกระดับผลประโยชน์และคุณค่าของพวกเรา หรือแย่กว่านั้นคือ ไม่มีใครก้าวขึ้นมานำเลย และหลังจากนั้น เราจะเจอกับความโกลาหลและความอันตราย ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง มันย่อมไม่ดีต่อสหรัฐฯ”

คำพูดของบลิงเคนสื่อโดยนัยอย่างชัดเจนว่า ผู้ก้าวขึ้นมาแทนสหรัฐฯ ช่วงก่อนหน้านี้หนีไม่พ้นจีนที่ขยับขยายอำนาจของตนไปในทั่วทุกมุมโลก ไม่เว้นแม้แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะโครงการลงทุนต่างๆ ทั้งในเวียดนาม ลาว กัมพูชา รวมถึงไทย

หวาง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวในแถลงการณ์ถึงความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนว่า “จีนเป็นประเทศที่สนับสนุนและส่งเสริมประชาธิปไตยมาโดยตลอด ตลอดเวลาที่ผ่านมาแสนนาน ประเทศตะวันตกได้บิดพริ้วและทำให้คุณค่าประชาธิปไตยของจีนถูกเข้าใจผิดอย่างรุนแรง ในความเป็นจริง ประชาธิปไตยไม่ใช่สิทธิบัตรของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นคุณค่าร่วมกันของมวลมนุษยชาติ” ทั้งนี้ จีนกำหนดความหมายของความเป็นประชาธิปไตยเอาไว้ที่การทำงานของพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อประชาชนในประเทศ มิใช่การเลือกตั้งตามครรลองโลกเสรีนิยม

หากพูดกันโดยอุดมการณ์แล้ว ไทยเองยังคงห่างไกลจากการเป็นชาติประชาธิปไตยในความหมายของสหรัฐฯ ที่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในขณะที่ความหมายประชาธิปไตยแบบจีนๆ อาจสอดคล้องกันกับประชาธิปไตยแบบไทยๆ มากกว่า 

ประชาธิปไตยในฐานะข้ออ้าง

ชุดความคิดประชาธิปไตยแบบจีนสะท้อนออกมาในรูปแบบของอุดมการณ์ชาตินิยมจีน กล่าวคือ จีนพยายามเปลี่ยนปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นประเด็นไร้พรมแดน และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ให้กลายร่างไปเป็นปัญหาภายในของตน ทั้งประเด็นซินเจียงอุยกูร์ ทิเบต ฮ่องกง และความขัดแย้งกับไต้หวัน การที่สหรัฐวิจารณ์จีนจึงกลายเป็นการแทรกแซงอำนาจอธิปไตยในความหมายของจีนไปโดยปริยาย

สหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาดังกล่าวของจีน ทั้งในรูปแบบของการคว่ำบาตรไม่ส่งนักการทูตเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวของจีน การแบนสินค้าจากมณฑลซินเจียง ตลอดจนการส่งเรือรบแล่นผ่านช่องแคบไต้หวันและพื้นที่ทะเลจีนใต้ ที่จีนอ้างอธิปไตยเหนือเขตแดนทางทะเล ในขณะที่สหรัฐฯ อ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นน่านน้ำสากล ซึ่งจีนไม่มีสิทธิอ้างการครอบครองไว้แต่เพียงผู้เดียว

000_8T649L.jpg

ประเทศไทยภายใต้รัฐเผด็จการไม่สามารถจัดวางความสัมพันธ์ของระหว่างตนกับมหาอำนาจทั้งสอง ท่ามกลางความสับสนทางอุดมการณ์ทางการเมืองของไทยเอง ขณะที่สหรัฐฯ กำลังรักษาระยะห่างกับไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ไทยเรียกสหรัฐฯ ว่าเป็น “มิตรเก่าแก่” แต่นโยบายของไทยกลับใกล้ชิดกับจีนมากยิ่งขึ้น ด้วยวาทกรรม “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”

พูดในอีกแง่หนึ่ง ไทยจัดวางตัวเองอยู่แค่การมีความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่าง ไทย-สหรัฐฯ และไทย-จีน โดยไทยไม่มีบทบาทอื่นใดในระดับภูมิภาค นอกจากการโอนอ่อนผ่อนตามมหาอำนาจเพื่อเอาตัวรอดบนเวทีโลก ซ้ำร้าย ความใกล้ชิดกับจีนของไทย กำลังบ่มเพาะทำลายความสัมพันธ์ที่ตนมีกับสหรัฐฯ ที่ยังคงถือครองความเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคและโลก

อาร์น คิสเลนโก นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Ryerson ลงความเห็นว่า “ไทยถือแนวทางเชิงปรัชญาที่มีมาอย่างช้านานในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” ซึ่ง "หยั่งรากอย่างมั่นคงเสมอ" แต่ “ยืดหยุ่นพอที่จะโค้งงอได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตามเพื่อที่จะอยู่รอด” คำอธิบายดังกล่าวอธิบายให้เห็นภาพความสัมพันธ์ของไทยกับจีนและสหรัฐฯ ในฐานะ “การทูตแบบไผ่ลู่ลม” (bamboo diplomacy) ได้อย่างชัดเจนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่นิยามดังกล่าวกำลังเปลี่ยนไปภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน

รัฐบาลไทยไม่ได้มองว่าคอมมิวนิสต์จีนเป็นภัยต่อความมั่นคงอีกแล้ว อย่างน้อยๆ ก็ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2520 มิหนำซ้ำ ตั้งแต่ คสช.ทำการรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2557 ตลอดจนการสืบทอดอำนาจของเผด็จการมาจนถึงยุคปัจจุบัน ทางรอดเดียวของไทยคือการมีที่ทางและถูกยอมรับบนเวทีโลก ซึ่งจีนพร้อมต้อนรับและให้ที่ยืนแก่ไทย

ขณะเดียวกัน วาทกรรมเกลียดกลัวคอมมิวนิสต์ที่ถูกฝังรากลงลึกในสังคมไทย กับความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเย็น สร้างภาวะอิหลักอิเหลื่อให้แก่รัฐบาลไทยชุดปัจจุบัน 

ทางเลือก (แล้ว) ของไทย: ห่างเหินสหรัฐฯ สนิทสนมจีน

ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 รัฐบาลไทยเริ่มมีการดำเนินนโยบายที่ถอยห่างออกจากสหรัฐฯ มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็กลับใกล้ชิดกันจีนมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการทูตด้านวัคซีนทั้งการสั่งซื้อและการรับบริจาควัคซีนเชื้อตาย อย่างไรก็ดี รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงใช้วาทศิลป์แสดงความใกล้ชิดที่ไทยมีต่อทั้งสองมหาอำนาจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว แนวนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลไทยโน้มเอียงไปทางฝั่งจีนอย่างชัดเจน

ปัจจุบันนี้ ยังคงไม่มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ คนใดเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ข่าวดีเมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมาที่ว่า บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีแผนจะเยือนไทยอย่างเป็นทางการ กลับถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยสหรัฐฯ อ้างเหตุผลของการยกเลิกการเดินทางเยือนไทยว่า เกิดจากเจ้าหน้าที่ 2 รายในคณะเดินทางของบลิงเคนติดโควิด-19 ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่คณะจะบินจากมาเลเซียมายังไทย

3A2FD570-147B-4FAD-AC67-BEEB8CBE1658.jpeg

สหรัฐฯ ยังคงไม่ส่งเอกอัครราชทูตมาประจำยังไทย มีเพียงแต่ ไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตเท่านั้นที่ประจำอยู่ ในทางตรงกันข้าม จีนได้ส่ง หาน จื้อเฉียง มาเป็นเอกอัครราชทูตจีนประจำไทยเมื่อช่วงเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ระดับการทูตที่ทั้งสองมหาอำนาจจัดส่งให้ไทย บ่งบอกได้ถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองและทางการทูตอย่างชัดเจน

