วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี สมาชิกกลุ่ม CARE เผยแพร่บทความ จาก '30 บาทรักษาทุกโรค' สู่ 'คนไทยไร้จน' ในแฟนเพจเฟซบุ๊ก CARE คิด เคลื่อน ไทย ว่า
"ภารกิจ (สร้างสันติภาพ) ทั้งหมดนี้จะไม่สิ้นสุดใน 100 วันแรก หรือจะไม่สิ้นสุดใน 1,000 วันแรก หรือในวาระของรัฐบาลชุดนี้ หรือแม้ชั่วชีวิตของเราบนโลกใบนี้...แต่ขอเรามาเริ่มต้นลงมือกันเถิด" จอห์น เอฟ เคนเนดี้ วันที่ 20 มกราคม 2504
กลางปี 2563 ผมได้รับคำถามจากผู้สื่อข่าวต่างประเทศหลายสำนักว่า อะไรคือเคล็ดลับแห่งความสำเร็จของไทยในการควบคุมโควิด - 19
แน่นอน ผมตอบไปในทันทีว่า ไม่ใช่ผลงานของ ศบค. และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างที่รัฐบาลมักอวดอ้าง
แต่เป็นเพราะปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญ ซึ่งนอกเหนือจาก อากาศร้อน แสงยูวี วัฒนธรรมไทยที่ไม่คุ้นชินกับการสัมผัสโอบกอด และความร่วมมือในการ 'ใส่หน้ากาก ล้างมือ กินร้อน ช้อนส่วนตัว' ของประชาชนทุกคนแล้ว
'อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)' กว่า 1 ล้านคนที่เอาจริงเอาจังในการป้องกันและควบคุมโรค ก็คืออาวุธลับอีกชิ้นหนึ่งที่ทรงอานุภาพ ควบคู่ไปกับ 'หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า' ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นโล่กำบังใหญ่คอยคุ้มภัยจากโรคระบาด
เพราะเมื่อมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การขยายการตรวจคัดกรองจึงทำได้อย่างรวดเร็ว กลุ่มผู้เสี่ยงสัมผัสโรคไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจ และหากพบผลบวกก็เข้ารับการรักษาฟรีได้ทันที ทำให้เราพบผู้ป่วยแต่เนิ่นๆ ตอนอาการยังไม่รุนแรง แล้วเริ่มการรักษาที่จำเป็นได้เลย ลดอัตราการป่วยหนักและการเสียชีวิต รวมทั้งลดเวลาที่ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตกค้างและยังแพร่ระบาดในชุมชน
และเมื่อผมค้นข้อมูลในระดับโลก ก็พบว่า หากเปรียบเทียบประเทศที่มีระดับเศรษฐกิจใกล้เคียงกันและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน ประเทศที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ดีกว่าประเทศที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงเปล่งศักยภาพให้เห็นอย่างชัดเจนยามเผชิญวิกฤตโรคระบาดยิ่งกว่าในภาวะปกติ
อย่างไรก็ตาม โควิด - 19 ไม่เพียงมีอำนาจทำลายล้างชีวิตคนไปแล้วกว่า 2.3 ล้านคน แต่คนอีกนับพันล้านคนยังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วงไม่แพ้กัน
คนตกงานทุกหย่อมหญ้า ธุรกิจปิดกิจการล้มระเนระนาด อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทั้งสายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง พังพินาศยับเยิน
ความช่วยเหลือด้วยการเยียวยาจ่ายเงินระยะสั้นที่ทุกประเทศต่างดำเนินการนั้น เปรียบเสมือนเสื้อชูชีพให้คนจำนวนมากยังพอลอยคอกลางมหาสมุทรแห่งวิกฤตเศรษฐกิจได้เพียงช่วงเวลาหนึ่ง
แต่คำถามคือ คนทุกข์ยากทั้งหมดนั้นจะลอยคอต่อไปได้อีกนานเท่าไรกัน เพราะเงินเยียวยาระยะสั้นย่อมมีเวลาสิ้นสุด หลังจากนั้น พวกเขาจะตะเกียกตะกายต่อไปอย่างไร เพราะไม่มีใครรู้ว่า วันคืนแห่งชะตากรรมจากโควิด - 19 จะสิ้นสุดลงเมื่อใด
