ไม่พบผลการค้นหา
’วรวัจน์’ จี้ กกต. ออกระเบียบผ่อนปรนกฎเหล็ก 180 วันกรณีให้ความช่วยเหลือประชาชนประสบอุทกภัย อัดรัฐบาลเมินแก้ปัญหาน้ำท่วมเหนือจรดใต้ แนะจัดงบฯช่วยเหลือเหมือน รบ.ยิ่งลักษณ์

วันที่ 17 ต.ค. 2565 วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดที่จังหวัดภูเก็ต ว่าตั้งแต่มีสถานการณ์พายุโนรูที่ทำให้น้ำท่วมบริเวณภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลางไปแล้ว วันนี้น้ำก็ท่วมหนักอีกที่จ.ภูเก็ต ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ กฎหมายเลือกตั้งคุมฝ่ายการเมืองทำให้ไม่สามารถลงไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ แต่ทางรัฐบาลที่มีอำนาจหน้าที่ทำได้ กลับไม่ได้แสดงท่าทีอะไรที่เป็นความใส่ใจในการลงไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างทันท่วงทีเลย

นอกจากนี้ยังไม่เห็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจนจากทางรัฐบาล ไม่รู้ว่าทางรัฐบาลมัวแต่ห่วงเรื่องของตัวเองอยู่หรือไม่ จนละเลยพี่น้องประชาชนเช่นนี้ วันนี้น้ำท่วมทั่วทุกพื้นที่ตั้งแต่เหนือจรดใต้แล้วแต่ทางรัฐบาลก็ยังไม่ได้ขยับดำเนินการอะไรที่จริงจัง ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่าให้อีก 8 จังหวัดภาคใต้ เตรียมรับมือน้ำ ซึ่งขณะนี้เองฝนก็ยังไม่หยุดตก วันนี้รัฐบาลทำให้คนไทยรู้สึกเหมือนกับว่าไม่มีรัฐบาล เรายังไม่เคยเห็นแผนการจัดการน้ำทั้งระยะสั้นและระยะยาวจากรัฐบาลนี้เลย ทั้งนี้ ภาคใต้จัดว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก และเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญ

วรวัจน์ ระบุว่า วันนี้จังหวัดหลักๆ เช่น ภูเก็ต กระบี่ พังงา สตูล สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช กำลังได้รับผลกระทบทั้งหมด แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลเท่าที่ควร ที่ผ่านมาเราเข้าใจได้ว่าพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานทางรัฐบาลอาจมองว่าไม่ใช่พื้นที่ฐานเสียงของพรรคการเมืองฝ่ายตน แต่ขณะนี้ปัญหาก็เกิดที่ภาคใต้แต่รัฐบาลยังกลับนิ่งนอนใจ และไม่ได้สนใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ดี วันนี้รัฐบาลโยนภาระการช่วยเหลือประชาชนให้เป็นหน้าที่ของท้องถิ่นเท่านั้น ส่วนตัวเองกลับไม่มี”ใจ”ให้ประชาชน เท่าที่ควรจะเป็น

วรวัจน์ กล่าวอีกว่า ตนขอเสนอให้รัฐบาลเข้ามาเยียวยา และเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มากกว่าที่ท้องถิ่นทำอยู่ อาจจะดำเนินการโดยการมีงบประมาณพิเศษจัดสรรลงไปให้ หรือเปิดช่องให้จังหวัดสามารถใช้งบกรณีฉุกเฉินล่วงหน้าเพื่อป้องกันน้ำท่วมได้ไม่ใช่ให้ยึดเพียงแต่กรอบงบประมาณเยียวยาแบบเดิม อย่างไรก็ตาม สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยจัดวางงบประมาณโดยแบ่งเป็น 2 กรอบ คือ กรอบป้องกันน้ำท่วม คือให้มีการเตรียมการก่อนที่น้ำจะท่วม และกรอบที่จะใช้หลังจากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมแล้ว รัฐบาลนี้ก็น่าจะผลักดันให้มีมติเหมือนสมัย ครม.ยิ่งลักษณ์ คือให้จังหวัดสามารถใช้วงเงินงบประมาณได้ก่อนจะเกิดเหตุ เช่น อาจจะวางช่องทางการระบายน้ำ การทำแผงกั้นน้ำ หรือการขุดลอกเพิ่มเติมเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้สถานการณ์หนัก ในช่วงที่พายุลูกใหม่กำลังจะเข้ามานี้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ควรดูแบบอย่างของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่า คนที่คิดถึงประชาชนเป็นหลักก่อนนั้น เขาทำงานกันอย่างไร 

เมื่อถามว่า ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมามีข่าวว่าประชาชนเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทบทวนกฎเหล็ก 180 วัน พร้อมกับแสดงความต้องการที่จะให้ส.ส.เข้าช่วยเหลือด้วย วรวัจน์ กล่าวว่า เราเห็นว่า ทาง กกต. ควรทบทวนเช่นกัน เอาเข้าจริงๆ แล้วมาทบทวนเอาตอนนี้ก็เกือบจะไม่ทันแล้ว การป้องกันไม่สามารถทำได้ก่อน ขณะนี้เหลือเพียงช่วยเหลือเรื่องของอาหารและสิ่งของจำเป็นแต่ก็ยังไม่เห็นรัฐบาลเข้าไปดำเนินการใดๆ ขณะที่ท้องถิ่นเองก็ไม่ได้มีงบประมาณและมีศักยภาพเพียงพอที่จะดูแลในส่วนนี้ หากมีการผ่อนปรนระเบียบตรงนี้ไม่ได้ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ แต่ทุกพรรคสามารถดำเนินการได้อย่างเท่าเทียมกันหมด

การที่กกต.เข้มงวดกับฝ่ายการเมืองในภาวะวิกฤต ก็ยังไม่ได้เห็นภาพว่ารัฐบาลลงไปช่วยเหลืออะไรประชาชนอยู่ดีสุดท้าย อยากให้ กกต.ดูว่า ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ หรืออุทกภัยลักษณะนี้ฝ่ายการเมืองจะสามารถดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในช่องทางใดได้บ้าง โดย กกต.เขียนออกมาเป็นข้อยกเว้น หรือข้อกำหนดเลยก็ได้ว่าให้ทำอะไรได้บ้าง เพื่อผ่อนคลายกรอบการให้ความช่วยเหลือประชาชน ซึ่งอาจจะไม่ใช่การแจกของก็ได้