31 มกราคม 2567 เวลาประมาณ 14.15 น. ศาลรัฐธรรมนูญ ได้เริ่มอ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความพระพุทธะอิสระ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขณะเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
ศาลมีคำวินิจฉัยว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และได้สั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองหยุดการกระทำดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง
วอยซ์ จึงบันทึกคำตัดสินในคดีที่หลายฝ่ายจับจ้อง โดยถอดข้อความแบบคำต่อคำ เพื่อประโยชน์ในการสืบค้นและจดจำว่า คดีล้มล้างการปกครองอันลือลั่นนี้ มีปลายทางเป็นอย่างไร...
วันนี้ศาลรัฐธรรมนูลนัดอ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้อง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลที่ 1 พรรคก้าวไกล ที่ 2 ผู้ถูกร้อง ในคดีร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 49
วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญ รับคดีไว้พิจารณาเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งทั้งสองฝ่ายทราบดีอยู่แล้วว่า การพิจารณาคดีศาลรัฐธรรมนูญใช้ระบบไต่สวน ศาลมีอำนาจค้นหาความจริง ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือโทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ และในการวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริง ให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานได้ทุกประการ
ศาลได้ให้ผู้ถูกร้องชี้แจง ผู้ถูกร้องขอขยายระยะเวลา 2 ครั้ง ศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณารวม 62 ครั้ง รับฟังความคิดเห็นของนักวิชาการ พยานผู้เชี่ยวชาญที่มีความเป็นกลาง 4 ท่านด้วยกัน ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รณกรณ์ บุญมี, ศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์, รองศาสตราจารย์ ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์
นอกจากนี้ ศาลยังได้รับฟังข้อมูลจากผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาความมั่นคง สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญานนทบุรี และศาลจังหวัดสมุทรปราการ จึงเป็นการไต่สวนรับฟังรอบด้าน และให้คู่กรณีแถลงปิดคดี เมื่อครบถ้วนแล้วจึงได้มีคำวินิจฉัยในวันนี้
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง คำร้องเพิ่มเติมคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เอกสารประกอบคำร้องและพยานหลักฐานที่ได้จากหน่วยงานต่างๆ บันทึกยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็น และคำเบิกความของพยานของผู้ถูกร้องทั้งสองในชั้นไต่สวนพยานบุคคลจำนวน 2 ปาก และคำแถลงการณ์ปิดคดีของผู้ถูกร้องทั้ง 2 แล้ว เห็นว่า
คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรค 1 และกำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 หรือไม่
พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 บัญญัติว่า บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้
วรรค 2 บัญญัติว่า ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรค 1 ย่อมมีสิทธิ์ร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้
วรรค 3 บัญญัติว่า ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ร้องขอ ผู้ร้องจะขอยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้
วรรค 4 บัญญัติว่า การดำเนินการตามมาตรานี้ ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาของผู้กระทำการตามวรรค 1
ข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ผู้ถูกร้องที่ 1 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดผู้ถูกร้องที่ 2 (พรรคก้าวไกล) จำนวน 44 คน เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ผู้ถูกร้องที่ 1 (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์) ใช้นโยบายของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 (พรรคก้าวไกล) ในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผู้ถูกร้องทั้งสอง มีพฤติการณ์รณรงค์ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายดังกล่าวเรื่อยมา โดยการเข้าร่วมการชุมนุมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (เอกสารหมาย ส21-ส36) และมีกรรมการบริหารพรรคสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นผู้ต้องหาหรือเป็นนายประกันผู้ต้องหา ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (เอกสารหมาย ส19-20 และเคยแสดงความคิดเห็นทั้งให้แก้ไขและยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ผ่านการจัดกิจกรรมทางการเมืองและสื่อสังคมออนไลน์หลายครั้ง (เอกสารหมาย ส37)
กรณีมีข้อโต้แย้งที่ต้องวินิจฉัย ตามคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้องทั้งสองก่อนว่า ผู้ร้องบรรยายคำร้อง โดยอ้างความคิดของบุคคล มีลักษณะเป็นการคาดคะเน ไม่ยืนยันข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง และไม่ได้ระบุข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ผู้ถูกร้องทั้งสอง กระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างไร
ทำให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง ไม่อาจเข้าใจได้ เป็นคำร้องที่ไม่ชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 42 วรรค 1 (2) หรือไม่
คำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบคำร้อง ที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ผู้ถูกร้องที่ 1 กับพวก ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิ์หรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 โดยอ้างพยานเอกสารต่างๆ รวมถึงพยานวัตถุได้แก่ ภาพนิ่ง บันทึกภาพเคลื่อนไหวและเสียง พร้อมถอดข้อความเป็นลายลักษณ์อักษรของเหตุการณ์ที่แสดงถึงการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองประกอบมาท้ายคำร้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำร้อง
คำร้องจึงมีความชัดเจนเพียงพอ ที่จะทำให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเข้าใจสภาพของการกระทำที่เป็นข้อกล่าวหา และสามารถต่อสู้คดีได้ คำร้องของผู้ร้อง ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 42
ประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยมีว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 หรือไม่
พิจารณาแล้วเห็นว่า การตรากฎหมายหรือพระราชบัญญัติ เป็นกฎเกณฑ์ที่ผู้มีอำนาจตราขึ้นเพื่อใช้บังคับเหนือบุคคลให้ปฏิบัติตามเป็นการทั่วไป เพื่อกำหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือระหว่างบุคคลกับรัฐ หรือเพื่อใช้ในการบริหารประเทศ การที่สังคมหนึ่งจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ย่อมจำเป็นต้องการกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอนและเป็นธรรม ฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา เป็นองค์กรหลักในการใช้อำนาจอธิปไตยด้านนิติบัญญัติของประเทศ ภายใต้หลักการตามรัฐธรรมนูญ โดยที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติแห่งกฎหมายใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญย่อมใช้บังคับไม่ได้ ซึ่งการตรากฎหมาย ฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภาต้องพิจารณามิให้ขัดหรือแย้งต่อหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย โดยกระบวนการตรากฎหมายต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ต้องดำเนินการตามรูปแบบ ขั้นตอน และภายในระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด แม้การเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎร เป็นวิธีการทางรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่และอำนาจโดยตรงในการเสนอและพิจารณาร่างกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ แต่เมื่อร่างกฎหมายผ่านกลไกการตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญยังมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมายได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรค 1 (1)
ถือเป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น การที่รัฐธรรมนูญมาตรา 49 กำหนดหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เข้ามาตรวจสอบการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมิได้บัญญัติยกเว้นการกระทำใดไว้เป็นการเฉพาะ การเสนอร่างกฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติ จึงเป็นการกระทำหนึ่ง ซึ่งอาจถูกตรวจสอบได้ว่า เป็นการกระทำล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
รัฐธรรมนูญมาตรา 49 เป็นบทบัญญัติที่มีความมุ่งหมายเพื่อเป็นมาตรการปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองของประเทศ ให้เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ประการคือ ระบอบประชาธิปไตย และ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
คำว่า ระบอบประชาธิปไตย เป็นรูปแบบการปกครองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ส่วนคำว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการให้ความหมายประมุขของรัฐว่า ประเทศนั้นปกครองโดยมีประมุขของรัฐรูปแบบพระมหากษัตริย์โดยหลักการตามมาตรา 49 วรรค 1 บัญญัติเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 มาตรา 35 และบัญญัติในทำนองเดียวกันไว้ในรัฐธรรมนูญต่อมาทุกฉบับ เป็นการวางหลักการเพื่อพิทักษ์ปกป้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากภัยคุกคามอันเกิดจากการกระทำซึ่งเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ในลักษณะมุ่งหมายให้หลักการและคุณค่าทางรัฐธรรมนูญที่รองรับการดำรงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิให้ล้มเลิกหรือสูญเสียไป
บทบัญญัติมาตรานี้ คุ้มครองมิให้มีการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่จะส่งผลเป็นการบั่นทอน ทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และสั่นคลอนคติรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย ที่ดำรงอยู่ให้เสื่อมทรามหรือสิ้นสลายไป จึงบัญญัติให้มีกลไกปกป้องระบอบการปกครองจากการถูกบั่นทอน บ่อนทำลาย โดยการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่เกินขอบเขตของบุคคล หรือพรรคการเมืองไว้
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดการกระทำอันเป็นความผิด และกำหนดอัตราโทษแก่ผู้กระทำการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หากผู้ใดกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว ต้องได้รับโทษทางอาญา เพราะเหตุแห่งการกระทำนั้น
สอดคล้องกับการที่ประเทศไทย มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีประมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติให้พระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหนึ่งในรัฐธรรมนูญนั้น สืบเนื่องมาจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์ โบราณราชประเพณี นิติประเพณี ซึ่งนอกจากจะมีลักษณะเป็นสถาบันหลักของประเทศแล้ว องค์พระมหากษัตริย์ยังทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ จะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใดๆ มิได้
พระเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการผดุงไว้ซึ่งเกียรติยศของประเทศและรักษาคุณลักษณะประการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีความชอบธรรมที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองมิให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์ ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐและสถาบันหลักของประเทศตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองคุ้มครองไว้
การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 รวมจำนวน 44 คน เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … แก้ไขความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาท ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีเนื้อหาให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 จากเดิมเป็นหมวด 1 ลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ให้เป็นลักษณะ 1/2 ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ซึ่งการที่ประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ความผิด แบ่งลักษณะความผิดเป็น 13 ลักษณะ โดยจัดเรียงตามลักษณะความผิดอันเป็นการกระทำที่กระทบต่อรัฐ ความผิดอันเป็นการกระทำที่กระทบต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดที่เป็นการกระทำต่อสาธารณชน ความผิดที่กระทบต่อสังคมและบุคคล และความผิดที่กระทบต่อปัจเจกบุคคล
แม้ผู้ถูกร้องทั้งสองโต้แย้งว่า ประมวลกฎหมายอาญามิได้กำหนดลำดับศักดิ์ของหมวดหมู่และลักษณะกฎหมายไว้ แต่ประมวลกฎหมายอาญา ในแต่ละลักษณะ บัญญัติเรียงลำดับความสำคัญและความร้ายแรงในแต่ละหมวดไว้ในแต่ละมาตรา
โดยมาตรา 112 อยู่ในลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐ แห่งราชอาณาจักร เนื่องจากต้องคุ้มครองทั้งความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และเกียรติยศของประมุขของรัฐ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 2 ที่บัญญัติรับรองว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สถาบันพระมหากษัตริย์จึงมีความสัมพันธ์ต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะพระมหากษัตริย์กับประเทศไทยหรือชาติไทย ดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ และธำรงความเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในประเทศ การกระทำความผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของประเทศด้วย การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอให้มาตรา 112 ออกจากลักษณะ 1 ลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการกระทำเพื่อมุ่งหวังให้ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดที่ไม่มีความสำคัญและความร้ายแรงระดับเดียวกับความผิดในหมวดของลักษณะ 1 และไม่ให้ถือเป็นความผิดที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศอีกต่อไป มีเจตนามุ่งหมายที่จะแยกสถาบันพระมหากษัตริย์ กับความเป็นชาติไทยออกจากกัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐอย่างมีนัยยะสำคัญ
ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28-29/2555 วางหลักเกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา 112 ไว้ว่า การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีลักษณะของการกระทำความผิดที่มีความร้ายแรงมากกว่าการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทต่อบุคคลธรรมดา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ประกอบกับเพื่อพิทักษ์ปกป้องพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มิให้ถูกล่วงละเมิดโดยการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายได้โดยง่าย จึงไม่มีบทบัญญัติเหตุยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษไว้ในทำนองเดียวกันกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 และ มาตรา 330
การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 กับพวก เสนอให้เพิ่มบทบัญญัติให้ผู้กระทำความผิดสามารถพิสูจน์เหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษได้ ตามร่างมาตรา 6 ซึ่งให้เพิ่มความมาตรา 135/7 ว่าผู้ใดติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อดำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด และมาตรา 135/8 ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อหาที่เป็นความผิดนั้น เป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ย่อมทำให้ผู้กระทำความผิดใช้ข้อกล่าวอ้างว่าตนเข้าใจผิด และเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นความจริงเป็นข้อต่อสู้ และขอพิสูจน์ความจริงในทุกคดีเช่นเดียวกับการที่ผู้กระทำความผิดในคดีหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปยกขึ้นต่อสู้ ทั้งที่ลักษณะของการกระทำความผิดมีความร้ายแรงมากกว่าการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทต่อบุคคลธรรมดา ซึ่งการพิจารณาของศาลยุติธรรมจะต้องมีการสืบพยานตามข้ออ้าง ข้อเถียง ข้อต่อสู้ ระหว่างคู่ความในคดี การพิสูจน์เหตุดังกล่าวจำต้องพาดพิงหรือกล่าวหาสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในสถานะอันควรเคารพสักการะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่บัญญัติให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ และทำให้ข้อความดังกล่าวกระจายสู่สาธารณะ เป็นการเสื่อมพระเกียรติ
