ก่อนจะได้ฤกษ์แย้มคิวประกาศผลการเลือกตั้งอย่างน้อยร้อยละ 95 ตามกรอบ 150 วัน ไม่เกินวันที่ 9 พ.ค. เพื่อให้กลไกรัฐสภาเดินหน้าเฟ้นหานายกรัฐมนตรี คนที่ 30 จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ตามไทม์ไลน์ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ดีไซน์มาให้คนที่คุณก็รู้ว่าใคร ดังนี้
เริ่มจาก วันที่ 7 พ.ค. 2562 กกต.จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง อย่างน้อยร้อยละ 95 หรือคิดเป็น 333 เขต จาก 350 เขต ตามรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาล มาตรา 268 ต่อด้วยประกาศรับรองผลการเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออย่างน้อยละ 95 เช่นกัน คิดเป็น 142 คน จาก 150 คน ในวันที่ 8 พ.ค. รวม 475 คน จากทั้งหมด 500 คน
ในส่วนของส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อาจเกิดองศาร้อน หาก กกต. เลือกใช้สูตรคิดที่ทำให้มี 27 พรรคการเมือง มี ส.ส.
ทั้งที่ พรรคการเมืองขนาดเล็กได้คะแนนต่ำกว่า 71,000เสียง กว่า 14 พรรค เหมือนได้ ส.ส.แจกพรรคละ 1 คน ทั้งที่ต่ำกว่ายอดส.ส.พึงมี
พรรคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ อนาคตใหม่ ส.ส.บัญชีรายชื่อหายไป 7-8 คน นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ประกาศชัดเจน ขอสงวนสิทธิในการฟ้องร้องทวงถามความเป็นธรรมทันที
ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำสั่งรับคำร้องจากผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมมีกำหนดวินิจฉัยในวันที่ 8 พ.ค. ซึ่งน่าสังเกตว่า เป็นวันเดียวกับวันที่ กกต. กำหนดจะประกาศผลด้วย
หลังจากนั้นไม่เกิน 3 วัน หรือไม่เกินวันที่ 11 พ.ค. จะได้พบกับโฉมหน้า "ส.ว.ลากตั้ง" ที่ไม่มีใครได้ร่วมกำหนด ถือเป็น"เอกสิทธิ์"ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้แต่งตั้ง 250 คน
แบ่งเป็น 6 คน ตามตำแหน่งผู้นำเหล่าทัพ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.ทบ. ผบ.ทอ. ผบ.ทร. ผบ.สส. และผบ.ตร. 50 คน จากการเลือกไขว้กลุ่มอาชีพสุดเงียบเชียบเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และ 194 คน ที่คณะกรรมาสรรหา อันมี "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" เป็นประธาน ก็ไม่มีใครทราบขั้นตอนการรับสมัครหรือการพิจารณา ไอลอว์พยายามกระทุ้งถามขอให้เปิดเผยก็โยนโบ้ยกันไปมา 45วันผ่านไปคำตอบอยู่ในสายลม "เรื่องถึงข้างบนแล้ว รอตอบกลับ"
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. นายกฯ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แม้ขึงขังการันตี มีพลเรือนมากกว่าทหาร แต่ยังต้องรอดูตอนจบ กูรูการเมืองฟันธง หนีไม่พ้น "บริวาร-บริกร" คนกันเอง "เพื่อนตู่-น้องป้อม" เรียงคิว"จัดแถว" ทำตามใบสั่งเต็มที่
จากนั้นภายใน 15 วัน นับจากประกาศผลการเลือกตั้ง ไม่เกินวันที่ 23 พ.ค. ก็จะเข้าสูู่ขั้นตอนการทำ "พระราชพิธี" เปิดประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก ก่อนแยกย้ายเปิดประชุมครั้งแรกกันตามแต่ละสภาทั้งสอง เพื่อดำเนินการเลือกประธานและรองประธานกุมบังเหียนการประชุมต่อไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายเดือนพ.ค.นี้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ให้ความเห็นว่า กรอบการเลือกนายกฯ ต้องขึ้นกับการคัดเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นประธานรัฐสภาก่อน เพื่อเรียกประชุมรัฐสภาลงมติเลือกนายกฯ โดยวิเคราะห์ว่า กว่าจะได้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ในเดือน มิ.ย.