รศ.จิตติภัทร พูนขำ อาจารย์สาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุในข้อเขียน “The bamboo breaks: Thailand’s diplomatic challenge” ที่เผยแพร่ลงใน Australian Strategic Policy Institute ว่า ความสัมพันธ์ของไทยกับสหรัฐฯ ในปัจจุบันแตกต่างกันกับความสัมพันธ์ในช่วงสงครามเย็น ที่ทั้งสองเคยมีอัตลักษณ์และผลประโยชน์จากการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไทยไม่พยายามหลีกเลี่ยงการเลือกข้าง แต่กลับค่อยๆ “โน้มตัวอย่างมากขึ้นและบ่อยขึ้น” ไปยังจีน

พล.อ.ประยุทธ์ และ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนว่าเป็น “ครอบเดียวเดียวกัน” สหรัฐฯ ในฐานะพันธมิตรเก่าแก่ถูกแทนที่โดยจีน โดยเฉพาะด้านการค้าอาวุธที่ไทยซื้อจากจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งรถถัง เรือดำน้ำ และระบบหัวจรวด ยังไม่นับรวมถึงการซ้อมรบประจำร่วมกันระหว่างไทย-จีนที่เข้ามาแทนที่การซ้อมรบระหว่างไทย-สหรัฐฯ โดยเฉพาะหลักสูตร Cobra Gold ที่ถูกลดความสำคัญลงไป เพราะศัตรูของสหรัฐฯ อย่างคอมมิวนิสต์จีน กลับไม่ใช่ศัตรูร่วมของไทยอีกต่อไป

000_1PE50U.jpg

ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็น 1 ใน 3 ผู้ลงทุนใหญ่โดยตรงของไทยตั้งแต่ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 แต่กลับไม่สามารถเทียบเท่าการลงทุนผ่านยุทธ์ศาสตร์ One Belt One Road ของจีนได้ อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันระหว่างไทยกับจีน ไม่ได้แปรผันตามการค้าที่มี โดยจากสถิติของกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2564 ไทยขาดดุลการค้าจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งกว่า -854,106 ล้านบาท ในขณะที่ไทยได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ ราว 775,108 ล้านบาท

ความสัมพันธ์ทางการค้าของไทยกับจีนกำลังผูกพันและแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยหากพิจารณาจากการค้านั้น ไทยส่งออกสินค้าไปยังจีนซึ่งเป็นประเทศส่งออกมากสุดของประเทศกว่า 12.29 เปอร์เซ็นต์ และนำเข้าสินค้าจากจีนที่ 20.16 เปอร์เซ็นต์ เทียบกันไม่ติดจากสหรัฐฯ ที่ไทยส่งออกสินค้าอยู่ที่ 10.75 เปอร์เซ็นต์ และนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพียงแค่ 5.82 เปอร์เซ็นต์

ยิ่งไปกว่านั้น จีนเพิ่งแซงหน้าญี่ปุ่นกลายเป็นชาติที่มีการลงทุนโดยตรง (FDI) เข้ามายังไทยมากที่สุด ซึ่งคิดเป็นอัตราการลงทุนที่มากกว่าสหรัฐฯ ในไทยถึง 13 เท่าตัว โดยการลงทุนส่วนใหญ่ของจีนในไทย เกิดขึ้นจากการลงทุนในภาคโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลไทย เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง สัญญาณ 5G ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่จีนลงทุนในไทย จะย้อนไปส่งผลประโยชน์ให้แก่ทางรถไฟฟ้าความเร็วสูง ไทย-ลาว-จีน นำเม็ดเงินไหลผ่านตลอดเส้นทางผ่านทั้งสามประเทศเข้าภาคเอกชนของจีนโดยตรง

นั่นชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลไทยไม่ได้เลือกข้างบนปัจจัยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่โน้มเอียงไปถึงการยอมรับรูปแบบรัฐเผด็จการ และหลีกหนีทิ้งห่างจากคุณค่าความเป็นประชาธิปไตยอันเป็นสากลมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ความเหินห่างเหล่านี้กำลังทำให้ไทยหมดความสำคัญในสายตาสหรัฐฯ มากขึ้น ทั้งนี้ ไบเดนไม่ได้ระบุถึงไทยเลยจากการแถลงยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงแห่งชาติเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา

ในช่วงปี 2565 ที่จะถึงนี้ ไบเดนเตรียมการเสนอยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก หลังจากสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากความตกลง Trans-Pacific Partnership (TPP) จนกลายมาเป็น Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ที่ไม่มีสหรัฐฯ ร่วมด้วย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง กับชาติพันธมิตรอย่างอินเดีย ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รวมถึงชาติตลอดฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดียที่จะหนีไม่พ้นอาเซียนและไทย ซึ่งมีจุดภูมิรัฐศาสตร์ตั้งอยู่ตรงกลางของภูมิภาคดังกล่าว อย่างไรก็ดี ยังไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากทางการสหรัฐฯ พูดคุยในประเด็นยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก กับทางการไทย

000_9UL7T2.jpg

ผลเสียที่จะตามมาของไทยหากใกล้ชิดจีนมากจนเกินไปคือ ภายใต้แนวโน้มรัฐบาลของไบเดนที่ให้สำคัญกับความเป็นประชาธิปไตยควบคู่ไปกับความเชื่อเรื่องตลาดเสรี สหรัฐฯ อาจไม่กีดกันทางการค้าไทย แต่ไทยมีความเสี่ยงจะตกขบวนจากกรอบยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ เฉกเช่นกับที่ตนเองเคยตกขบวนข้อตกลง TPP อีกครั้ง ในขณะที่จีนซึ่งไทยเข้าใกล้ชิดด้วยนั้น กำลังครอบงำเศรษฐกิจไทยทั้งการนำเข้า-ส่งออก ตลอดจนการลงทุนโดยตรงซึ่งเกี่ยวเนื่องกับโครงการของรัฐบาลไทย ที่จะมีผลผูกพันทั้งนโยบายและหนี้สินแก่ประชาชนชาวไทยไปโดยปริยาย

ไทยเคยใช้การทูตไผ่ลู่ลมโอนอ่อนผ่อนตามมหาอำนาจต่างๆ เพื่อหาสมดุลบนเวทีโลก แต่ปัจจุบัน ไทยกำลังเลือกข้างอย่างชัดเจน รศ.จิตติภัทรเสนอว่า ไทยกำลังเจอกับทางสามแพร่ง คือ การขึ้นมามีอำนาจของจีนทั้งในด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ ความถดถอยของสหรัฐฯ ในด้านความแข็งแกร่งและความมุ่งมั่นเชิงยุทธศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และความไม่ชัดเจนในจุดยืนตลอดจนทางเลือกข้างทางยุทธศาสตร์ของไทยหลังรัฐประหาร

การครองอำนาจนำระบบโลก

จอห์น เมียร์ไชเมอร์ นักรัฐศาสตร์ชื่อดังจากมหาวิทยาลัยชิคาโกเสนอว่า รัฐมหาอำนาจย่อมพยายามแสวงหาอำนาจนำเหนือรัฐอื่นในระบบระหว่างประเทศ สหรัฐฯ ที่เคยเป็นมหาอำนาจหลักในช่วงหลังสงครามโลก ที่ตีคู่แข่งกันมากับสหภาพโซเวียต กำลังเจอกับมหาอำนาจหน้าใหม่อย่างจีน ซึ่งเคยถูกปลุกปั้นโดยสหรัฐฯ เองในช่วงทศวรรษที่ 2510 เพื่อคานอำนาจกับสหภาพโซเวียต หลังสองชาติคอมมิวนิสต์แตกคอกันเอง

ขณะที่สหภาพโซเวียตถดถอยและยุบตัวลงเมื่อปี 2534 จีนได้เริ่มพัฒนาตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ และเปิดรับการพัฒนาประเทศด้วยระบบทุนนิยม โดยเฉพาะภายใต้ยุคของ เติ้ง เสี่ยวผิง ประเทศคอมมิวนิสต์ทุนนิยมหน้าใหม่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด จนเศรษฐกิจขึ้นมาแซงหน้าชาติอื่นๆ ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ในขณะที่จีนกำลังดื่มด่ำอยู่กับระบอบทุนนิยม พวกเขากลับปฏิเสธการพัฒนาระบบการเมืองตามคุณค่าเสรีนิยม เพราะคุณค่าทางเสรีนิยมย่อมสั่นคลอนการปกครองเผด็จการพรรคเดียวของจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

