วันที่ 8 มี.ค. 2565 ที่อาคารรัฐสภา ในการสัมมนาเครือข่ายประชาชนปฏิรูปการเมือง ปี 2564 จัดโดยคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวปราศรัยในหัวข้อ “ทำการเมืองให้สุจริต” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดย ระบุว่า การทำการเมืองให้สุจริตนั้น เป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปการเมือง หากมองย้อนไปในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจขึ้นหลายครั้ง เหตุผลที่ปรากฏมาตลอดคือมีการทุจริตประพฤติมิชอบของฝ่ายต่างๆ ทาง ปัจจุบันเกิดการก่อตัวขององค์กรอิสระหลายส่วนมาทำหน้าที่ตรวจสอบซึ่งกันและกัน ตกเป็นภาระของประชาชนที่ต้องรับผิดชอบจ่ายภาษีจำนวนมหาศาลให้องค์กรเหล่านี้อยู่ได้ หากองค์กรเหล่านี้ได้คนดีมาทำงานก็เกินคุ้ม แต่ถ้าคนโกงเข้ามาโกงบ้านเมือง ก็จะเสียหายยับเยิน ส่งผลต่อประชาชนทั่วทุกแห่ง ดังนั้น ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสิ่งสำคัญที่จะพาบ้านเมืองไปสู่ความสำเร็จ และใช้งบประมาณภาษีได้อย่างคุ้มค่า
ชวน กล่าวว่า ความประสงค์ที่จะทำให้บ้านเมืองมีความสุจริตนั้น ถูกบัญญัติตลอดมาในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นฉบับที่ดีที่สุด ตัวกฎหมายนั้นไม่มีปัญหา แต่สุดท้ายผู้ใช้ก็ไม่เคารพกฎหมาย ละเมิดแนวทางของรัฐธรรมนูญ จนเป็นเหตุให้รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ต้องเพิ่มเติมในมาตราที่ 3 วรรค 2 ว่า “การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม” เนื่องจากระหว่างการใช้รัฐธรรมนูญ 2540 นั้น มีการออกนโยบาย 8 เมษายน 2544 อันเป็นวิธีนอกกฏหมาย ส่งผลให้เกิดการนองเลือดในพื้นที่ชานแดนภาคใต้ และนำมาสู่สถานการณ์ความไม่สงบจวบจนปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตกว่า 6 พันคน กรณีดังกล่าวถือเป็นตัวอย่างอมตะของการบริหารที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม จึงต้องย้ำไปในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เป็นต้นมา ว่าหลักนิติธรรม คือเบื้องต้นที่สุดของการบริหารบ้านเมือง
“รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2560) ย้ำว่าเป็นฉบับปราบโกง ตอนนี้ไม่พูดกันล่ะว่าตอนนี้โกงมากขึ้นหรือน้อยกว่าเดิม แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีคำว่าซื่อสัตย์อยู่ 23 คำ มีคำว่าสุจริตอยู่ 38 คำ มากกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับ จริงหรือว่าเมื่อรัฐธรรมนูญเขียนไว้ขนาดนี้ ความซื่อสัตย์สุจริตจะมากกว่าก่อนๆ คำตอบคือไม่จริง เพราะมาจากพฤติกรรมคน ผมจึงขอย้ำว่า การปกครองที่ดีไม่เพียงปกครองด้วยหลักเท่านั้น ต้องปกครองด้วยคนดีด้วย หลักที่ดีกับคนดีต้องไปด้วยกัน”
ชวน ย้ำว่า การปกครองที่ดีนั้นต้องมีหลักการที่ดี เพราะหลักจะไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ หากหลักไม่ดีก็แก้ไขได้ แต่หลักดีอย่างเดียวไม่เพียงพอ ไม่เช่นนั้นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็ไม่ควรมีปัญหา ดังนั้นควรต้องมีคนดีเข้ามาปกครองด้วย และได้หยิบยกพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช ที่ระบุว่า ‘ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง’ ซึ่งตนถือว่าเป็นอมตะวาจา ที่เป็นความจริงมาตลอดตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน จนถึงอนาคต เมื่อเป็นเช่นนี้ หลักจึงต้องมั่นคง เผื่อว่าคนไม่ดีเข้ามามีอำนาจ หลักจะควบคุมคนไม่ดีไว้ได้ แม้ในอดีตไม่มีองค์กรอิสระ เช่น กกต. ป.ป.ช หรืออื่นๆ มากเช่นปัจจุบัน แต่ใช่ว่าบ้านเมืองจะเหลวแหลกมีปัญหา เพราะแม้องค์กรจะไม่มาก แต่ทุกหน่วยทางการเมืองก็ล้วนทำหน้าที่ของตนอย่างมั่นคงตามหลัก
ชวน มองว่า การสร้างการเมืองสุจริตเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นและปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จำเป็นต้องกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคการเมือง เห็นความสำคัญของการเมืองที่ยึดหลักคุณธรรมและธรรมาภิบาล ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดของการเมืองสุจริต การจะพัฒนาและเสริมสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่อยู่บนรากฐานของการเมืองสุจริต เกิดผลอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องนำหลักการดังกล่าวไปสู่ภาคปฏิบัติอย่างจริงจัง ยืนหยัดในความถูกต้อง และเคารพกฎหมายบ้านเมือง
“ให้ยึดความซื่อสัตย์สุจริตไว้ เพราะมันจะคุ้มครองเราไว้ได้ตลอดไป ตรงกันข้าม รวยล้นฟ้าแต่มีพฤติกรรมไม่สุจริต เชื่อเถิดว่าวันหนึ่ง แม้กฏแห่งกรรมจะมาไม่ทัน แต่กฏหมายต้องตามทัน ถ้ากฏหมายมาไม่ทัน กฏแห่งกรรมจะตามทัน แล้วจะจารึกไว้ตลอดว่าคนคนนี้โกงบ้านโกงเมือง ถึงจะมีเงินปิดปากสื่อ ก็ปิดไม่มิด จะต้องปรากฏขึ้นมาในวันหนึ่งจนได้” ชวน ทิ้งท้าย