อีกทั้งการที่ผู้ถูกร้องที่ 1 กับพวก เสนอให้ความผิดตามมาตรา 112 เป็นความผิดอันยอมความได้ โดยเพิ่มความในมาตรา 135/9 วรรค 1 ว่า ความผิดในลักษณะนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ และวรรค 2 ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น และให้สำนักพระราชวังเป็นผู้เสียหายร้องทุกข์ มุ่งหมายให้การกระทำความผิดตามมาตรา 112 กลายเป็นความผิดในเรื่องส่วนพระองค์ของสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น เป็นการลดสถานะความคุ้มครองของสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้รัฐไม่ต้องเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวโดยตรง และให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชน และจะเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ส่งผลให้การกระทำความผิดตามมาตรา 112 ไม่ใช่การกระทำความผิดที่กระทบต่อชาติและประชาชนทั้งที่การกระทำความผิดดังกล่าว ย่อมเป็นการทำร้ายจิตใจของชนชาวไทยที่มีความเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะทรงเป็นประมุขและศูนย์รวมความเป็นชาติที่รัฐต้องคุ้มครอง และต้องเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา
ดังนั้น แม้การเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะเป็นหน้าที่และอำนาจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 และร่างกฎหมายดังกล่าว จะไม่ได้รับการบรรจุในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม เมื่อการเสนอร่างกฎหมายนี้ กลับดำเนินการโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่สังกัดพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ทั้งสิ้นเพียงพรรคเดียว เอกสารหมาย ศ7/8-ศ7/13 ทั้งผู้ถูกร้องทั้งสอง ได้เบิกความต่อศาลยอมรับว่า พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 นำเสนอนโยบายดังกล่าวให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อใช้เป็นนโยบายรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 และปัจจุบัน ยังคงปรากฏเป็นนโยบายการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่บนเว็บไซต์ของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 (เอกสารหมาย ร4)
การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้การเสนอกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นนโยบายของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ในการหาเสียงเลือกตั้ง แม้ไม่มีร่างที่จะแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้เห็นว่าจะแก้ไขในประเด็นใด เสนอมาพร้อมนโยบายพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 แต่ตามเว็บไซต์ของผู้ถูกร้องที่ 2 กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับมีเนื้อหาที่จะแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำนองเดียวกับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร
ดังนั้น ถือได้ว่าพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ร่วมกับผู้ถูกร้องที่ 1 เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งเนื้อหาของร่างกฎหมายที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอ เป็นพฤติการณ์ที่แสดงออกถึงเจตนาของผู้ถูกร้องทั้งสอง ที่ต้องการลดทอนการคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ลง โดยผ่านร่างกฎหมายและอาศัยกระบวนการทางนิติบัญญัติ เพื่อสร้างความชอบธรรมโดยซ่อนเร้น โดยวิธีการผ่านกระบวนการทางรัฐสภา นอกจากนั้น ผู้ถูกร้องทั้งสองยังมีพฤติการณ์รณรงค์หาเสียงทางการเมืองเพื่อเสนอแนวความคิดเห็นดังกล่าวให้แก่ประชาชนทั่วไปผ่านรูปแบบนโยบายของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 อย่างต่อเนื่อง
หากประชาชนทั่วไปซึ่งไม่รู้เจตนาแท้จริงผู้ถูกร้องทั้งสอง อาจหลงตามกับความคิดเห็นที่แสดงออกผ่านการเสนอร่างกฎหมายและนโยบายของพรรค ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 วินิจฉัยว่า สาระสำคัญซึ่งเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทย ดังได้ระบุไว้ในความของพระราชหัตถเลขาที่ 1/60 ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ว่า
พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงดำรงฐานะอยู่เหนือการเมือง โดนเฉพาะในแง่การไม่เข้าไปมีบทบาทเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขันรณรงค์ทางการเมือง อันอาจนำมาซึ่งการโจมตี ติเตียน และกระทบกระเทือนต่อความเป็นกลางของสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องถูกลบล้างไป ดังปรากฏเป็นที่ประจักษ์ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2543 ซึ่งวินิจฉัยว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง และทรงดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้การเสนอกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อลดสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้นโยบายพรรคการเมืองโดยนำสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเพื่อหวังผลคะแนนเสียงและประโยชน์ในการชนะการเลือกตั้ง มุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์ อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องเข้าไปเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขันรณรงค์ทางการเมือง อันอาจจะนำมาซึ่งการโจมตี ติเตียน โดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีหลักสำคัญว่าพระมหากษัตริย์ต้องดำรงฐานะอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมือง การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว มีเจตนา 'เซาะกร่อนบ่อนทำลาย' สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทรามหรืออ่อนแอลง นำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น
ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องทั้งสองที่ว่า หลักการปกครองเสรีประชาธิปไตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่เป็นผู้แทนของประชาชนในการขับเคลื่อนนโยบายที่หาเสียงไว้ และการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายตามนโยบายที่ให้ไว้ต่อประชาชนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการกระทำในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 วรรค 1 (2) ไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติพรรคการเมืองนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 กลับดำเนินการโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ทั้งสิ้น (เอกสารหมาย ศ7/9-ศ7/13) ทั้งผู้ถูกร้องทั้งสองได้เบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่า พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 นำเสนอนโยบายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อใช้เป็นนโยบายรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 และปัจจุบัน ยังคงปรากฏนโยบายดังกล่าวอยู่บนเว็บไซต์ของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 (เอกสารหมาย ร4)
ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องที่ 2 ว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 49 ใช้เฉพาะกับบุคคลธรรมดา ไม่ใช้กับพรรคการเมืองนั้น ผู้ถูกร้องที่ 1 ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง และพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เมื่อพิจารณาความในหมวด 3 มิได้กำหนดเฉพาะบุคคลที่เป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 20 ประกอบมาตรา 23 (1) (5) บัญญัติหน้าที่ของพรรคการเมืองที่ต้องให้ความสำคัญต้องการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไว้อย่างชัดเจน รัฐธรรมนูญมาตรา 49 จึงใช้บังคับกับพรรคการเมืองซึ่งเป็นนิติบุคคลได้
เมื่อพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 แสดงบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมือง สอดรับกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองต่างๆ โดยการรณรงค์ปลุกเร้าและยุยงปลุกปั่นเพื่อสร้างกระแสในสังคมให้สนับสนุนการยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ปรากฏพฤติการณ์ขอพรรคผู้ถูกร้องทั้งสอง พบว่า มีกลุ่มบุคคลผู้มีชื่อทำกิจกรรม 'ยืน หยุด ขัง' มีข้อเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคเสนอนโยบายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีกลุ่มบุคคลซึ่งปัจจุบัน เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 จัดชุมนุมโดยแนวร่วมคณะราษฎร ยกเลิก 112 ครย. 112 มีการรณรงค์ยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีพฤติการณ์สนับสนุนเรียกร้องให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมในการเป็น 'นายประกัน' ให้กับผู้ต้องหาหรือจำเลยในข้อหาตามมาตรา 112 ได้แก่ ผู้ถูกร้องที่ 1 นายชัยธวัช ตุลาธน นายรังสิมันต์ โรม นางสาวสุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา นายทองแดง เบ็ญจะปัก นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล นายธีรัจชัย พันธุมาศ ในขณะที่เป็นหรือเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ตามหนังสือของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (เอกสารหมาย ศ20) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (เอกสารหมาย ศ21-ศ36) และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เอกสารหมาย ศ37) และคำเบิกความของผู้ถูกร้องทั้งสอง ต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ปรากฏว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 กรรมการบริหารพรรค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งในอดีตและปัจจุบัน และสมาชิกพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 มีพฤติกรรมเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลายราย ได้แก่ นายปิยรัฐ จงเทพ จำนวน 2 คดี นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว จำนวน 2 คดี นางสาวรักชนก ศรีนอก เป็นต้น
การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น เป็นความผิดอาญา ผู้กระทำจะต้องมีการกระทำที่เข้าองค์ประกอบแห่งความผิด จึงจะถูกกล่าวหาและดำเนินคดีได้ ผู้ถูกร้องทั้งสองจึงไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่า เป็นความเห็นต่างหรือเป็นคดีการเมือง เพราะการใช้สิทธิ์หรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 34 มีข้อห้าม ไม่ให้ใช้สิทธิหรือเสรีภาพ หากเป็นการกระทำที่ส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
พฤติการณ์แสดงความเห็นหรือเข้าร่วมการชุมนุมที่มีการรณรงค์ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือเป็นหลักประกันให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือเป็นผู้กระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวเสียเอง ย่อมแสดงให้เห็นว่า พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นกลุ่มการเมืองซึ่งมีอุดมการณ์ต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่คุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566 พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 จัดกิจกรรมปราศรัยใหญ่ ณ สวนสาธารณะเทศบาลนครแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยนางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และนางสาวอรวรรณ ภู่พงษ์ ขึ้นเวทีปราศรัยเชิญชวนผู้ถูกร้องที่ 1 รวมถึงว่าที่ผู้สมัครผู้แทนราษฎรของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมกิจกรรม 'คุณคิดว่ามาตรา 112 ควรยกเลิกหรือแก้ไข' ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 1 นำสติกเกอร์สีแดงปิดลงในช่อง ยกเลิกมาตรา 112
แม้ผู้ถูกร้องที่ 1 โต้แย้งและเบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นเพียงการแสดงออกเพื่อโน้มน้าวให้ผู้ตั้งกระทู้ถามและผู้ฟังการปราศรัยโดยทั่วไปสงบสติอารมณ์ก่อนที่จะฟังคำปราศรัยถึงเหตุผลที่สมควรแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเป็นการบริหารสถานการณ์ไม่ให้เกิดความรุนแรงนั้น
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏในหนังสือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ปราศรัยความตอนหนึ่งว่า "พี่น้องประชาชนเสนอกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 เข้ามา พรรคก้าวไกลก็จะสนับสนุนเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ต้องขอโทษน้องทั้งสองคนที่พี่ต้องแก้ไขมาตรา 112 ในสภาก่อน ถ้าสภายังไม่ได้รับการแก้ไข ก้าวไกลจะออกไปสู้ด้วยกันครับ" (เอกสารหมาย ศ33)
แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของผู้ถูกร้องที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 ในขณะนั้น ที่พร้อมสนับสนุนการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้บทบัญญัติในการคุ้มครองสถาบันกษัตริย์หมดสิ้นไป เพราะหากไม่ได้รับการแก้ไขภายในสภาผู้แทนราษฎร ก็พร้อมที่จะดำเนินการโดยอาศัยวิถีทางอื่นนอกเหนือจากกระบวนการนิติบัญญัติ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยที่ 19/2564 ว่า การกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานเกี่ยวกับระบอบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงสถานะอยู่เหนือการเมืองและเป็นกลางทางการเมือง การกระทำใดๆ ทั้งการส่งเสริมหรือทำลายให้สถาบันพระกษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง หรือดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทรามหรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะเป็นการ 'ล้มล้างการปกครอง' ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
แม้ผู้ถูกร้องทั้งสองโต้แย้งว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 49 มีองค์ประกอบของการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้นั้น จะต้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพก็ตาม แต่คำว่าสิทธิหมายถึงอำนาจที่กฎหมายรับรองและให้ความคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลใดรุกล้ำหรือใช้สิทธิเกินส่วนของตน อันถือเป็นการล่วงละเมิดต่อสิทธิของผู้อื่น
ส่วนคำว่าเสรีภาพ หมายถึง สภาวะของมนุษย์ที่เป็นอิสระในการกำหนดว่า ตนเองจะกระทำการหรือไม่กระทำการอันใด แต่ทั้งนี้ การใช้เสรีภาพจะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 25 และ 34 ได้กำหนดกรอบการใช้สิทธิเสรีภาพสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของบุคคล และสิทธิทางการเมืองมาตรา 19 ไว้ 3 ดังนี้
(1) ต้องไม่กระทบต่อความปลอดภัยของชาติ
(2) ต้องไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย
(3) ต้องไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของคนอื่น
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง มีพฤติการณ์ในการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อการเรียกร้องให้มีการทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยซ่อนเร้นหรือผ่านการนำเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรค
แม้เหตุการณ์ในคำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่การดำเนินการรณรงค์ให้มีการยกเลิกหรือการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาของผู้ถูกร้องทั้งสอง มีลักษณะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นขบวนการ โดยใช้หลายพฤติการณ์ประกอบกัน ทั้งการชุมนุม การจัดกิจกรรม การรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร การใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง หากยังปล่อยให้ผู้ถูกร้องทั้งสองกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง จึงเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 ซึ่งวรรค 2 ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
อาศัยเหตุผลดังกล่าว จึงวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสอง เลิกการกระทำ เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 2 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ขอให้ตระหนักว่า การวิจารณ์คำวินิจฉัยที่กระทำโดยไม่สุจริต และใช้ถ้อยคำหรือมีความหมายหยาบคายเสียดสีหรืออาฆาตมาดร้าย จะมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 38 วรรคท้าย ซึ่งจะมีโทษทั้งตักเตือน จำคุก หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท
ที่มา: ถ่ายทอดสด ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งเพื่ออ่านคำวินิจฉัย