องค์การสหประชาชาติได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ในเรื่องการนำเสนอข่าวของสื่อสารมวลชนต่อประเด็นเชื้อไวรัสดังกล่าว พร้อมชี้ว่าจรรยาบรรณสื่อที่ตกต่ำอาจทำให้เกิดการ “ส่งเสริมการเหมารวมที่เหยียดเพศและเหยียดเชื้อชาติ และการตีตราที่รุนแรงขึ้น”
โรคฝีดาษลิงถูกค้นพบครั้งแรกในมนุษย์เมื่อปี 2523 ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โดยเชื้อไวรัสมีการแพร่ระบาดในมนุษย์ตั้งแต่นั้นมา การระบาดส่วนใหญ่จำกัดวงอยู่ในบางประเทศแถบแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง ทั้งนี้ มีรายงานการระบาดของโรคฝีดาษลิงตั้งแต่ช่วงต้นเดือน พ.ค. โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอยู่ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น ทั้งนี้ ไม่มีการระบาดของโรคนอกประเทศในแอฟริกาซึ่งเป็นโรคเฉพาะถิ่นมาเป็นเวลานาน
สหประชาชาติได้เสนอแนะให้ผู้เสี่ยงจำกัดจำนวนคู่นอน เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อฝีดาษลิง ในขณะที่ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย มีแนวโน้มที่จะถูกตีตรามากกว่ากลุ่มผู้ติดเชื้อรายอื่นๆ อย่างไม่เป็นสัดส่วน แต่เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติย้ำว่า มนุษย์ทุกคนสามารถติดเชื้อโรคฝีลิงได้ ไม่ใช่เพียงแต่กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายอื่น
อย่างไรก็ดี โรคฝีดาษลิง ซึ่งทำให้ผู้ติดเชื้อเกิดอาการเป็นไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และรอยโรคที่ผิวหนังคล้ายฝีขนาดใหญ่ เริ่มแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วในเดือน พ.ค. องค์การอนามัยโลกประกาศให้การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่น่ากังวลระดับนานาชาติ (PHEIC) ซึ่งเป็นระดับการเตือนภัยสูงสุดขององค์กรสุขภาพโลก เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา
“เมื่อการระบาดของโรคฝีดาษลิงเริ่มขยายตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา การใช้คำพูดที่เหยียดเชื้อชาติและการตีตราทางออนไลน์ ในสถานที่อื่นๆ และบางชุมชน ถูกจับสังเกตและรายงานไปยัง WHO” หน่วยงานด้านสุขภาพของสหประชาชาติกล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (28 พ.ย.) โดยองค์การอนามัยโลกเปิดโครงการเพื่อการมอบคำปรึกษาหารือในทางสาธารณะ ในการเฟ้นหาชื่อใหม่ของโรคฝีดาษลิงเมื่อต้นปีนี้ โดยมีการเสนอชื่อใหม่ของโรคมากกว่า 200 ชื่อ
หนึ่งในชื่อที่สาธารณะเสนอมากที่สุดคือ “mpox” หรือ “Mpox” (ฝีดาษเอ็ม) ซึ่งเสนอโดยองค์กรด้านสุขภาพของผู้ชายอย่าง REZO พร้อมกันกับหน่วยงานอื่นๆ โดยผู้อำนวยการของสถาบันกล่าวในเวลานั้นว่า การลบภาพจำของลิงต่อโรคฝีดาษเอ็ม ช่วยให้ผู้คนตระหนักถึงภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพอย่างจริงจัง
“หลังจากการปรึกษาหารือหลายครั้งกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก องค์การอนามัยโลกจะเริ่มใช้คำใหม่ที่ได้รับความนิยมว่า 'mpox' ซึ่งเป็นคำพ้องความหมายสำหรับ Monkeypox ทั้งสองชื่อจะใช้พร้อมกันเป็นเวลาหนึ่งปีในขณะที่ 'monkeypox' จะถูกเลิกใช้” ทั้งนี้ สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศและหน่วยงานที่สนับสนุนการเปลี่ยนชื่อโรค ออกมาแสดงความยินดีกับการประกาศดังกล่าว
“เราต้องทำทุกวิถีทางเพื่อทลายอุปสรรคต่อสุขภาพของประชาชน และการลดการตีตราที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ เป็นขั้นตอนสำคัญอย่างหนึ่งในการทำงานของเราเพื่อยุติโรคฝีดาษเอ็ม” ซาเวียร์ เบอแซร์รา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ของสหรัฐฯ กล่าว ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกมีหน้าที่กำหนดชื่อใหม่ให้กับโรคที่มีอยู่ภายใต้การจำแนกประเภทโรคระหว่างประเทศ โดยทั่วไปแล้ว ทางองค์การจะพยายามหลีกเลี่ยงการเชื่อมโยงชื่อโรคหรือไวรัสเข้ากับประเทศ ภูมิภาค สัตว์ หรือกลุ่มชาติพันธุ์
เมื่อปีที่แล้ว องค์การอนามัยโลกได้กำหนดตัวอักษรกรีกให้กับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพื่อหยุดการเชื่อมโยงโรคเข้ากับบางประเทศ หลังจากมีการเรียกชื่อเชื้อไวรัสอุบัติใหม่ในขณะนั้นว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์อู่ฮั่น อินเดีย ฯลฯ ทั้งนี้ การพิจารณาดังกล่าวยังรวมถึงการตั้งชื่อตามความเหมาะสมทางวิทยาศาสตร์ การออกเสียง และการใช้งานในภาษาต่างๆ
“WHO จะนำคำว่า mpox มาใช้ในการสื่อสาร และสนับสนุนให้ผู้อื่นปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ เพื่อลดผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากชื่อปัจจุบัน” รายงานขององค์การอนามัยโลกระบุ โดยกระบวนการเปลี่ยนแปลงชื่อจะดำเนินไปเป็นเวลา 1 ปี เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนที่เกิดจากการเปลี่ยนชื่อท่ามกลางการระบาดทั่วโลก
ปัจจุบันมีรายงานผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง 81,107 ราย และผู้เสียชีวิต 55 ราย ที่รายงานไปยังองค์การอนามัยโลกในปีนี้จาก 110 ประเทศ โดยผู้ติดเชื้อทั้งหมด 97% เป็นผู้ชาย อายุเฉลี่ย 34 ปี และ 85% ระบุว่า ตัวเองเป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ทั้งนี้ ไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงล่าสุดเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาจำนวนอย่างน้อย 12 ราย
ตามรายงานของกระดานตัวเลขการติดเชื้อขององค์การอนามัยโลกนั้น มี 10 ประเทศที่เกิดการระบาดของฝีดาษลิงมากที่สุดทั่วโลก ได้แก่ สหรัฐฯ (29,001 ราย) บราซิล (9,905 ราย) สเปน (7,405 ราย) ฝรั่งเศส (4,107 ราย) โคลอมเบีย (3,803 ราย) สหราชอาณาจักร (3,720 ราย) เยอรมนี (3,672 ราย) เปรู (3,444 ราย) เม็กซิโก (3,292 ราย) และแคนาดา (1,449 ราย) โดยทั้งหมดคิดเป็น 86% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก
ที่มา: