ไม่พบผลการค้นหา
ติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วเพิ่มบนเส้นทางเสี่ยง ถนนสาย 108 เชียงใหม่-จอมทอง เพิ่มอีกหนึ่งแห่ง หลังประสบความสำเร็จถนนสาย 118 เชียงใหม่-ดอยสะเก็ด ตายลดลงชัดเจน เตรียมปรับจริง ต้นเดือน ธ.ค.นี้

ถนนสาย 108 เชียงใหม่ – จอมทอง คือ 1 ใน 4 ทางหลวง ที่มีความเสี่ยงของจังหวัดเชียงใหม่ จากการวิเคราะห์โดยกลุ่มงานอุบัติเหตุฉุกเฉินในพื้นที่ พบว่าถนนสายนี้ช่วง กม.ที่ 51 – 82 มีจุดเสี่ยง-จุดอันตราย มากถึง 24 แห่ง ในจำนวนนี้ 9 แห่ง เป็นจุดที่มีการเสียชีวิตมากที่สุด และจากการวิเคราะห์เชิงลึกจุดเสี่ยงที่มีการใช้ความเร็วสูงสุด    

รศ.ลำดวน ศรีศักดา ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมจราจร อดีตอาจารย์ภาควิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ถนนเส้นนี้ค่อนข้างยาว เนื่องจากเป็นถนนเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับแม่ฮ่องสอน ลักษณะทางกายภาพแม้จะเป็นทางราบและตรงจึงมีการใช้ความเร็วค่อนข้างสูง ที่ผ่านมาแม้จะมีการนำความรู้ด้านวิศวกรรมเข้ามาปรับปรุงถนนให้ดีขึ้น แต่ช่วยได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะไม่เพียงติดขัดข้อจำกัดโครงสร้างถนนเดิม เช่น ความคดในบางช่วง ทว่าปัจจัยหลักยังคงเกิดจากการใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด

รศ.ลำดวน กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลพบว่าไม่เฉพาะรถเก๋ง รถกระบะ รถตู้ หรือรถบัสโดยสารเท่านั้นที่ใช้ความเร็วสูง ในขณะเดียวกันรถบรรทุกพ่วงขนาดใหญ่ก็ใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนดเช่นกัน สาเหตุที่เส้นทางนี้มีรถบรรทุกขนาดใหญ่สัญจรมาก เนื่องจากมีการบรรทุกวัสดุก่อสร้างหินและทรายไปส่งไปยังตัวเมือง ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับรถเล็ก โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ รวมไปถึงคนเดินเท้าจึงรุงแรงถึงชีวิต ประกอบกับมีการปรับปรุงขยายถนนในบางจุดให้กว้างขึ้น จาก 2 เป็น 4 เลน ในขณะที่ชาวบ้านยังคงเคยชินกับพฤติกรรมการใช้ถนนแบบเก่า จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงเสริมของการเกิดอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเส้นทางจะมีจุดอ่อนแต่เชื่อว่าหากผู้ขับขี่ใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนด จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตหรือลดการบาดเจ็บเมื่อเกิดเหตุในแต่ละครั้ง


S__3555332.jpg

รศ.ลำดวน ศรีศักดา ผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมจราจร

ด้าน นพ.ธีรวุฒิ โกมุทบุตร ผู้เชี่ยวชาญของแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจร จังหวัดเชียงใหม่ (สอจร.เชียงใหม่) กล่าวว่า ผลสำเร็จจากการนำเทคโนโลยีกล้องตรวจจับความเร็ว และระบบติดตามตลอด 24 ชั่วโมง ณ ถนนสาย 118 ดอยสะเก็ด – เชียงใหม่ ผลปรากฎว่าสามารถลดความเร็วและอุบัติเหตุลงได้อย่างชัดเจน จากเดิมที่ถนนเส้นนี้เคยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 10 ราย/ปี เหลือเพียงรายเดียวตั้งแต่ต้นปี 2561 เป็นต้นมา ผลความสำเร็จนี้ถูกนำมาขยายต่อยังถนนสาย 108 เชียงใหม่-จอมทอง ถนนเส้นนี้เป็นหนึ่งในเส้นที่มีความอันตรายที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่

นพ.ธีรวุฒิ กล่าวว่า ผู้ใช้ถนน 108 ต้องระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุให้มาก เพราะคนขับรถที่ใช้เส้นทางนี้ส่วนใหญ่ใช้ความเร็วสูงผิดปกติ เพื่อลดและป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสีย ให้ถนนสายนี้มีความปลอดภัยมากขึ้น จึงได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำการศึกษาสถิติข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ และส่งอมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยเชียงใหม่ ให้เร่งดำเนินการแสวงหากล้องตรวจจับความเร็วอัตโนมัติมาใช้

นพ.ธีรวุฒิ กล่าวว่า ล่าสุดโดยการสนับสนุนของ Safer Road Foundation ( SRF ) ประเทศอังกฤษ สำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรเชียงใหม่ (สอจร. เชียงใหม่) ได้ดำเนินการติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วจำนวน 5 ตัวแบบครบวงจร ในช่วง กม.ที่ 51, 62, 64.5, 72 และ 83 พร้อมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมตรวจจับความเร็วตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเรดาห์ตรวจความเร็ว และป้ายเตือนก่อนถึงจุดตรวจจับ เพื่อให้ผู้ขับขี่ได้ลดและชะลอความเร็ว รวมมูลค่า 13 ล้านบาท ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินงานอย่างเป็นทางการ โดยจะทำการจับปรับผู้ขับรถเร็วเกิน 80 กม./ชม. เป็นเงิน 1,000 บาท


S__3555331.jpg

รับมอบกล้องตรวจจับความเร็ว

“ตามหลักการแพทย์แล้วถ้ามีแรงปะทะจากรถที่วิ่งด้วยความเร็ว 40 กม./ชม. ชนคนเดินถนน คนขับรถจักรยาน และรถจักรยานยนต์ จะมีโอกาสเสียชีวิต 1 ใน 10 แต่หากความเร็วในการชนเพิ่มขึ้นอีก 20 กม./ชม เป็น 60 กม./ชม. จะเพิ่มโอกาสตายถึง 9 ใน 10 ดังนั้น ความเร็วจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มโอกาสรอดหรือเสียชีวิต ในขณะที่การมีเรดาห์และป้ายเตือนความเร็ว รวมถึงกล้องจับความเร็วเพื่อนำไปบังคับใช้ทางกฎหมาย จะช่วยลดความรุนแรงและสูญเสียลงได้ เพราะหากขับรถมาด้วยความเร็ว 80-90 กม./ชม. แล้วเห็นคนหรือสิ่งกีดขวางจะมีเวลา 2-3 นาที ในการแตะเบรก ช่วยชะลอความเร็วให้ต่ำลงเป็น 60 กม./ชม. ได้” นพ.ธีรวุฒิ กล่าว


S__3555338.jpg

นพ.ธีรวุฒิ โกมุทบุตร ผู้เชี่ยวชาญของแผนงาน สอจร.เชียงใหม่

ขณะที่ พ.ต.อ. ดำเนิน กันอ่อง ผกก.สภ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกิดขึ้นทุกรูปแบบ ทั้งรถยนต์ชนคนข้ามถนน รถยนต์เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ และอุบัติเหตุจากรถบรรทุกขนาดใหญ่ จากการเก็บข้อมูลในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนการติดตั้งระบบเรดาห์และกล้องตรวจจับความเร็ว มีผู้เสียชีวิตถึง 4 ราย ขณะที่ภายหลังการทดลองติดตั้งระบบ ในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ผู้เสียชีวิตลดลงเหลือเพียง 1 ราย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นช่วยยืนยันได้ว่าเทคโนโลยีดังกล่าว ช่วยลดความสูญเสียจากการใช้ความเร็วของผู้ขับขี่ รวมไปถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น จึงอยากเตือนผู้ขับรถยนต์อย่าใช้ความเร็วเกินกว่าที่กำหนด ซึ่งต้นเดือนธันวาคมนี้ จะเข้มงวดในการจับปรับ หลังทดลองติดตั้งมาระยะหนึ่งแล้ว


S__3555333.jpg

พ.ต.อ. ดำเนิน กันอ่อง ผกก.สภ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

นายอุดม คำวัน นายกเทศบาลตำบลจอมทอง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า การนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาติดตั้งในพื้นที่ช่วยให้ชาวบ้านตอบรับไม่มีใครคัดค้าน เพราะเห็นผลจริงในการลดอุบัติเหตุ โดยในระหว่างทดลองระบบและก่อนบังคับใช้อย่างจริงจัง ผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆ ได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการทำงาน สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือรถกู้ชีพกู้ภัย ออกปฏิบัติการณ์น้อยลงกว่าก่อนการติดตั้งระบบอย่างมาก ผลที่ได้จึงไม่เพียงช่วยรักษาชีวิตของผู้ใช้รถใช้ถนนเท่านั้น แต่ยังประหยัดงบประมาณในการออกปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย


S__3555330.jpg

นายอุดม คำวัน นายกเทศบาลตำบลจอมทอง จ.เชียงใหม่

ดูวีดีโอ