ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับ ‘สิริพรรณ นกสวน สวัสดี’ วิเคราะห์เกมยุบสภาปลายปี 65 หากรัฐบาลฝ่า 2 ด่านล้มนายกฯ ได้ พร้อมอ่านท่าที และที่ทางผู้เล่นทางการเมืองภายใต้ระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบแบบ รธน. 40 ยันต่อให้พลังประชารัฐอยากกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งตาม รธน.60 ก็ไม่มีทางกลับไปได้

ไม่แน่ชัดนักว่าด้วยเหตุผลทางการเมืองใดที่ทำให้พี่ใหญ่ตระกูล 3 ป. อย่างพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และรองนายกรัฐมนตรี ถึงให้สัมภาาษณ์กับสื่อมวลชนว่า อาจจะมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในช่วงปลายปี 2565 เพราะเท่าที่ผ่านมาแม้จะรับมือกับศึกหนักมากมาย แต่รัฐบาลก็ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปได้

วอยซ์ชวน รองศาสตราจารย์ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์การเปิดเกมยุบสภาเลือกตั้งใหม่ของ พล.อ.ประวิตร รวมทั้งสำรวจท่าทีและที่ทางของบรรดาผู้เล่นทางการเมืองในระบบเลือกตั้งใหม่ที่หวนกลับไปใช้แบบบัตร 2 ใบ ใครจะยืนอยู่ตรงไหนภายใต้กติกาใหม่ที่ยังร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่เสร็จ อยู่ในชั้นกรรมาธิการ ท่ามกลางความพยายามดึงกลับไปใช้สูตรคำนวณแบบเดิม


พล.อ.ประวิตร เปิดเกมยุบสภาปลายปี ลดแรงกดดันศึกกอภิปรายไม่ไว้วางใจ?

ช่วงที่ผ่านเคยมีการประเมินกันว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการยื้ออยู่ในวาระจนครบ 4 ปี แต่ไม่นานนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรรณ ได้พูดถึงการยุบสภาและการเลือกตั้งใหม่ภายในปี 2565 สิริพรรณ มองการเดินเกมทางการเมืองครั้งนี้ว่า เป็นการเดินเกมที่มีความเชื่อว่า หากรัฐบาลสามารถเดินผ่านมรสุมใหญ่ 2 ครั้งที่จะมาถึงคือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในเดือน พ.ค. และการอ่านคำวินิจฉัยปมการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ของพล.อ.ประยุทธ์ ในเดือน ส.ค. ไปได้ หลังการประชุม APEC ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ 

สิริพรรณ มองว่า การยุบสภาก่อนที่จะครบวาระ มีความพิเศษกว่าการอยู่ครบวาระตรงที่ กรณีรัฐบาลอยู่ครบวาระรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจะต้องเป็นสมาชิกพรรคใดๆ มาไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่หากมีการยุบสภากำหนดให้เป็นสมาชิกพรรคก่อนการเลือกตั้งเพียง 30 วัน นั่นหมายความว่า การยุบสภาหรืออยู่ครบวาระมีผลต่างกันต่อว่าที่ ส.ส.ที่จะย้ายพรรค

“พลังหลักอย่างหนึ่งของพลังประชารัฐคือ การดูด ส.ส. จากพรรคการเมืองอื่นๆ แต่ในด้านกลับกันก็มีความเป็นไปได้ว่า หากเวลานั้นพลังประชารัฐขายไม่ออก มีคะแนนนิยมน้อย ก็อาจจะไม่ยุบสภาเพื่อกันไม่ให้ ส.ส. ย้ายออกได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากพลังประชารัฐมีคะแนนนิยมที่ตกต่ำมาก ส.ส.ก็ต้องหนีตาย ย้ายออกก่อนที่จะครบวาระอยู่ดี”

“เชื่อว่า เกมยุบสภามาแน่ เพราะจะเกิดแรงกดดันจากภายในพลังประชารัฐเอง และพรรคร่วมรัฐบาล สาเหตุที่ พล.อ.ประวิตร พูดออกมาตอนนี้่คิดว่ามาจากเหตุผลสองประการคือ ต้องการบอกพรรคร่วมรัฐบาลว่า ช่วยกันให้รัฐบาลผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปก่อน และเพื่อลดแรงกดดันกลุ่มต่างๆ เหมือนเป็นการปล่อยไอน้ำให้ออกจากกาน้ำที่กำลังเดือดอยู่”


ความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะพ้นตำแหน่งก่อนยุบสภา

สิริพรรณ กล่าวถึง 2 มรสุมที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กำลังเผชิญหน้า แรกสุด คือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่างไรก็ตาม ซึ่งรัฐบาลน่าจะผ่านด่านนี้ไปได้และคงไม่ชิงยุบสภาก่อนหน้าที่จะมีการเปิดการประชุมอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย เพราะดูเหมือนเวลานี้รัฐบาลยังมั่นใจว่า ยังสามารถคุมเสียง ส.ส. ของพรรคร่วมรัฐบาลได้ในการลงมติไม่ไว้วางใจ เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยังได้รับเสียงโหวตไว้วางใจเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ที่เวลานี้ต้องการเพียง 238 เสียง แม้ว่าปัจจุบันรัฐบาลจะมีคะแนนเสียงปริ่มน้ำอยู่ที่ 235 เสียง ส่วนฝ่ายค้านมีอยู่ 207 เสียง ขณะที่กลุ่มที่ยังไม่มีความชัดเจนรวมทั้งกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า มีอยู่ 31 เสียง 

“รัฐบาลต้องการเพียงแค่ 238 ก็คือเอาเสียงจากพรรคเล็กมาก็ได้แล้ว ซึ่งพรรคเล็กอาจจะไม่จำเป็นที่จะเทให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งหมด อาจจะมีแตกแถวไปอยู่กับ ร.อ.ธรรมนัส บ้าง แต่ก็มีคนค้านว่า ฝ่ายธรรมนัสไม่ได้มี ส.ส. อยู่แค่ 31 คน เขายังมีคนที่ฝากเลี้ยงไว้อยู่กับพรรคร่วมรัฐบาลด้วย โดยเฉพาะในพรรคพลังประชารัฐ แต่ฝั่งรัฐบาลเองก็มี ส.ส. ฝากเลี้ยงไว้กับฝ่ายค้านเหมือนกัน ฉะนั้นหักลบกลบหนี้กันแล้ว เชื่อว่ารัฐบาลจะยังรอดจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ”

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์คาดการณ์ต่อไปว่า ตัวแปรสำคัญของการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้คือ พรรคเล็ก และด้วยเงื่อนไขของระบบเลือกตั้งที่จะเปลี่ยนไป มีส่วนทำให้พรรคเล็กเริ่มมองเห็นว่า การจะกลับมาในสภาอีกครั้งเป็นเรื่องที่ยากมาก ฉะนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะอยู่ในสภาในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลให้ได้นานที่สุด เพื่อต่อรอง กอบโกย และอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองให้ได้นานที่สุด ฉะนั้นนี่คือแรงจูงใจที่จะทำให้พรรคเล็กยังคงสนับสนุนรัฐบาลอยู่ 

“เว้นเพียงแต่ว่า อัตราต่อรอง มันต่างกันมาก แต่เชื่อว่าอย่างไรรัฐบาลก็พร้อมที่จะจ่าย และอาจจะมีการให้รางวัลรูปแบบอื่น ซึ่งอีกไม่นานก็จะมีการผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในเดือนมิถุนายน ด้วย”

ส่วนกรณีที่มองว่าพรรคร่วมรัฐบาลอาจจะหักหลังกันเองนั้น โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่พร้อมที่จะเลือกตั้งที่สุด สิริพรรณมองว่า จะยังไม่มีการถอนตัวของพรรคร่วมรัฐบาล แต่หากการคาดการณ์นี้ผิด ส.ส. เสียงข้างมากลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ และสามารถล้มรัฐบาลลงได้ สิริพรรณ อธิบายถึงย่างก้าวทางการเมืองต่อไปว่า นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งหมดจะยังคงทำหน้าที่รักษาการณ์อยู่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทน 

ส่วนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้น ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุให้รัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากแคนดิเดตนายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอชื่อไว้ โดยเวลานี้เหลือเพียง 5 รายชื่อเท่านั้นถ้าไม่รวม พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งสามารถถูกเลือกกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งได้ แต่สิริพรรณมองว่าในรายชื่อที่อยู่ ไม่มีรายชื่อใดที่พอจะเป็นที่ยอมรับได้จากทุกฝ่าย รวมทั้งไม่ได้สร้างความหวังถึงการเดินต่อไปข้างหน้า

“การโหวตเลือกนายกฯ รัฐมนตรี โดยการเลือกรายชื่อจากที่พรรคการเมืองเสนอไว้ สิ่งนี้คือจุดบอดของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน”

อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรค 2 ให้เลือกนายกฯ นอกเหนือไปจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ได้ แต่กระบวนการนี้เป็นไปได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากจะต้องใช้เสียงครึ่งหนึ่งของรัฐสภาเพื่อเปิดช่องให้มีการเลือกนายกฯ ด้วยวิธีนี้ และผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะต้องได้คะแนนเสียง 2 ใน 3 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของรัฐสภา ความเป็นได้หากจะมีอยู่บ้างสำหรับการเลือกนายกฯ ด้วยวิธีการนี้ คือ มีการเจรจากันระหว่าง ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และ ส.ว. 


มองคำวิจิฉัยศาลรัฐธรรมนูญ หากให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงแหน่งต่อ อาจสร้างแรงกระเพื่อม

สิริพรรณ กล่าวต่อถึงมรสุมที่ 2 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี ซึ่งน่าจะมีการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเดือน ส.ค. ว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นลบกับตัว พล.อ.ประยุทธ์ ย่างก้าวทางการเมืองหลังจากนั้นจะเป็นเหมือนกับการแพ้อภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ความต่างคือ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่สามารถถูกโหวตกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่เป็นคุณต่อ พล.อ.ประยุทธ์ โดยไม่มีเหตุผลรองรับที่หนักแน่นพอ ไม่เป็นที่ยอมรับอย่างเพียงพอ อาจทำให้การดำรงตำแหน่งต่อของประยุทธ์หมดความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง 

“หากคำวินิจฉัยเป็นคุณต่อ พล.อ.ประยุทธ์ โดยที่ไม่มีเหตุผลหนักแน่นพอ อาจจะทำให้การดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ในเวลาที่เหลือ ขาดความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง ทำให้ระบอบประยุทธ์หมดความชอบธรรม และอาจจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดความไม่พอใจต่อรัฐบาล ผนวกรวมกับราคาข้าวของแพง ราคาน้ำมันผันผวน และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างมาก ก็อาจจะทำให้เกิดความไม่พอใจสูงมากขึ้น”


ที่ทางของผู้เล่นทางการเมืองภายใต้ระบบเลือกตั้งใหม่ 

สำหรับเรื่องระบบเลือกตั้งแบบใหม่ ซึ่งมีการแก้ไขในรัฐธรรมนูญไปแล้วและในเวลานี้กำลังมีพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในชั้นกรรมมาธิการ ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวาระ 2 และ 3 นั้น มีข้อถกเถียงมาอย่างต่อเนื่องถึงรูปแบบการคิคคำนวณสัดส่วนที่นั่ง ส.ส. โดยส่วนหนึ่งมีความพยายามที่จะให้มีการคำนวณในลักษณะเดียวกันกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 คือ ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นชัดเจนแล้วว่าให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้งและใช้วิธีคำนวณที่นั่ง ส.ส. แบบเดียวกับที่เคยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 คือ คิดที่นั่งแยกกันระหว่าง ส.ส. เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 

สิริพรรณ เห็นว่า เรื่องนี้ต่อให้มีความพยายามที่จะกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งลักษณะเดิมจริง ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยง่าย เพราะในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้อย่างชัดเจนแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือ พรรคที่เห็นด้วยกับการกลับมาใช้ระบบเลือกตั้งแบบปี 2540 คือ พรรคพลังประชารัฐ

สาเหตุที่พรรคพลังประชารัฐมองว่า ควรกลับมาใช้ระบบเลือกตั้งแบบปี 2540 นั้น สิริพรรณมองว่า เป็นเพราะช่วงเวลาที่กำลังมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น พลังประชารัฐกำลังรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ หากใช้ระบบที่คิดที่นั่ง ส.ส. เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อแยกออกจากกันก็จะทำให้พลังประชารัฐมีเสียงมากขึ้น และเป็นไปเพื่อตัดปัญหาการต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาล แต่เวลานี้ดูเหมือนคะแนนนิยมในตัวพรรคพลังประชารัฐกำลังลดต่ำลง แน่นอนว่าอาจจะส่งผลต่อการเปลี่ยนใจกลับมาใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ 

ถึงอย่างนั้น สิริพรรณ มองว่าต่อให้ทางฝ่ายผู้มีอำนาจอยากจะเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งในเวลานี้มากแค่ไหน ก็ต้องเผชิญหน้ากับโจทย์ใหญ่ 2 โจทย์ด้วยกัน

