วันที่ 12 ก.ย. 2566 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ เป็นวันที่ 2 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย ชัยธวัช ตุลาธน สส.แบบบัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคก้าวไกล อภิปรายในส่วนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการเมือง โดยกล่าวว่า ทำไมนโยบายด้านการเมืองที่สำคัญเรื่องนี้สำคัญ เพราะปฎิเสธไม่ได้ว่าสภาพการณ์ของบ้านเมืองเราที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งผมเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกว่าที่ผ่านมามันดีขึ้น
ชัยธวัช กล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรีได้บอกว่าทางด้านการเมืองประเทศไทยได้เข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านด้านกฎหมายการเมืองและการปกครอง แต่พยายามอ่านหลายรอบและตั้งคำถามว่ารัฐบาล นายกฯ กำลังหมายความว่าเรากำลังเปลี่ยนจากอะไรไปสู่อะไร เมื่อไล่อ่านดูพบว่ามี 7 หัวข้อ
เรื่องแรกนายกรัฐมนตรีได้บอกว่ารัฐบาลชุดนี้มีนโยบายที่จะพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ แน่นอนว่าการพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลต้องทำ ในฐานะที่เป็นองค์พระประมุขของประเทศ
"แต่ผมกำลังสงสัยว่าการที่นายกรัฐมนตรีได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นแรก รัฐบาลกำลังส่งสัญญาณอะไร รัฐบาลกำลังจะบอกว่าปัญหาทางการเมืองที่สำคัญมากๆ ขณะนี้ คือสถาบันพระมหากษัตริย์ของเรา กำลังถูกคุกคามจนกลายเป็นภารกิจแรกที่นายกฯ กล่าวถึงใช่หรือไม่"
ขณะที่ความเป็นจริงอีกด้านที่ไม่ถูกกล่าวถึงคือการรัฐประหาร 2 ครั้ง เรากำลังเผชิญปัญหาใหญ่ ก็คือปัญหาการนำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่
“ถ้าผมปิดตาฟัง พารากราฟแรกว่ารัฐบาลจะทำอะไร ผมนึกว่านี่เป็นคำแถลงของรัฐบาลประยุทธ์ 3” ชัยธวัช กล่าว
ขณะที่เรื่องนโยบายพัฒนากองทัพ นายกฯ แถลงว่าเพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี คือมีความมั่นคงทั้งภายในภายนอกที่สอดคล้องกับสภาวะของโลก รัฐบาลจะสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างของหน่วยงานความมั่นคงให้มีความทันสมัย ต้องชื่นชม อย่างน้อยนโยบายในด้านนี้มีความพยายามอยู่บ้างที่จะลงรายละเอียด
ชัยธวัช กล่าวว่า สังคมไทยเราเคยพลาดการปฏิรูปกองทัพมาแล้วหลังจากเหตุการณ์เดือน พ.ค. 2535 เพราะตอนนั้น เราต่างคิดว่าเมื่อทหารที่ลุกขึ้นมาทำการรัฐประหารถูกประชาชนขับไล่กลับเข้ากรมกองไปแล้ว กองทัพจะเลิกยุ่งกับการเมืองไปเองโดยอัตโนมัติ แม้จะไม่มีการปฏิรูปกองทัพอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด แต่มาถึงวันนี้เราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าความคิดนั้นผิด
อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าในรัฐบาลใหม่ชุดนี้ เรามี สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนแรกที่เป็นพลเรือนและไม่ใช่นายกรัฐมนตรี มีความน่าสนใจหมายความว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคที่พลเรือนอยู่ในกองทัพใช่หรือไม่ หรือเอาเข้าจริงแล้วการส่งพลเรือนมานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมครั้งนี้ จะกลับกลายเป็นการส่งสัญญาณจากรัฐบาลใหม่ว่ารัฐบาลพลเรือนชุดนี้จะไม่ยุ่งจะไม่แตะกองทัพ
ชัยธวัช กล่าวว่า พรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลมีนโยบายที่เรียกว่าปฏิรูปกองทัพเป็นทหารอาชีพ ตนตามไปดูเอกสารที่ส่งในคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้บรรยายว่าจะปฏิรูปกองทัพเพื่อป้องกันการก้าวก่าย แทรกแซงทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้มีความเป็นทหารอาชีพ เสนอกฎหมายป้องกันและต่อต้านการรัฐประหารและแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหารโดยให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ ปรากฏว่าตอนแถลงนโยบายของรัฐบาลเมื่อวานนี้ความมุ่งมั่นชัดเจนของแกนนำรัฐบาลหายไปไหน
“ดูน่ารักนะครับ จากบอกว่าจะเสนอกฎหมายป้องกันและต่อต้านรัฐประหารหายไปเลยครับ ไม่แม้แต่จะพูดถึงคำว่ารัฐประหารสักคำในการแถลงนโยบายของรัฐบาลพลเรือนครั้งแรก หลังการรัฐประหารปี 2557 ทั้งๆ ที่เรื่องการรัฐประหารเป็นปัญหาสำคัญมากของการเมืองไทยและพี่น้องประชาชนหลายล้านคนที่ออกมาเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 ต่างก็คาดหวังว่าเมื่อเรามีรัฐบาลที่นำโดยพลเรือนชุดใหม่ รัฐบาลใหม่จะมีนโยบายปฏิรูปกองทัพเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารอีก” ชัยธวัช กล่าว
"คำว่ารัฐประหารนี้หน้าแสลงใจมากใช่หรือไม่ หรือนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดนี้เกรงใจพลเอกประยุทธ์ และคณะรัฐประหารมากขนาดนั้นเลยใช่หรือไม่ แล้วที่เคยบอกว่าจะแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหารให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ"
ชัยธวัช ระบุว่า พอฟังและอ่านซ้ำในการแถลงนโยบายช่างเต็มไปด้วยความคลุมเครือและไม่ชัดเจน ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ได้ให้สัมภาษณ์บอกว่าจะค่อยๆค่อยๆลดสัดส่วนการบังคับเกณฑ์ทหารและเพิ่มสัดส่วนคนที่สมัครใจมาเป็นทหารเกณฑ์
ชัยธวัช ย้ำว่า ต้องถามให้ชัดเพราะการเลิก การลดการเกณฑ์หารมันต่างกันมาก ถ้าแค่ลดเท่านั้น ฝสงสัยว่าจะมีอะไรใหม่ เพราะต่อให้ไม่มีรัฐบาลชุดใหม่หลายปีมาแล้ว กองทัพก็ดำเนินการเรื่องนี้อยู่แล้ว
“ลองสลับท่านสุทินเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ไปนั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในคณะรัฐบาลชุดนี้ ก็ไม่มีอะไรต่างออกไป สภากลาโหมที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเป็นหัวโต๊ะ เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมานี้ ก็ได้ประกาศแผนการปฏิรูปมีเรื่องนี้เนื้อหาสาระเดียวกันเลย แถม พล.อ.ประยุทธ์ยังได้ย้ำในที่ประชุมสภากลาโหมครั้งนั้นด้วยว่านี่คือแผนของเราที่ทำอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวว่าใครจะมาหรือไม่ ท่านนายกฯ เศรษฐา รัฐมนตรีสุทินได้ยินไหมครับ” ชัยธวัช กล่าว
แบบนี้รัฐบาลใหม่จะให้ สุทินไปนั่ง เป็นแค่โฆษกกองทัพใช่หรือไม่ ท่านรัฐมนตรีสุทิน อาจจะบอกว่ารัฐบาลมีเป้าหมายจะยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารทั้งหมดในที่สุด แต่ที่ไม่สามารถยกเลิกได้ทันทีเพราะกลัวจะไม่มีคนมาสมัครเป็นคนทหารพอกับจำนวนกำลังคนที่ต้องการ
ชัยธวัช แนะนำว่า การกำหนดนโยบายควรจะเริ่มต้นจากจำนวนกำลังพลว่าต้องการเท่าไหร่ เราต้องการกำลังพลทหารประจำการมากขนาดนี้เพื่อไปเตรียมกำลังลบภาคพื้นดินขนานใหญ่กับใคร ตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ปัจจุบันโจทย์ได้เปลี่ยนไปแล้ว กองทัพขนาดใหญ่มีกำลังพลเยอะ ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อรองรับภัยคุกคามและสงครามแบบเดิมไม่ตอบโจทย์ความมั่นคงสมัยใหม่แล้ว
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการทำไอโอ พรรคก้าวไกลอภิปรายมา 3 ครั้งซ้อนแล้ว อยากเปลี่ยนเรื่องอภิปรายบ้าง หากเกิดขึ้นต่อไปจะเป็นการปล่อยให้กองทัพเป็นคู่ขัดแย้งกับพลเรือนหรือไม่
“ผมอยากสรุปสั้นๆ ว่านี่ไม่ใช่นโยบายพัฒนากองทัพร่วมกันหรือไม่ แม้แต่จะใช้เรื่องการปฏิรูปกองทัพ แต่นี่คือนโยบายเขตทหารห้ามเข้า หมายความว่าคำแถลงนโยบายเกี่ยวกับกองทัพ ได้ส่งสัญญาณว่าการปฏิรูปกองทัพโดยพลเรือนจะไม่เกิดขึ้น นอกจากสิ่งที่กองทัพออกแบบมาเองและอนุญาตให้ทำ ผมคิดว่าไม่ใช่เป็นเพราะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลตระบัดสัตย์ ไม่ใช่เพราะนโยบายที่พูดในตอนหาเสียงเป็นแค่เรื่องเทคนิคหรือคำโฆษณา และไม่ใช่เพราะเป็นรัฐบาลผสมด้วย แต่สะท้อนให้เห็นรากฐานทางการเมืองหรือความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เป็นจริงในรัฐบาลเศรษฐา 1"
"ผมฟังและอ่านหลายรอบเราไม่ได้เข้าสู่จุดเปลี่ยนอย่างที่นายกฯ แถลงไว้ รัฐบาลเศรษฐาหนึ่งได้เข้าไปเป็นส่วนต่อขยายของระบอบประยุทธ์ เพื่อพยายามหยุดยั้งการเปลี่ยนผ่านเหนี่ยวรั้งสังคมไทยให้อยู่กับระบบการเมืองแบบเดิมโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมแบบเก่าและวัฒนธรรมแบบจารีตต่อไป” ชัยธวัช กล่าว
'เศรษฐา' หดหู่เจอวาทกรรมด้อยค่า หวังสังคมเดินหน้าลดขัดแย้ง เผยคุยแม่ทัพแล้วเรื่องปฏิรูปกองทัพ เสนอชายไทยมีสิทธิเลือกสมัครทหารเอง
จากนั้น เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ชี้แจงถึงนโยบายปฏิรูปกองทัพ โดยระบุว่า การอภิปรายวันสุดท้ายค่อนข้างหดหู่ใจ เรื่องของการด้อยค่า ขอยืนยันว่า ทุกหน่วยงานรัฐมีทั้งคนดี-คนไม่ดี การเลือกตั้งเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาที่หมักหมม ปัญหาการไม่เข้าใจกันเป็นเรื่องของช่องว่างที่มีระหว่างกัน ประเด็นที่สมาชิกจะยกมาอภิปรายเป็นเรื่องของทหารและประชาชน
“รัฐบาลภายใต้การนำของผม ใช้แผนพัฒนากองทัพ ความหมายใกล้เคียงกัน แต่ผลลัพธ์ออกมาอาจจะแตกต่างตามขีดจำกัดในการทำงาน เห็นสังคมเดินไปข้างหน้า ลดความขัดแย้ง ลดการใช้วาทกรรมด้อยค่าในสภา”
เศรษฐา ชี้แจงอีกว่า ขณะที่ฟังการอภิปรายเห็นใบหน้ายิ้มแย้ม หัวเราะเยาะ หลายอย่างอาจจะเป็นตัวอย่างที่ดี หรือต้องการการพิสูจน์ทราบ แต่วิธีการนำเสนอคำพูดต่างๆ แทนที่จะทำให้บรรยากาศการทำงานร่วมกันพัฒนาสถาบันทหารควบคู่ไปกับการมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ประชาชนจะลำบากขึ้น ในฐานะผู้นำรัฐบาล มีความเป็นห่วงการใช้วาทกรรมด้อยค่ากัน
“การที่เราจะพัฒนากองทัพร่วมกัน เป็นเรื่องที่ต้องให้เกียรติทั้งกองทัพและภาคการเมือง ที่ต้องมีเวลาในการทำงานร่วมกัน เกณท์ทหารแบบสมัครใจ ยืนยันให้ชายไทยทุกคนมีสิทธิ์ในการเลือกประกอบอาชีพอย่างสมศักดิ์ศรี ธำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของสถาบันทหาร เมื่อยามต้องการทหารมาปกป้องอธิปไตยของประเทศไทย ภาคส่วนทหารมีวินัยสูง"
นอกจากนี้ ได้มีการพูดคุยกับผู้นำเหล่าทัพอย่างผู้ใหญ่ที่อยากเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า เรื่องของการใช้งบช่วยพัฒนาดูแลประชาชนยามเกิดปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม วิกฤตเศรษฐกิจ ภาคส่วนทหารให้การตอบรับที่ดี ท่านยืนยันว่าพร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือประชาชน
ส่วนเรื่องของการลดขั้นตอนการดูแลจัดซื้ออาวุธ ต้องเอาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ในช่วงที่เศรษฐกิจเปราะบาง ในช่วงที่รัฐบาลต้องการงบประมาณในการจัดสรรไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ ที่มีความจำเป็นมากกว่า การตอบรับที่ดีจากทหารเป็นเรื่องที่คาดหวังไว้ ทหารพูดมากกว่านั้นไม่ใช่เพียงแค่ให้พื้นที่บางส่วนให้ประชาชนทำมาหากินเอง แต่จะมีการพัฒนาพื้นที่ให้มีความพร้อม เพื่อให้ประชาชนสามารถทำมาหากินได้ และจะขยายต่อไปในทุกภูมิภาค
“ขอเวลาหน่อย วันนี้ผมเพิ่งเข้ามา ไม่อยากได้ยินการด้อยค่ากันและกัน โตๆ กันแล้ว เป็นผู้ใหญ่ ผมตระหนักดีเรื่องการซื้อขายอาวุธ”
ขณะที่นายกรัฐมนตรีกำลังชี้แจงอยู่นั้น รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วง ว่า นายกฯ ใช้คำว่าถ้าโตๆ กันแล้ว ถ้าเป็นนายกฯ อย่าใช้ข้อความเสียดสีเราอธิบายด้วยเหตุและผล ถ้านายกฯ รู้สึกเราเสียดสีท่าน ท่านต้องอย่าเสียดสีพวกเรา
จากนั้น พรเพชร กล่าวว่า ได้ฟังคำอภิปรายทุกคน ท่านก็พูดในแง่ลบกับนายกฯ ท่านนายกฯ ก็ต้องผู้ชี้แจงในสิ่งที่ถูกพูดถึง อย่าใช้คำว่าเสียดสี ขอให้นายกฯ ได้ชี้แจงต่อ
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อไปว่า ปัญหาการจัดซื้ออาวุธหรือยุทโธปกรณ์ที่ค้างมาจากรัฐบาลก่อน ไม่บอกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการซื้อยุทโธปกรณ์บางชนิด แต่วันนี้เราได้มาแล้ว จะมีความพร้อมและครบหรือไม่ เครื่องยนต์ของเรือดำน้ำ ก็จะมีการพูดคุยกับภาคส่วนทหาร อีกทั้งยังมีการประชุมกับยูเอ็นจีเอที่นิวยอร์กประเทศสหรัฐอเมริกา ในสัปดาห์หน้า ได้นัดประธานาธิบดีเยอรมัน หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเยอรมัน ว่าจะมีทางไหนให้ปัญหานี้จบลง ยืนยันประเทศเราต้องการความสามัคคี ต้องการความเห็นใจซึ่งกันและกัน มีคนดีมี คนไม่ดี ปัญหาต้องถูกแก้ไขอย่างบูรณาการ พูดจาด้วยกันด้วยความเข้าใจแต่มีเป้าหมายที่ชัดเจน เมื่อเราได้บริหารจัดการ จะมีการแถลงร่วมระหว่างภาครัฐบาลกับภาคทหาร