การคัดกรองประธาน"สภาสูง" คงไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น แต่ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ "สภาล่าง" โฉมหน้าหน้านายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จะเริ่มเห็นเค้าลาง ผ่านการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่จะมี นายชัย ชิดชอบ หรือปู่ชัย ทำหน้าที่ชั่วคราว ในฐานะอาวุโสสูงสุดด้วยวัย 91 ปี
การประลองกำลัง ระหว่างฝ่ายต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. นำโดยเพื่อไทยและ อนาคตใหม่ กับ ฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. นำโดย พปชร. จะเริ่มขึ้นยกแรก
ใครยังคงความเป็นคน ใครแปรเปลี่ยนเป็นงูเห่าก็จะได้รู้กัน
ฝ่ายใดรวมเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาล่าง วางตัวประมุขฝ่ายนิติบัญญัติได้ จะชิงความได้เปรียบมหาศาล โดยเฉพาะฝ่ายต่อต้านการสืบทอดอำนาจ ทั้งในทางนิติบัญญัติ กระบวนการพิจารณากฎหมายฉบับสำคัญทั้ง 3 วาระจะทำได้อย่างราบรื่น ไม่ต้องหวาดผวาเสียงปริ่มน้ำ เมื่อต้องลงมติกฎหมายสำคัญอย่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ในทางการเมืองพรรคที่มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาล่างก็ย่อมมีความชอบธรรมอย่างยิ่ง ต่อการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาล
แม้ฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. จะมีแต้มต่อ 250 ส.ว.ตุนแล้วอยู่ในมือ แต่สังคมย่อมตระหนักและทวงถามถึง "สามัญสำนึก" ของนักลากตั้งทันที หากมีการดึงดันโหวต "นายกฯคนเดิม" แล้วเกิด "รัฐบาลเสียงข้างน้อย" จนทำให้ "ไร้เสถียรภาพทางการเมือง" ทั้งที่ประชาชนแสดงเจตจำนงไว้ชัดเจนในการเลือกตั้งส.ส.เมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา
เดิมพันของนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จึงสูงลิบ การลงมติเลือกนายกฯในรัฐสภา จึงอาจไม่ง่ายและยืดเยื้อ หากแต่ละฝ่ายไม่สามารถกุมเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาล่าง เกมการเมืองเรื่องตันหา อันสืบเนื่องจากความกระสันในอำนาจ แล้วนำประเทศชาติเป็นตัวประกัน ก็จะเริ่มต้นขึ้นแล้วไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร
เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 เกี่ยวกับการเลือกนายกฯ ไม่ได้กำหนดให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลาเท่าใด มีเพียงพล.อ.ประยุทธ์ และนายวิษณุ ที่ออกมาให้ความเห็นว่า ครม.ชุดใหม่จะเกิดขึ้นในเดือนมิ.ย.นี้ แต่เมื่อยังไม่มีรัฐบาลใหม่ ผู้กุมความได้เปรียบในช่วงรอยต่อแห่งอำนาจก็คือคสช.ที่จะยังคงอยู่ต่อไป พร้อมด้วยมาตรา 44 ควบคู่ไปกับการใช้อำนาจต่อรองกดดันหางูเห่ามาสนับสนุนเพิ่มเติม
ทั้งยังมีบทเฉพาะกาล มาตรา 272 วรรคสอง ยังเปิดทางให้ สมาชิกรัฐสภา 500 เสียง จาก 750 เสียง ลงมติงดเว้นเลือกนายกฯที่อยู่ในบัญชีนายกฯ ตามมาตรา 88 ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่า นี่คือช่องปูทางสู่รัฐบาลแห่งชาติ ตามที่ว่าที่ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์นำเสนอ
ปฏิทินการเมืองเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล นับจากวันที่ 8 พ.ค.นี้เป็นต้นไป จึงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน อาจยืดเยื้อนานนับเดือน โดยฝ่ายสืบทอดอำนจกุมความได้เปรียบทั้งหมดผ่านกลไกที่วางไว้กติกาก็จริง 3
แต่การเดินหน้าด้วยเสียงปริ่มน้ำไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อถึงคราวเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจก็อาจม้วนเดียวจอด ข่าวลือเลือกตั้งใหม่อีกครั้งปลายปี 2562 อาจไม่ใช่แค่ข่าวลือ
ปฏิทินหลัง กกต. ประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส.
กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง อย่างน้อยร้อยละ 95 หรือ 333 คน
กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งบัญชีรายชื่อ อย่างน้อยร้อยละ 95 หรือ 142 คน (ม.268)
ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย สูตรคิดส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 128 ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่
ประกาศแต่งตั้ง 250 ส.ว. (ม. 269)
รัฐพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรก (ม.121-122)
ดำเนินการเลือกประธาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา
เปิดประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติเลือกนายกฯ (ม.159) ไม่มีกรอบเวลา
ได้นายกฯ และครม.ชุดใหม่ ตามการวิเคราะห์ของนายวิษณุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง