ไม่พบผลการค้นหา
สอจร. แนะเดินทางท่องเที่ยวปีใหม่ “อย่ารีบร้อน พร้อมหน่อย ใช้เกียร์เป็น” พร้อมเผยเคล็ดไม่ลับ แอ่วเหนือ - ตุ้มโฮมม่วนซื่น - หลบบ้าน ปลอดภัยแน่นอน

เทศกาลท่องเที่ยวและเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงปีใหม่ คือหนึ่งในช่วงที่ตัวเลขอุบัติเหตุพุ่งสูงขึ้นทุกปี แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาออนไลน์ผ่านระบบ ZOOM พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน 3 ภูมิภาค ประกอบด้วย ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการเดินทางสัญจรหนาแน่น ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

ภาคเหนือ แนะเคล็ดลับขับขี่แอ่วดอยปลอดภัย “ไม่รีบร้อน พร้อมหน่อย ลงเขาใช้เกียร์ต่ำ” 

นพ.ธีรวุฒิ โกมุทบุตร ข้าราชการบำนาญ โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ และพี่เลี้ยง สอจร. ภาคเหนือ เปิดเผยว่า แม้ปีนี้บรรยากาศการเดินทางจะคึกคักน้อยกว่าปีที่แล้ว แต่เมื่อถึงช่วงหยุดยาวปีใหม่ คนจะเดินทางสัญจรเข้าพื้นที่จำนวนมาก ทั้งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่มีจุดมุ่งหมาย ตามแหล่งท่องเที่ยวยอดดอยและภูเขาสูง เช่น ดอยอินทนนท์ ดอยเชียงดาว และดอยผ้าห่มปก และการเดินทางกลับภูมิลำเนาของคนท้องถิ่น

ในช่วงที่มีการเดินทางหนาแน่นเช่นนี้ นพ.ธีรวุฒิ แนะนำว่าผู้ขับขี่ที่ต้องเดินทางไกลมุ่งสู่ภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ควรเผื่อเวลาเดินทาง 8-9 ชม. ไม่ต้องรีบร้อนขับยาวรวดเดียว ควรหยุดพักตามจุดแวะจอด เพื่อผ่อนคลายความเมื่อยล้า เพราะการขับเร็วนอกจากจะอันตรายแล้ว หากความเร็วเกินกฎหมายกำหนด ก็จะโดนกล้องบันทึกภาพตามจุดต่างๆ ส่งใบสั่งไปถึงบ้าน ดังนั้น ถ้าหากไม่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็ต้องเสียค่าปรับขั้นต่ำ 1,000 บาท 

ทั้งนี้ นอกจากการใช้ความเร็วแล้ว เนื่องจากเส้นทางภาคเหนือ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวตามอุทยานแห่งชาติ ภูเขาสูงและยอดดอย ต้องขับผ่านเส้นทางโค้งคดเคี้ยวขึ้นลงเขา ผู้ขับขี่จึงต้องเพิ่มความระมัดระวัง ข้อสังเกตในช่วงทางลงเขา จุดที่มักเกิดอุบัติเหตุ คือจุดสิ้นสุดระยะทางตรงเข้าสู่ทางโค้ง ในช่วงนี้ผู้ขับขี่มักใช้ความเร็วในการเร่งแซง ทำให้เกิดโอกาสเสียหลักพลิกคว่ำได้ง่าย รวมไปถึงชนกับรถที่เข้าโค้งมาในทางตรงกันข้าม

นอกจากนี้ อีกหนึ่งกับดักมรณะริมทางลงเขา คือ ร่องระบายน้ำ ที่จำเป็นต้องมีเพื่อระบายน้ำจากภูเขา เพื่อไม่ให้น้ำไหลมาที่พื้นถนน แต่หากรถเสียหลักตกลงไปในร่องเหล่านี้ นอกจากจะเกิดความเสียหายหนักแล้ว แรงอัดจะทำให้รถกระเด้งกระดอน หงายท้องได้ง่าย หากรุนแรงจนหลังคาเปิด จะทำให้หัวคนในรถถูไปกับพื้นถนนเสียชีวิต ส่วนความเสี่ยงจากหมอกนั้น ส่วนใหญ่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ มักจะโดนชนจากรถยนต์ต่างถิ่น จึงต้องขอร้องให้ขับช้าๆ โดยเฉพาะในจุดที่เป็นชุมชนและหมู่บ้าน และเปิดไฟตัดหมอกเพื่อให้สังเกตเห็นได้ง่าย

“สถิติอุบัติเหตุทั่วประเทศในช่วงครึ่งปีแรก 8,410 ครั้ง กว่า 25% เกิดขึ้นในภาคเหนือ ปัจจัยสำคัญเกิดการใช้ความเร็ว ไม่ชินทางโดยเฉพาะช่วงลงเขา ที่ต้องอาศัยความชำนาญและเทคนิคการใช้เกียร์ โดยเฉพาะสำหรับรถเกียร์ออโต้ ถ้าขับโหมด D ตลอด ต้องเบรคตลอดทางทำให้เบรคไหม้ เช่น กรณีล่าสุดที่ทางลงดอยอินทนน์ มีผู้เสียชีวิตถึง 5 ศพ ดังนั้น ควรจำไว้ว่าไม่ควรรีบร้อน พร้อมหน่อย ลงเขาใช้เกียร์ต่ำ” นพ.ธีรวุฒิ

