เมื่อพูดถึงภาพรวมบริการขนส่งสาธารณะประเภทรถโดยสารประจำทาง หรือ รถเมล์ที่ได้คุณภาพ จะเป็นใครก็ใช้ได้ สภาพตัวรถที่พร้อมใช้งาน คุณภาพการบริการที่เป็นการบริการจริงๆ เส้นทางที่ไม่กระจุกตัวแต่ถนนสายหลัก รวมไปถึงความตรงต่อเวลา เชื่อว่าเป็นสิ่งที่หลายคนคาดหวังว่าจะได้ใช้โดยเร็วที่สุด เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่ารถเมล์ที่วิ่งให้บริการอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อายุแต่ละคันแทบเกิน 20 ปีไปแล้วทั้งสิ้น
โดยผู้ให้บริการหลักอย่างองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อยู่ระหว่างทำแผนปฏิรูป หรือแผนฟื้นฟูฯ ฉบับปรับปรุงให้คนกรุงเทพและปริมณฑลได้ใช้รถเมล์ดีๆ เหมือนประเทศที่เจริญแล้ว คาดว่าในเดือน ก.ย.นี้ จะสามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติได้ตามแผนล่าสุดที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. ที่ถือเป็นการนับหนึ่งใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาสั่งสม สางหนี้สินกว่า 127,786 ล้านบาท และยกระดับคุณภาพบริการที่ดีมากกว่าที่เป็นอยู่
อย่างไรก็ตาม ครม. อนุมัติไว้เมื่อปี 2562 ซึ่งรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังจะเข้ามารับภาระหนี้ดังกล่าว โดยให้ทั้ง 2 ฝ่ายเจรจาเพื่อกำหนดกรอบในการเริ่มทยอยชำระหนี้ ที่มี 2 ส่วน ได้แก่ พันธบัตร ซึ่งมีการออกหลายครั้งตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน หนี้เหล่านี้มีอายุครบชำระอยู่ที่ 60,539 ล้านบาท และหนี้เงินกู้ 63,440 ล้านบาท ซึ่งหากดูผลประกอบการของ ขสมก. ตั้งแต่ปี 2520 พบว่า ขาดทุน 2,688 ล้านบาท และตั้งแต่ปี 2541-2563 ขาดทุนสะสมรวมกว่า 9,000 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ขสมก. ต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้ภาระหนี้ไม่สะสมพอกพูนมากไปกว่านี้
เปิดแผนปฏิรูป ขสมก. เช่ารถไฟฟ้า 2,511 คัน จ้างเอกชนเดินรถ
หากจะพูดถึงรถเมล์ดีดี แต่ไม่เปลี่ยนจากรถเก่าที่ใช้กว่า 20 ปี เป็นรถใหม่ก็คงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งแผนจัดหารถใหม่ของ ขสมก. ได้ปรับแผนจากเดิมที่จะซื้อ จำนวน 2,511 คัน เปลี่ยนเป็นจัดเช่ารถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้าแทน และเมื่อรวมรถโดยสารปรับอากาศใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) 489 คัน เป็น 3,000 คัน
โดยจะมีการจ้างเอกชนบริหารจัดการเดินรถ ประมาณ 1,500 คัน เพื่อวิ่งในเส้นทางเดินรถที่มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางตามที่กรมการขนส่งทางบกแบ่งใหม่ ซึ่ง ขสมก. ได้รับอนุมัติเส้นทาง 108 เส้นทาง และเป็นเส้นทางวิ่งบริการของเอกชนอีก 54 เส้นทาง ด้วยความสมัครใจ เป็นระยะเวลา 7 ปี โดยจ่ายค่าจ้างตามกิโลเมตรที่วิ่งให้บริการจริง ในอัตราที่ ขสมก.กำหนดไว้เบื้องต้นก่อนมีการประกวดราคา คือ 34.27 บาทต่อกิโลเมตร ซึ่งเอกชนจะต้องนำรถโดยสารใหม่ที่เป็นระบบรถไฟฟ้า ติดตั้งระบบ E-Ticket, GPS, WiFi ออกวิ่งเฉลี่ย 240 กิโลเมตรต่อคันต่อวัน
โดยหาก ครม. เห็นชอบ ขสมก. จะเริ่มกระบวนการจัดทำทีโออาร์และเปิดประมูลหาเอกชนรับจ้างการเดินรถ ประมาณ 6 เดือน คาดว่าอีกประมาณ 12-18 เดือนจะได้รถใหม่ครบทั้งหมด 2,511 คัน หรือเริ่มทยอยรับมอบรถในล็อตแรกเดือนมีนาคม 2564 ไปจนครบทั้งหมดภายปี 2565
เออร์ลี่รีไทร์ 5,301 คน ลดค่าใช้จ่าย
ปัจจุบัน ขสมก. มีพนักงานกว่า 13,961 คน หรืออัตราส่วนกำลังคนต่อรถเมล์ 1 คันอยู่ที่ 4.56 คนต่อคัน ซึ่งตามแผนจัดการทรัพยากรบุคคลเพื่อลดค่าใช้จ่าย จะลดเหลือ 2.75 คนต่อคัน โดยจะมีการจัดทำโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดจำนวน 5,301 คน ใช้วงเงิน 4,560 ล้านบาท โดยในอนาคตหลังการปรับโครงสร้างองค์กรจะทำให้ ขสมก. มีพนักงานคงเหลือ 8,267 คน
ขสมก. มั่นใจ เริ่มเห็นกำไรปี 2572
สุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า แผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก.ที่ได้มีการปรับแผนใหม่ ที่ผ่านความเห็นชอบ คนร. แล้ว ได้มีการปรับปรุงในบางประเด็นจากแผนในปี 2562 ซึ่งมั่นใจว่าจะเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ ลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน บรรเทาการจราจรติดขัด ลดมลภาวะ แก้ไขปัญหาการขาดทุนสะสม ซึ่งหากทำตามแผนที่วางไว้ โดยมีการคำนวณว่าจะขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐเป็นระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2571 และในปี 2572 ขสมก. จะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่เป็นภาระให้ภาครัฐในอนาคต นับเป็นการเตรียมแผนสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนได้ โดยมีเป้าหมายจะมีกำไร หรือ EBITDA เป็นบวกในปี 2572 หรือไม่เกิน 10 ปีหลังจากนี้
ครม. อนุมัติ ขสมก. กู้เงิน 7,895 ล้านบาท เสริมสภาพคล่อง
ที่ประชุม ครม. วันที่ 13 สิงหาคม 2563 ได้อนุมัติให้ ขสมก. กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 7,895 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ เพื่อใช้เป็นเงินสดหมุนเวียนในการดำเนินงานและทำให้มีสภาพคล่องทางการเงินเพียงพอในการให้บริการขนส่งสาธารณะ แยกเป็นนำไปใช้ชำระค่าเชื้อเพลิง 3,219 ล้านบาท ชำระค่าเหมาซ่อม 1,642 ล้านบาท และเสริมสภาพคล่องทางการเงิน 3,033 ล้านบาท เนื่องจากตามประมาณการเงินสดรายรับรายจ่ายของ ขสมก. ประจำปีงบประมาณ 2564 พบว่า ประมาณการรายรับเงินสด 9,579 ล้านบาท ประมาณการรายจ่ายเงินสด 42,665 ล้านบาท ส่งผลให้ติดลบจำนวน 33,085 ล้านบาท
ทีดีอาร์ไอ แนะ กำหนดแผนฟื้นฟูฯ รอบคอบ รัดกุม
ทางด้านสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า แนวทางของแผนฟื้นฟูฯ ขสมก. ฉบับใหม่ จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดที่ประกอบการให้สอดรับกับรายได้ที่มีจากการเก็บอัตราค่าโดยสารซึ่งเป็นไปตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด รวมถึงจะต้องทดสอบพฤติกรรมของผู้ใช้บริการ ซึ่งในเรื่องนี้ ขสมก. จะต้องจัดทำการศึกษาด้านการตลาด (Market Study) อย่างละเอียด และด้านเทคนิคมากขึ้น เพื่อสำรวจพฤติกรรมการใช้บริการของผู้โดยสาร ว่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ รวมถึงสอดคล้องกับจำนวนรถที่เพียงพอและปริมาณผู้โดยสาร และกำหนดแผนฯ ให้มีความละเอียด รอบคอบ และรัดกุมด้วย
รถเมล์แบบไหนถูกใจคนกรุง
ขณะที่ผลสำรวจ "รถเมล์แบบไหน ถูกใจคนกรุง" โดยกรุงเทพโพลล์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อรถเมล์ที่วิ่งอยู่บนท้องถนนในระดับน้อย และยังมีการระบุปัญหาว่า รอรถเมล์นาน รถไม่พอกับความต้องการ รถมีสภาพเก่า ชำรุดทรุดโทรม และรถปล่อยควันดำ ส่งผลเสียด้านมลพิษ แต่ในขณะเดียวกันมีความคาดหวังอยากให้รถเมล์มาตรงเวลา ผู้โดยสารไม่ต้องรอนาน มีรถเมล์ใหม่ทุกคัน ทุกสาย เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร มีที่นั่งเพียงพอ ไม่ต้องเบียดเสียดแออัด ตามรูปแบบการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)
นอกจากนี้ ยังมีความต้องการอื่นๆ อยากให้มีรถโดยสารเป็นรถชานต่ำ เป็นมิตรกับผู้ด้อยโอกาส คนพิการ มีความคาดหวังให้ชำระค่าบริการผ่าน E-Ticket แทนการใช้เงินสด เพื่อความสะดวก ลดการสัมผัส อีกด้วย
ท้ายที่สุดแนวทางปฏิรูป ขสมก. จะเห็นผล หรือ จะสามารถขับเคลื่อนได้ตามแผนหรือไม่ เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงคาดหวังว่าจะได้ใช้บริการรถเมล์ใหม่ที่พร้อมใช้งานจริงๆ และทัดเทียมนานาประเทศ เพราะอย่าลืมว่าเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑลมีผู้ใช้บริการรถเมล์เฉลี่ยมากกว่า 5 แสนคนต่อวัน ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเอาจริงจังกับการยกระดับขนส่งโหมดนี้ อย่าให้เป็นแค่คำถามลอยๆว่า “รถเมล์ดีดีจะมีไหม”