ท่ามกลางมหาวิกฤตนี้เอง แนวคิดหนึ่งก็ผุดพรายขึ้นมาในระดับ 'ปรากฎการณ์' ทั้งๆ ที่เคยมีการนำเสนอกันมานานขนาดนับย้อนไปได้ถึง 500 ปี สมัยเซอร์โธมัส มอร์ ผู้เขียนหนังสือ 'ยูโทเปีย' ไล่เรียงมาถึงเมื่อ 2 ศตวรรษที่แล้ว ก็ถูกขยายความโดยโธมัส เพน ผู้เขียนหนังสือ Common Sense, มิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20, มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์, ริชาร์ด นิกสัน ส่วนในยุคปัจจุบัน อภิมหาเศรษฐีอัจฉริยะ อย่าง อีลอน มัสก์ และมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็ร่วมขบวนนำเสนอแนวคิดนี้ด้วย
แนวคิดที่ว่าคือ รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า หรือ Universal Basic Income (UBI) ซึ่งเป็นแนวคิดแห่งยุคสมัยและกำลังได้รับการถกเถียงกันมากที่สุด ด้วยอิทธิพลของโควิด-19
จากบทเรียนโควิด-19 สอนให้เรารู้ว่า 'หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค)' เป็นกำแพงพิงหลังให้เราได้อย่างอุ่นใจ ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราต้องคิดกันอย่างจริงจังว่า ควรหรือไม่ ที่เราจะมี 'UBI/รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (คนไทยไร้จน)' เป็นเรือบดที่ช่วยให้คนไทยทุกคนประคองชีวิตกลางมหาสมุทรยามต้องเผชิญกับก้อนภูเขาน้ำแข็งยักษ์ทางเศรษฐกิจทั้งในวันนี้และวันหน้า เหมือนเรือบดที่ช่วยชีวิตผู้คนเมื่อครั้งเรือยักษ์อย่างไททานิคอับปางลงเพราะชน 'ภูเขาน้ำแข็ง'
แต่ผมบอกได้เลยว่า เรื่อง UBI เมื่อเทียบเคียงกับเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น ยากกว่ามาก ยากยิ่งกว่าการเข็นครกขึ้นภูเขา และต้องใช้ความมุ่งมั่นยิ่งกว่าการฝนทั่งให้เป็นเข็ม เพราะจนบัดนี้ ยังไม่เคยมีประเทศใดทำสำเร็จอย่างยั่งยืนเลย
ที่ผ่านมา มีเพียงการวิจัยทดลอง หรือการทำในวงจำกัดทั้งพื้นที่และปริมาณประชากรที่เข้าร่วม ถึงวันนี้ ยังไม่มีรูปแบบที่รับประกันความสำเร็จ และไม่มีตัวอย่างการบริหารงบประมาณให้เรียนรู้
แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคที่ทำให้เราควรท้อถอย เพราะเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ก็ไม่เคยมีประเทศกำลังพัฒนาประเทศใดหาญกล้าริเริ่มหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาก่อนเช่นกัน
ความสำเร็จของประเทศไทยเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรค กลายเป็นต้นแบบที่ท้าทายความมุ่งมั่นของประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก
ตอนเคนเนดี้ตัดสินใจส่งมนุษย์ไปลงดวงจันทร์ เขากล่าวว่า เขาตัดสินใจจะไปดวงจันทร์ให้ได้ภายใน 1 ทศวรรษ ไม่ใช่เพราะมันง่าย แต่เพราะมันยาก
เคนเนดี้กล่าวปาฐกถาไปดวงจันทร์เมื่อ พ.ศ.2505 อีก 7 ปีต่อมา ในปี พ.ศ.2512 ยานอพอลโล 11 พานีล อาร์มสตรอง ลงไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ พร้อมกล่าววาทะแห่งประวัติศาสตร์ว่า "นี่คือก้าวเล็กๆ ของชายคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ"
คนไทยไร้จน จะเป็นเพียงฝันเฟื่อง หรือสามารถเป็นเรื่องจริง จะเป็นเพียงลมปากของนักคิดนักฝันหรือจะเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญของสังคมมนุษย์...อยู่ที่พวกเราทุกคน