กลายเป็นเรื่องน่าจับตาขึ้นมาทันที หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ขอคำตอบจากอัยการสูงสุด กรณีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพุทธะอิสระ ยื่นคำร้องผ่านอัยการสูงสุดขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาเพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง ถือเป็นการสิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
โดยผู้ร้องระบุว่า ได้ยื่นคำร้องถึงอัยการสูงสุดแล้ว แต่อัยการสูงสุดไม่ได้ดำเนินการภายใน 15 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงมายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้อัยการสูงสุดชี้แจงภายใน 15 วัน โดยถามอัยการสูงสุดว่า มีคำสั่ง 'รับ' หรือ 'ไม่รับ' คำร้องดังกล่าวหรือไม่ หากมีคำสั่งรับแล้วดำเนินการอย่างไร และมีผลการดำเนินการอย่างไร โดยให้แจ้งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน
รัฐธรรมนูญมาตรา 49 บัญญัติว่า
“บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้
ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้
ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้
การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง”
เรื่องนี้เริ่มต้นจากวันที่ 30 พ.ค. 2566 ธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพุทธะอิสระ ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินการส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลวินิจฉัยสั่งการให้พิธา
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 2 ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีแนวบรรทัดฐานไว้ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 (คำวินิจฉัยม็อบราษฎรเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน ถือเป็นการกระทำอันเป็นการล้มล้างระบอบการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข)
ต่อมาวันที่ 16 มิ.ย. ธีรยุทธ ได้เดินทางไปยื่นคำร้องต่อที่ต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยกรณีดังกล่าว กระทั่งวันที่ 26 มิ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติถามความคืบหน้ามายังอัยการ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ธีรยุทธได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. เพื่อตรวจสอบพิธา และพรรคก้าวไกล ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (1) กระทําการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญ และ (2) กระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข เพื่อขอให้ กกต. พิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล กรณีเสนอนโยบายยกเลิก แก้ไขมาตรา 112
แต่กรณีนี้เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นให้ยุติเรื่อง เป็นการใช้อำนาจตามข้อ 7 ของระเบียบ กกต. ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง 2564 ที่กำหนดว่าในกรณีนายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานพร้อมความเห็นว่าไม่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ให้ยกคำร้องหรือยุติเรื่องแล้วแต่กรณี และแจ้งให้ผู้ร้องทราบและรายงานให้ กกต. ทราบ
แม้คำร้องที่ถูกส่งไปยัง กกต. จะถูกตีตกไปแล้ว แต่ปัจจุบันยังมีคำร้องกรณีใกล้เคียงกันที่ค้างอยู่ทั้งที่ อัยการสูงสุด และศาลรัฐธรรมนูญ ยังต้องรอควาามคืบหน้าอีกอย่างน้อยไม่เกิน 15 วัน
ความน่าสนใจของคำร้องธีรยุทธที่ยื่นต่ออัยการสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ที่การอ้างถึงบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมมูญที่ 19/2564 ซึ่งเป็นคำร้องระหว่าง ณัฐพร โตประยูร กับ อานนท์ นำภา, ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก, รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, อั๋ว-จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, สิริพัชระ จึงธีรพานิช, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ อาทิตยา พรพรม
แม้คำร้องจะกล่าวถึงพฤติการณ์หลายครั้ง แต่ศาลรัฐธรรมนูญรับคําร้องเฉพาะการกระทําในการชุมนุมปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ของอานนท์, ไมค์-ภาณุพงศ์ และรุ้ง-ปนัสยา ไว้วินิจฉัย
โดยศาลวินิจฉัยชี้ว่า ข้อเสนอ 10 ข้อเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่ประกาศว่า
๐ หนึ่ง ยกเลิกมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญที่ว่า ผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้และเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร
๐ สอง ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนใช้เสรีภาพแสดงความคิดต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน
๐ สาม ยกเลิกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2562 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลังและทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน
๐ สี่ ปรับลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
๐ ห้า ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจนเช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่นและให้หน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็นเช่น คณะองคมนตรีนั้นให้ยกเลิกเสีย
๐ หก ยกเลิกการบริจาค การรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลเพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด
๐ เจ็ด ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ
๐ แปด ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้ศึกษาเชิดชูสถาบันกษัตริย์เพียงแต่ด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด
๐ เก้า สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์ หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆกับสถาบันกษัตริย์
๐ สิบ ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหาร
ประกอบกับพฤติการณ์การปราศรัยในที่อื่นๆ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การใช้สิทธิหรือเสรีภาพดังกล่าว มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิใช่เป็นการปฏิรูป การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริตเป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่หากยังคงให้ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สองและที่สาม รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่นำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
รัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 2 ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้ ด้วยเหตุข้างต้นจึงวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สอง และที่สาม เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 1 และสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง ที่สอง และที่สาม รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามมาตรา 49 วรรค 2
อย่างไรก็ตามเนื้อหาในคำวินิจฉัยนั้น ไม่ส่วนใดที่ศาลระบุถึง ข้อเสนอเรื่องการยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 มีเพียงการให้น้ำหนักกับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ประกอบกับถ้อยคำในการปราศรัยเท่านั้น
หลังศาลรัฐธรรมนนูญเริ่มขยับ จากการมีมติสอบถามไปยังอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ทำให้เกิดข้อวิเคราะห์หลากหลายเกิดขึ้น ทั้งการมองว่าประเด็นนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อการโหวตรับรองพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเดิมทีก็ดูจะเป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว เนื่องจากยังต้องการเสียงสนับสนุนของ ส.ว. และ ส.ส. จากพรรคการเมืองในการโหวตอีก 64 เสียง และการที่ประเด็นเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ที่กำลังจะถูกหยิบขึ้นมาอยู่ในรางการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ยิ่งกลายเป็นผลดีกับ ส.ว. ใช้เป็นข้ออ้างเพื่อที่จะไม่โหวตรับรองว่าที่นายกรัฐมนตรีจากพรรคเสียงข้างมากได้
เมื่อดูจากระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญให้เวลาอัยการสูงสุดในการให้คำตอบคือ 15 วัน เท่ากับว่า อัยการสูงสุดจะต้องให้คำตอบว่าจะมีคำสั่งในการรับคำร้องหรือไม่รับร้อง ภายในวันที่ 11 ก.ค. และต่อให้มีคำสั่งว่าอย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถหยิบคำร้องที่ผู้ร้องยื่นมาโดยตรงเพื่อพิจารณาเองได้ นั่นหมายความว่า ช่วงเวลาดังกล่าวมีความกระชั้นชิดกับไทม์ไลน์การเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตรับรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย และเพียงแค่ศาลรับคำร้องไว้พิจารณาก็เพียงพอสำหรับการเป็นข้ออ้างของ ส.ว. ในการไม่โหวตรับรองพิธาแล้ว
ในประเด็นถัดมา หากสุดท้ายแล้ว ศาลมีการเริ่มต้นรับเรื่องไว้พิจารณา และวินิจฉัยว่า การเสนอแก้ไขมาตรา 112 ถือเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 49 จริง ก็ส่งผลให้เกิดการขีดเส้นใหม่ เพื่อปิดประตูโดยศาลรัฐธรรมนูญว่า “ห้ามแก้ไขมาตรา 112” และอาจจะส่งผลให้มีผู้ไปร้องต่อในทางคดีอาญากับตัวพิธา และร้องต่อพรรคก้าวไกลตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งอาจจะมีโทษถึงขั้นยุบพรรค