ว่าด้วยเรื่องของ ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในประเทศไทย ที่มาๆ หายๆ ไม่ต่างจากการป่วยไข้หวัดใหญ่ที่เจอได้แทบทุกฤดู จนรัฐบาลซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องออกมาประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติกันเลยทีเดียว
แนวคิดต่างๆ มากมายจึงกระเพื่อมขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยเฉพาะการรณรงค์ให้คนลดใช้รถส่วนบุคคล แล้วหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ซึ่งกระทรวงคมนาคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ถึงกับต้องประกาศว่าจะศึกษาแนวทางลดค่าโดยสารทั้งระบบเพื่อตอบสนองนโยบายนี้ แต่แล้วเมื่อดูสถานการณ์ปัจจุบันก็ยังไม่ได้เป็นตามที่หวัง เพราะแม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายกำหนดเพดานค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรถเมล์-รถไฟฟ้า-รถแท็กซี่-รถบัส-เครื่องบิน ช่างสวนทางกับปีที่ผ่านมาที่พบว่ามีการปรับขึ้นค่าโดยสารในหลายระบบ
เมื่อมาดูไส้ในของค่าโดยสารแต่ละระบบ จะพบว่า รถโดยสารประจำทางขององค์กรขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ปรับขึ้นไปเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2562 ค่าโดยสารถูกสุด 8 บาท แพงสุด 25 บาท แต่ยังไม่รวมค่าบริการเพิ่มหากสายไหนวิ่งขึ้นทางด่วน และยังไม่นับรถของเอกชน หรือ รถร่วมฯ ขสมก. ที่เก็บแพงกว่า ซึ่งในอนาคต ขสมก. ยังมีแนวคิดเก็บค่าโดยสารเป็น 30 บาท/คน/วัน หลังเปลี่ยนรถกว่า 2,800 คัน เป็นรถปรับอากาศทั้งหมด ดังนั้นเมื่อลองบวกลบคูณหารดูแล้วค่าโดยสารเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 3
ส่วน ค่าโดยสารรถไฟฟ้า ที่เป็นความหวังหลักของรัฐบาล คิดค่าโดยสารตามสัญญาการลงทุน เอกชนลงทุนย่อมแพงกว่ารัฐลงทุน อย่างปัจจุบัน ค่าโดยสารบีทีเอส 16-59 บาท รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (รถไฟฟ้าใต้ดิน) 16-44 บาท รถไฟฟ้าสายสีม่วง 14-42 บาท โปรโมชั่นถึงเดือน มี.ค. 2563 สูงสุด 20 บาท ส่วนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ค่าโดยสารอยู่ที่ 15-45 บาท แม้รัฐบาลมีแนวคิดที่จะลดค่าโดยสารกลุ่มนี้ลงเพื่อกระตุ้นให้คนใช้มากขึ้น พร้อมลดปัญฝุ่น PM 2.5 ไปในตัว แต่ก็ยังเห็นข้อจำกัดอยู่ คือ อาจจะทำได้เฉพาะเส้นทางที่รัฐบาลลงทุนเองเท่านั้น
ในขณะที่นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าข้างต้นคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 10 ของรายได้ ขณะที่ความสามารถจ่ายของผู้ใช้บริการอยู่ที่ร้อยละ 5 ของรายได้เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าปัจจุบันยังสูงกว่าความสามารถการจ่ายของประชาชนนั่นเอง
ส่วน ค่าโดยสารรถแท็กซี่ ก็เพิ่งอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารไปเมื่อปลายปี 2562 โดยราคาเริ่มต้น ระยะทาง 1 กม.แรกเรียกเก็บ 35 บาท, แต่ระยะทางเกินกว่า 1 กม. ถึง กม.ที่ 10 คิด 6.50 บาท/กม. หรือเพิ่มขึ้น 0.50 บาท/กม. ยังมีบวกกรณีรถติดที่เพิ่มเป็น 3 บาท/นาที และค่าบริการสนามบิน (ค่าเซอร์ชาร์จ) 70-90 บาท/เที่ยว
สำหรับราคาค่าโดยสารข้างต้น หลายคนบอกว่าสูงเอาเรื่องแล้ว แต่ในมุมของผู้ประกอบการยังคงกดดันเรียกร้องกระทรวงคมนาคมให้ปรับขึ้นอีก เพราะจากปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และการแข่งขันของแอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่
ในขณะที่ ค่าโดยสารรถ บขส. หรือรถของบริษัท ขนส่ง จำกัด อนุมัติให้ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 30-40 บาท/คน/เที่ยว ไปเมื่อต้นปี 2562 โดยให้เรียกเก็บ 40 กม.แรก อยู่ที่ 0.53 บาท/กม. กม.ที่ 40-100 อยู่ที่ 48 บาท/กม. กม.ที่ 100-200 อยู่ที่ 44 บาท/กม. และ กม.ที่ 200 ขึ้นไป อยู่ที่ 39 บาท/กม. เท่ากับว่าหากจะเดินทางจากกรุงเทพไป จ.นครราชสีมา ระยะทาง 259 กม. จะถูกเก็บค่าโดยสารประมาณ 117 บาท
อย่างไรก็ตาม ในมุมผู้ประกอบการยังคงเรียกร้องให้ปรับเพิ่มขึ้นต่อ เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ท้ายสุด ค่าโดยสารสายการบิน แม้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ออกประกาศกำหนดเพดานค่าโดยสารสูงสุดใหม่ให้ถูกลง โดยสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (ฟูลเซอร์วิส) ให้เรียกเก็บที่เพดานสูงสุดไม่เกิน 13 บาท/กม. ส่วนสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) ให้เรียกเก็บที่เพดานสูงสุดไม่เกิน 9.40 บาท/กม. ซึ่งในส่วนของค่าโดยสารชั้นธุรกิจให้เรียกเก็บสูงกว่าชั้นประหยัดได้ไม่เกินร้อยละ 30 แต่ด้วยต้นทุนที่สูงและหลายสายการบินเริ่มประสบปัญหาขาดทุน ทำให้ในอนาคตค่าโดยสารที่เห็นอาจถูกเรียกเก็บเต็มเพดาน จากปัจจุบันที่สายการบินต้นทุนต่ำเรียกเก็บค่าโดยสารเฉลี่ย 5 บาท/กม.เท่านั้น
ค่าโดยสารข้างต้น แม้จะปรับขึ้นได้ แต่ก็มีโอกาสปรับลดลงได้เช่นกัน เพราะหลายระบบอิงค่าโดยสารจากราคาเชื้อเพลิง ดังนั้นการรณรงค์เพื่อให้คนลดใช้รถส่วนบุคคล แล้วหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น จึงปฎิเสธไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับปัจจัยเรื่องค่าโดยสาร ซึ่งคงหนีไม่พ้นการลดค่าโดยสารที่ไม่กระทบกับรายได้ของประชาชน