โจทย์แรก หากดูที่ความตั้งใจของพลังประชารัฐที่เคยพลักดันให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบปี 2540 นั้นเกิดจากความต้องการเป็นพรรคใหญ่ที่ได้ ส.ส. เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพิ่มขึ้น ต้องการตัดโอกาสพรรคเล็กที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อลดปัญหาการต่อรองและภาระที่ต้องแบกรับดูแลให้พรรคเล็กยังอยู่ร่วมกับรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ 

แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดที่ทำให้พลังประชารัฐเคยผลักดันระบบเลือกตั้งแบบปี 2540 คือ ความต้องการกำจัดศัตรูทางการเมืองใหม่ คือ พรรคก้าวไกล โดยไม่ได้มองว่าพรรคเพื่อไทยเป็นภัยคุกคามมากเท่าพรรคก้าวไกล 

ฉะนั้นโจทย์แรกที่พลังประชารัฐจะต้องตอบให้ได้ หากจะกลับมาใช้ระบบเลือกตั้งแยยจัดสรรปันส่วนผสมคือ จะทำอย่างไรกับพรรคก้าวไกล เพราะระบบเลือกตั้งนี้เป็นระบบที่จะทำให้พรรคก้าวไกลได้จำนวนที่นั่งในสภาสูง สิริพรรณย้ำด้วยว่า นี้ไม่ใช่เพียงโจทย์ของพรรคพลังประชารัฐ แต่เป็นโจทย์ของฝ่ายอนุรักษนิยมทั้งหมดด้วย 

โจทย์ที่สอง คือ ต่อให้อยากจะกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมแค่ไหน ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 มาตรา สาระสำคัญคือ มาตรา 83, 86 และ 91 

มาตรา 83 คือ การแก้ไขจาก 350 เขต 150 บัญชีรายชื่อ ให้กลายเป็น 400 เขต 100 บัญชีรายชื่อ และกำหนดให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ 

มาตรา 86 คือ การแก้ไขให้มีการแบ่งเขตใหม่จาก 350 เขต เป็น 400 เขต 

มาตรา 91 เป็นหัวใจสำคัญคือ เรื่องของการคำนวณที่นั่ง ส.ส.ตามที่มีการแก้ไขนั้น ระบุไว้ว่า การคำนวณผู้สมัครรัับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ให้นำคะแนนของแต่ละพรรคที่ได้มารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งของแต่ละพรรค ที่สัมพันธ์โดยตรงกับคะแนนรวมข้างต้น ซึ่งหมายถึงคะแนนของบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 

ฉะนั้น สิริพรรณเห็นว่า ในมาตรา 91 ได้ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่าเป็นการคำนวณที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยแยกขาดจาก ส.ส.แบบเขตเขต หรือพูดง่ายๆ คือนำคะแนนบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมืองมารวมกันแล้วหารด้วย 100 คือจำนวนที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไม่ใช่ 500 ซึ่งคือจำนวนที่นั่งของ ส.ส.ทั้งหมดในสภา 

อย่างไรก็ตาม หากมีความพยายามที่จะแก้ให้กลับไปเป็นแบบเดิม โดยอ้างมาตรา 93 ซึ่งเป็นมาตราที่ไม่ได้มีการแก้ไข ซึ่งระบุถึงคำว่า “ส.ส. พึ่งมี” ในกรณีนี้ สิริพรรณ ยืนยันว่า คำว่า ส.ส.พึงมี ไม่ได้เป็นคำที่มีความผูกพันโดยตรงกับการใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม เพราะคำนี้มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว และคำว่า "ส.ส.พึงมี" นี้หมายถึง ส.ส.พึงมีในระบบบัญชีรายชื่ออย่างเดียวได้เช่นกัน 

“แต่มันก็มีความเป็นได้ถ้าเขาจะตีความให้มันกลับไปใช้ระบบเดิม ให้ใช้ 500 เพราะประเทศเรามีปาฏิหารย์ทางกฎหมายมาแล้วหลายครั้ง แต่พรรคพลังประชารัฐและฝ่ายอนุรักษนิยมจะต้องคิดให้ดีเพราะว่า ไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐพรรคเดียวที่จะได้ประโยชน์จากการตีความแบบนั้น ก้าวไกลจะเป็นพรรคที่ได้ประโยชน์สูงสุด ดังนั้นโจทย์มัมเหมือนกับดาบสองคม ทางสองแพร่งสำหรับพลังประชารัฐ และฝั่งอนุรักษนิยมมากกว่า”

ส่วนทางทีของพรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทยซึ่งเป็นพรรคที่งดออกเสียงให้กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบเลือกตั้งใหม่นั้น ในเวลาปัจจุบันก็ยังคงนิ่งต่อข้อถกเถียงเรื่องระบบเลือกตั้ง สิริพรรณมองว่า สาเหตุที่ภูมิใจไทยนิ่งเงียบในประเด็นนี้ เป็นเพราะไม่ว่าจะเป็นระบบเลือกตั้งแบบใดจำนวนที่นั่งที่พรรคภูมิใจไทยได้รับก็จะไม่แตกต่างกันมากนัก 

“การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาภูมิใจไทยได้ที่นั่งใกล้ๆ กับประชาธิปัตย์ แต่ตอนนี้มีที่นั่งมากกว่าแล้ว เพราะดูด ส.ส. มาจากพรรคอื่นๆ จริงๆ ภูมิใจไทยเองก็เป็นพรรคที่ได้ประโยชน์จากระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้มีน้ำหนักมากขนาดนั้น เพราะโดยธรรมชาติแล้วเขาเป็นพรรคที่ชนะ ส.ส.เขตมากกว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดูแล้วภูมิใจไทยน่าจะพอใจที่มีจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเพิ่มขึ้น ซึ่งนั้นเป็นเหตุผลว่า เขาไม่จำเป็นต้องดิ้น”

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้น สิริพรรณมองว่า ในเวลานี้เป็นพรรคการเมืองที่ขนาดของพรรคจะแปรผกผันกับพรรคพลังประชารัฐ หากพรรคพลังประชารัฐโตขึ้น ประชาธิปัตย์ก็จะเล็กลง หากพรรคพลังประชารัฐแตก ก็จะกลายเป็นจุดที่ชุบชีวิตให้กับพรรคประชาธิปัตย์ได้ เพราะทั้งสองพรรคมีฐานเสียงเดียวกัน แต่คงไม่กลับมาใหญ่เท่าเดิมภายใต้การนำของจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 

มากไปกว่านั้น สิริพรรณมองว่า แม้พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคหลักที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเพื่อให้มีการแก้ไขระบบเลือกตั้ง แต่ถึงที่สุดแล้วก็ไม่ชัดเจนว่า ผลประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับคืออะไร 

สำหรับความขัดกันในเรื่องระบบเลือกตั้งที่มีมาตั้งแต่เริ่มต้นระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลนั้น สิริพรรณเห็นว่า ประเด็นนี้จะไม่ใช่ชนวนความขัดแย้งระหว่างสองพรรค เพราะดูแล้วก้าวไกลมีท่าทีที่ยอมรับระบบเลือกตั้งแบบปี 2540 เพราะที่ผ่านมาได้พยายามสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งระบบเรื่องตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมแล้ว 

“ทั้งสองพรรคต้องเข้าใจว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า ภูมิทัศน์ทางการเมืองได้เปลี่ยนไปเยอะ เดิมฝั่งเพื่อไทยมีเพื่อไทยอยู่พรรคเดียว อีกฝั่งหนึ่งมีประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ฯลฯ เพื่อไทยเองก็พอใจกับคะแนนเสียงที่ได้รับโดยไม่ต้องแคร์โหวตเตอร์อีกฝั่งหนึ่ง แต่ครั้งนี้ได้เกิดพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่มาแทนพื้นที่ของเพื่อไทย แต่ทั้งสองพรรค (ก้าวไกล เพื่อไทย) ต้องเข้าใจว่า ความความทับซ้อนของคะแนนมันมีมากกว่า 2 พรรค ตอนนี้ยังมีพรรคของคุณหญิงสุดารัตน์ ส่วนก้าวไกลก็มีคะแนนเสียงทับซ้อนกับประชาธิปัตย์ บรรดาแฟนคลับที่รักพรรคก็มักจะเชียร์พรรคของตัวเอง แต่ในส่วนของผู้นำพรรคเชื่อว่าเขาจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้”

ถึงที่สุดสิริพรรณเห็นว่า ระบบเลือกตั้งจะไม่ใช่ประเด็นที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างก้าวไกลและเพื่อไทย ซึ่งหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าก็ยังมีความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยกับก้าวไกลจะจับมือกันผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนประเด็นเรื่องระบบเลือกตั้งก็คงกลับมาเป็นประเด็นที่จะต้องถกเถียงกันอีกครั้ง และจบลงด้วยเสียงข้างมากในสภา