ไม่พบผลการค้นหา
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เห็นชอบในมติเรียกร้องการเปิดให้มีการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่สำคัญโดยทันที และยุติการต่อสู้ในฉนวนกาซา นับเป็นมติในลักษณะดังกล่าวครั้งแรก ที่มีออกมาโดยหน่วยงานในองค์การสหประชาชาติ และนับเป็นมติจากการประชุมพิเศษของคณะกรรมการบริหาร WHO เป็นเพียงครั้งที่ 7 ในประวัติศาสตร์ 75 ปีขององค์กร

ในช่วงสิ้นสุดการประชุมสมัยพิเศษของคณะกรรมการบริหารของ WHO เมื่อช่วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (10 ธ.ค.) WHO ได้บรรลุมติอย่างเป็นเอกฉันท์เพื่อเรียกร้องให้มี “การบรรเทาทุกข์ด้านมนุษยธรรมโดยทันที ยั่งยืน และไม่มีอุปสรรค รวมถึงการเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์” ในฉนวนกาซา

นอกจากนี้ WHO ยังเรียกร้องให้ “ทุกฝ่ายปฏิบัติตามพันธกรณีของตนภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ” และยืนยันอีกครั้งว่า “ทุกฝ่ายที่มีความขัดแย้งด้วยอาวุธจะต้องปฏิบัติตามพันธกรณี ที่บังคับใช้กับพวกเขาอย่างเต็มที่ ภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองพลเรือนที่ตกอยู่ในความขัดแย้งด้วยอาวุธ และบุคลากรทางการแพทย์”

WHO ระบุหลังจากการประชุมว่า การผ่านมติดังกล่าวขององค์กร “เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสาธารณสุขเป็นลำดับความสำคัญสากล ในทุกสถานการณ์ และบทบาทของการดูแลสุขภาพและมนุษยธรรมในการสร้างสะพานเชื่อมสู่สันติภาพ แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุด” 

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ล้มเหลวในการออกมามติใดๆ เพื่อตอบสนองต่อวิกฤตที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในฉนวนกาซาที่ปะทุขึ้น หลังจากกลุ่มติดอาวุธฮามาสปาเลสไตน์เปิดฉากโจมตีอิสราเอลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไป 1,200 ราย และมีผู้ถูกจับเป็นตัวประกันไปมากกว่า 200 คน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบสนอง อิสราเอลได้ประกาศสงครามกับกลุ่มฮามาส และเข้าควบคุมฉนวนกาซาซึ่งกลุ่มฮามาสมีอำนาจปกครองมาตั้งแต่ปี 2549 ด้วยการโจมตีอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างแล้วน้อย 18,000 คน

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติระบุว่า ประมาณ 80% ของประชากรปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น และเผชิญกับภาวะการขาดแคลนอาหาร น้ำ และยารักษาโรค พร้อมทั้งภัยคุกคามจากโรคภัยไข้เจ็บที่เพิ่มมากขึ้น

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (8 ธ.ค.) มติหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมที่เสนอโดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และได้รับการสนับสนุนจากประเทศอื่นๆ อีก 100 ประเทศ ล้มเหลวในการผ่านมติใน UNSC หลังจากที่สหรัฐฯ ลงมติยับยั้งมติดังกล่าว ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของ UNSC ที่มีอำนาจยับยั้งมติ

การลงคะแนนเสียงผ่านมติที่ล้มเหลวลงของ UNSC ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันพุธ (6 ธ.ค.) หลังจากที่ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ประกาศบังคับใช้มาตรา 99 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ เพื่อเตือนอย่างเป็นทางการต่อสมาชิก UNSC 15 ชาติ ถึงภัยคุกคามระดับโลกจากสงครามอิสราเอล-กาซาที่ยืดเยื้อยาวนานมาแล้วกว่า 2 เดือน

ทีโดรส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการ WHO กล่าวว่ามติของ WHO อาจเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการดำเนินการต่อไป “มันไม่ได้ช่วยแก้ไขวิกฤติ แต่มันเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการสร้างรากฐาน” ผู้อำนวยการ WHO กล่าวในคำกล่าวปิดท้ายต่อคณะกรรมการ “หากไม่มีการหยุดยิง ก็ไม่มีความสงบสุข และหากไม่มีความสงบสุขก็ไม่มีการสาธารณสุข ผมขอเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกทั้งหมด โดยเฉพาะประเทศที่มีอิทธิพลมากที่สุด ทำงานอย่างเร่งด่วนเพื่อยุติความขัดแย้งนี้โดยเร็วที่สุด”

การต่อสู้ในฉนวนกาซาได้กลับมาดำเนินต่อในเดือนนี้ หลังจากการสู้รบได้หยุดลงชั่วคราวเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งทำให้ตัวประกันชาวอิสราเอลและชาวต่างชาติบางส่วนได้รับการปล่อยตัว เพื่อแลกกับนักโทษชาวปาเลสไตน์จำนวนหนึ่งที่ถูกคุมขังในเรือนจำของอิสราเอล เช่นเดียวกับการจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา โดยในขณะนี้ อิสราเอลได้เพิ่มปฏิบัติการทางทหารทางตอนใต้ของฉนวนกาซาที่มีประชากรมากกว่า 2 ล้านคน ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้มีการยุติการสู้รบก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น

มีการคาดหมายกันว่าสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) จะลงมติกันโดยทันทีในวันอังคารนี้ (12 ธ.ค.) เพื่อให้มีการเรียกร้องการหยุดยิงโดยทันที หลังจากที่อียิปต์และมอริเตเนียใช้มติที่ 377 “การรวมเป็นหนึ่งเพื่อสันติภาพ” ภายหลังการลงยับยั้งของสหรัฐฯ ทั้งนี้ มติที่ 377 ซึ่งได้รับการรับรองโดยการประชุม UNGA ในปี 2493 อนุญาตให้ UNSC สามารถดำเนินการในกรณีที่ UNSC ล้มเหลวในการ “ใช้ความรับผิดชอบหลักในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ”


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2023/12/11/who-calls-for-immediate-passage-of-humanitarian-relief-into-gaza?fbclid=IwAR3Wm8hLM2n3-xGySCvN7Qf2sLEcfjmexDCXvbUdOBlj6fpi0CpeyNjn9oo