วันที่ 13 ก.ย. 2565 ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า เดินทางมายื่นหนังสือและเอกสารงบประมาณประจำปี 2566 ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการจัดสัมมนาแล้วพาคนไปเที่ยวในช่วงน้ำท่วม หลังจากพบความผิดปกติ
อรรถวิชช์ ระบุว่า วันนี้ได้นำเอกสารในการแปรญัตติงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 ทุกรายการมายื่นให้กับผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน โดยตนไม่ต้องการเห็นงบประมาณที่ถูกแปรญญัติถูกโยกไปเป็นงบสัมมนา ซึ่งเป็นจำนวนกว่า 10 ล้านบาทในเขตจตุจักร ซึ่งจากที่ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมพบว่ามีอีก 26 เขต งบประมาณ 111 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 72 โครงการ โดยกระบวนการหลังจากนี้ สตง.จะทำหน้าที่ให้คำแนะนำกับกรุงเทพมหานครได้
อรรถวิชช์ กล่าวต่อว่า หากเทียบเคียงกับกรณีของสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 เวลาตัดงบเพื่อแปรญัตติ จะมีการเพิ่มในส่วนงบกลาง เพื่อให้นายกรัฐมนตรีได้นำไปใช้ดูแลวิกฤตการณ์ต่างๆ เช่นโรคระบาด หรือน้ำท่วม แต่กรุงเทพมหานครมีความแปลก มีการตัดงบประมาณแปรญัตติ แล้วนำมาแปลงเป็นโครงการใหม่ ซึ่งไม่เคยมีโครงการมาก่อนกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ทุกเขต โดยตั้งแต่ปี 2557 ไม่เคยมีการทำโครงการลักษณะแบบนี้มาก่อน ตนยืนยันว่า อยากให้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีงบกลางในการนำไปใช้แก้ปัญหาวิกฤติโดยตรง แต่หากยังใช้วิธีนี้จะเหมือนกับการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
“ผมทำเพื่อให้ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ มีงบกลางในการเข้ามาดูแลงบประมาณ เรื่องวิกฤตของกรุงเทพมหานครโดยตรง แต่หากท่านไปใช้วิธีเก่า คือนำมาหารเฉลี่ยลงไปตามเขต แปลงกลายเป็นงบสัมมนาต่างๆ เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หายไปหมดเลย แล้วมาถึงตรงนั้นจะมาบ่นว่าไม่มีเงิน”
อรรถวิชช์ ยกตัวอย่างว่าเวลาช่วงวิกฤตของกรุงเทพมหานคร มักเกิดปัญหา เช่น น้ำท่วม ก็ไม่มีงบน้ำมันเติมเครื่องสูบน้ำ ซึ่งตนคนเดียวทำไม่ไหว ต้องให้ผู้ว่าฯ สตง.เข้ามาดำเนินการตรวจสอบอีกทางอรรถวิชช์ บอกด้วยว่า จะมีการเริ่มใช้งบประมาณ ปี 2566 วันที่ 1 ต.ค. หากเรื่องที่ สตง. ดำเนินการได้ทัน จะส่งผลดีต่อผู้ว่าฯ ชัชชาติ อย่างแน่นอน
เมื่อถามว่านอกจากงบประมาณในการแปรญัตติที่ผิดสังเกตแล้ว ยังมีความผิดปกติอื่นอีกหรือไม่ อรรถวิชช์ ระบุว่ายังมีอีกเยอะ แต่ตอนนี้อยากกล่าวถึงงบของการสัมมนา เพื่อแสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วมีอะไรอีกเยอะ เช่น งบครุภัณฑ์ ที่มีความแปลกประหลาดเรื่องราคาที่ผิดปกติ ตนพูดมากกว่านี้ไปไม่ได้ ขอให้ สตง. ดำเนินการตรวจสอบดีกว่า ส่วนตัวคาดว่าจะได้รับความร่วมมือจากข้าราชการกรุงเทพมหานครในการตรวจสอบครั้งนี้
“บ่นไม่ได้เลย กทม. ไม่เหมือนหน่วยงานอื่น การจะไปขอกู้ ยังกู้ไม่ได้เลยในขณะนี้ คิดเอาแล้วกันว่าในการบริหารราชการแผ่นดินส่วนกลางแล้วเกิดวิกฤติจะทำยังไง โดยเฉพาะโลกปัจจุบันเราเจอวิกฤติตลอด มันจะกลายเป็นว่า 3-4 ปีจากนี้ไป ท่านผู้ว่าฯ ก็จะติดขัดแบบนี้ตลอด”
อรรถวิชช์ กล่าวว่า สตง. สามารถมีมาตรการบังคับใช้หลายแบบหลังจากนี้ เช่น ส่งเรื่องไปให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อหากพบความผิดปกติ โดยกรุงเทพมหานครมีอำนาจในการตัดงบแต่ไม่สามารถเพิ่มงบได้ แต่หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการขอเพิ่ม และขอควบคุมเอง จะถือเป็นการแทรกแซงการทำงานของฝ่ายบริหาร
ส่วนที่มีการชี้แจงจาก จักกพันธ์ุ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาโต้ว่า กรุงเทพมหานคร ไม่มีงบพาหัวคะแนนไปสัมมนานั้น อรรถวิชช์ ฝากถึงนายจักรพันธ์ว่าให้นำเอกสารที่ขอไปยังเขตจตุจักรมาตรวจสอบอีกครั้งจะเห็นชัด
เมื่อถามว่าเป็นเกมการเมืองหรือไม่ อรรถวิชช์ ยืนยันว่า ไม่ใช่เกมการเมือง เพราะพวกเราหลายคนในพรรคกล้า ก็เลือกผู้ว่าฯ ชัชชาติ เกินครึ่ง อยากเห็นผู้ว่าฯ ชัชชาติ ทำงานแบบสุดความสามารถ ตนอยากเห็นมานานแล้วว่ารูปแบบการบริหารงบประมาณจะเป็นอย่างไร เพราะทุกคนโอดเหมือนกันหมดในช่วงวิกฤติ
“เราวนมากี่ทีเเล้วเรื่องเครื่องสูบน้ำไม่มีน้ำมัน เพราะไม่ได้ตั้งงบไว้ ไม่มีใครรู้ว่าจะท่วมหนัก เรื่องแบบนี้มันเป็นงบวิกฤต งบกลาง แล้วใส่ลงไปเหมือนน้ำมันหล่อลื่นได้”
ส่วนใครต้องรับผิดชอบบ้าง อรรถวิชช์ เพื่อระบุว่าใครทำอะไรก็ได้เห็นแล้ว ไม่ขอระบุว่าเป็นใคร เพราะยังไม่ถึงขั้นนั้น ขอให้รอดูความคืบหน้าต่อไป พร้อมกับย้ำทิ้งท้ายว่า การบริหารราชการในช่วงวิกฤติทุกอย่างต้องใช้เงิน