000_1S16HF.jpg

การเติบโตทางเศรษฐกิจจีน ทำให้จีนสามารถส่งอิทธิพลทางเศรษฐกิจ แทรกแซงกิจการภายในรัฐอื่นๆ ผ่านการลงทุนในโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการ One Belt One Road ไทยเองยังคงเป็นอีกหนึ่งในเส้นทางผ่านของยุทธศาสตร์การลงทุนขนาดยักษ์ของจีน ในขณะที่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า หลายประเทศที่เปิดรับการลงทุนจากจีนกำลังติดหนี้สินล้นพ้นตัวจากจีนเอง จนทำให้จีนสามารถครอบงำประเทศอื่นได้อย่างแนบเนียน

ขณะที่สหรัฐฯ จะประกาศแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของตน ที่จะอาจมีความชัดเจนมากขึ้นในปีหน้านี้ โดยจะเป็นยุทธศาสตร์ครอบคลุมพื้นที่ทางเศรษฐกิจทั้งสองฝั่งมหาสมุทร หรือคิดเป็นสัดส่วนการค้าทางทะเลกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของโลก

การขยายตัวของการลงทุนจากจีนเข้ามาในไทยและประเทศอื่นๆ ปรากฏในรูปแฝงของการครอบงำทางเศรษฐกิจ ไม่แตกต่างจากข้อหาที่จีนมอบให้แก่สหรัฐฯ เรื่องการครอบงำนิยามประชาธิปไตย ในขณะที่ไทยเองยังคงไม่มีท่าทีที่เป็นตัวของตัวเองในการกำหนดนโยบายระหว่างประเทศ มิหนำซ้ำกลับจะโอนอ่อนผ่อนตามจีนในฐานะรุ่นน้องของรุ่นพี่มากขึ้นเรื่อยๆ

จากรายงาน China-US Competition: Measuring Global Influence ของ Atlantic Council เผยว่า เมื่อเปรียบเทียบอิทธิพลของจีนต่อภูมิภาคต่างๆ ในโลกกับสหรัฐฯ ด้วย Formal Bilateral Influence Capacity (FBIC) ของศูนย์วิจัยเพื่อการระหว่างประเทศในอนาคต Frederick S. Pardee พบว่า จีนกำลังส่งอิทธิพลต่ออาเซียนเหนือสหรัฐฯ ขึ้นเรื่อยๆ

ระหว่างปี 1992 กับ 2020 หลายประเทศที่เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ ซึ่งคำนวนจากตัวชี้วัดทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร ฯลฯ กลับพลิกไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังอาเซียนและจีนทำข้อตกลงการค้าเสรีสำเร็จเมื่อราวต้นทศวรรษที่ 2000 ในขณะที่สหรัฐฯ เริ่มลดบทบาทในอาเซียนลงตั้งแต่ 2008 จากการลดความสำคัญของภูมิภาคอาเซียนลง นี่คือหลักฐานชี้ชัดว่า จีนกำลังถืออิทธิพลเหนือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไทยเองที่มีนโยบายใกล้ชิดเป็นพิเศษก็หนีไม่พ้นด้วย

1.jpg

คำถามที่สำคัญต่อมาคือ แล้วไทยอยู่ตรงไหนในการจัดวางภูมิทัศน์ทางการเมืองโลกใหม่นี้ จีนพยายามนำเสนอภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจ โดยไม่คำนึงถึงปัญหาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน สอดคล้องกันกับไทยเองที่ท่าทีการบริหารราชการแผ่นดินที่สอดรับไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งขัดแย้งกันกับสหรัฐฯ ที่กำลังกลับมาแสดงบทบาทของตนเองบนเวทีโลก ด้วยการชูประเด็นประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนยังคงเป็นประเด็นสำคัญในการสร้างฐานความชอบธรรม และการมีปฏิสัมพันธ์บนเวทีนานาชาติ

ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงพยายามนำเสนอรายงานประเด็นสิทธิมนุายชน ผ่านรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยตามกลไก Universal Periodic Review (UPR) เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา โดยกระทรวงการต่างประเทศไทยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยว่า รัฐบาลไทยมีการรับฟังความคิดเห็น ส่งเสริมสิทธิของประชาชน และพร้อมรับฟังคนรุ่นใหม่ ในขณะที่ความเป็นจริงแล้ว ไทยเองกลับจับกุมคุมขังนักเคลื่อนไหวและเยาวชนเข้าเรือนจำโดยไม่มีความผิดสูงสุดเป็นประวัติการณ์

จากการคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า โลกของเราอาจเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงปลายปี 2565 หากทุกประเทศสามารถฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรของตนได้ประเทศละอย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ สถานการณ์โควิด-19 ที่อาจดีขึ้นในปีหน้า จะเป็นแรงขับให้ชาติมหาอำนาจทั้งสองเริ่มขยายอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจมากขึ้น

นอกจากสิ่งที่ต้องจับตาอย่างยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่สหรัฐฯ จะประกาศในปีหน้า ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญจากสหรัฐฯ ที่จะเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทย ในการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ทางความสัมพันธ์ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการทูตใหม่แล้วนั้น ปัญหาการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในเรื่องเทคโนโลยี ความเป็นอยู่ที่ดี มาตรการสาธารณสุขระดับภูมิภาค ยังจะเป็นตัวกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังคงคาดเดาได้ยากว่าจะเกิดผลลัพธ์อย่างไร แต่ที่แน่ๆ นั้น ผลลัพธ์ดังกล่าวย่อมส่งผลกระเทือนมายังไทยอย่างหลีกหนีไม่ได้

000_9V78HN.jpg

สหรัฐฯ ยังคงขับเน้นประเด็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่เป็นชุดวาทกรรมหลักของโลกเสรี การละเมิดสิทธิมนุยชนในจีน ทั้งประเด็นซินเจียงอุยกูร์ ทิเบต ฮ่องกง และไต้หวัน ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่จะกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจในปีหน้า ซึ่งชาติอื่นๆ ทั่วโลกจำต้องวางท่าทีและกำหนดนโยบายในทันทิศทางของลมให้ได้

อย่างไรก็ดี มหาอำนาจทั้งสหรัฐฯ และจีนยังคงแย่งชิงอิทธิพลของตนเหนืออาเซียน ในขณะที่ทั้งสองเองก็ต้องจัดวางท่าทีของตนต่อประเด็นความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ที่มีตัวละครจากอาเซียนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เช่นเดียวกันกับปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังจากการรัฐประหารในเมียนมา และไทยเองกลับมีความใกล้ชิดกับกองทัพเมียนมา

สิ่งที่ไทยควรจะให้ความสำคัญ คือ การกลับไปถือนโยบายรักษาความเป็นกลางและผูกมิตรกับชาติทั้งสอง การออกตัวโดยแสดงความเป็นมิตรต่อจีนที่ล้นเกิน กำลังทำให้การเมืองและเศรษฐกิจไทย ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลกถูกกระแสลมของความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ พัดโหมกระหน่ำจนเกิดกลายเป็นโทษมากกว่าประโยชน์ได้

โลกยังคงขับเคี่ยวไปด้วยแข่งขันกันในทางอุดมการณ์ประชาธิปไตย ที่ชาติเผด็จการเองกลับปฏิเสธคุณค่าเหล่านี้ไม่ได้ จนต้องพยายามหาศัพท์แสงและชุดคำอธิบายใหม่ๆ ให้แก่ประชาธิปไตยในแบบของตัวเอง สิ่งที่น่าพิจารณาคือ ไทยกำลังใกล้ชิดกับจีนมิใช่เพียงเพื่อแสวงหาการยอมรับบนเวทีโลกที่กำลังเกิดการแข่งขันกันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดนี้ อาจเป็นร่องรอยที่กำลังบอกว่า รัฐบาลไทยกำลังแสวงหาความชอบธรรมของระบอบการสืบทอดอำนาจภายในประเทศตนเอง