สำหรับเส้นทางภาคเหนือนั้น หากจะขับขี่ให้ปลอดภัยไม่ควรใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กม./ชม. โดยเฉพาะในทางตรงต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะเป็นจุดที่มักใช้ความเร็วสูง ต่างจากทางโค้งเช่นเส้นทาง จ.แม่ฮ่องสอน แม้จะมีโค้งวนไปวนมา มากว่า 1,000 โค้ง แต่กลับเกิดอุบัติเหตุน้อยกว่าเชียงใหม่ เนื่องจากเร่งใช้ความเร็วไม่ได้ เร่งได้มากสุดไม่เกิน 60 กม./ชม. เมื่อชนจึงแค่รถเสียหายหรือบาดเจ็บเล็กน้อย 

ภาคอีสาน ขอชุมชนช่วยกันสกัด “คนเมา” ไม่ให้ออกถนนใหญ่ 

พ.ต.อ. อำนาจ ถนอมทรัพย์ พี่เลี้ยง สอจร. อีสานบน กล่าวว่า ประชาชนเข้าสู่พื้นที่ภาคอีสาน ผ่านถนนมิตรภาพมุ่งหน้าจากสระบุรีเลี้ยวขวาสู่ประตูอีสาน ไปสิ้นสุดที่จังหวัดหนองคาย ระหว่างเส้นทางถนนมิตรภาพ มีก้างปลาแยกไปแต่ละจังหวัดของอีสาน เมื่อทะลุมาถึงอีสานบนเส้นทางค่อนข้างเป็นทางตรง มีโค้งไม่มากนัก โดยเฉพาะเส้นบัวลาย ติดต่อ อ.พล จ.ขอนแก่น ปัญหาสำคัญจึงเป็นเรื่องการใช้ความเร็ว เป็นปัจจัยหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ตามมาด้วยปัญหาชนท้าย แต่ส่วนใหญ่จะบาดเจ็บมากกว่าเสียชีวิต

ทั้งนี้ ถ้าเป็นคนท้องถิ่นจะรู้ว่าช่วงไหนมีจุดแวะพัก ช่วงไหนมีปั๊ม แต่ปัญหาของจุดแวะพักแม้จะมีมาก แต่ยังไม่เพียงพอกับปริมาณรถ นอกจากจะแออัดแล้วยังเข้าและหาที่จอดยากด้วย ส่วนในเรื่องดื่มแล้วขับนั้น แม้ในช่วงขับขี่เดินทางไกล ผู้ขับขี่จะไม่ค่อยดื่มระหว่างทาง แต่เมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ส่วนใหญ่จะดื่มหนัก ทำให้เส้นทางในถนนท้องถิ่น เกิดอุบัติเหตุเมาแล้วขับค่อนข้างเยอะ 

อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ คือ รถบรรทุกอ้อย ที่มีน้ำหนักมาก มีปัญหาเรื่องจุดกลับรถ ที่ไม่เอื้อกับขนาดตัวรถต้องใช้เวลาและพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงกลางคืนและหัวค่ำ จะเกิดอุบัติเหตุชนท้ายมาก ตัวเลขสถิติค่อนข้างสูง เนื่องจากไม่มีจุดจอดพักตามเส้นทาง คนขังจึงจอดไหล่ทาง ทำให้เกิดเป็นปัญหาชนท้าย ก่อนหน้านี้อุดร เคยทำโครงการแก้ปัญหาชนท้ายได้เกือบร้อยเปอร์ เซนต์ จากความร่วมมือของหลายฝ่าย ทั้งตำรวจ อาสาจราจรทางหลวง และกู้ชีพกู้ภัย ร่วมกันออกตระเวนตรวจ มีการนำกรวยแผงกั้นไปวาง เพื่อให้รู้ว่ามีรถจอดพักหรือจอดเสีย เคลียร์เศษอ้อยร่วงทำให้ถนนลื่นไถล เป็นต้น

จัดเต็ม เตรียมพร้อมรับมือปริมาณจราจรหนาแน่น ขอ “คนละครึ่ง” ขับขี่ปลอดภัย ลดอุบัติเหตุ

ด้าน เปรมปรีดิ์ ชวนะนรเศรษฐ์ พี่เลี้ยง สอจร. อีสานล่าง กล่าวเสริมว่า ในเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่ ก็เหมือนโครงการคนละครึ่ง” คือ อยู่ที่ตัวเราครึ่งหนึ่งและสภาพแวดล้อมอีกครึ่งหนึ่ง ที่ผ่านมาสาเหตุการขับรถเร็ว ตัดหน้ากระชัดชิด เมาสุรา ไม่สวมหมวกกันน็อค ยังเป็นต้นตอสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ จะทำอย่างไรให้ประชาชนทราบว่า พฤติกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสี่ยง และนำมาสู่การปฏิบัติป้องกันอย่างได้ผล ส่วนเรื่องสภาพแวดล้อมนั้น ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา มีการเรียนรู้และปรับยุทธศาสตร์ มีแผนงานปฏิบัติ ตั้งรับและเตรียมความพร้อมในช่วงเทศกาลหยุดยาวปีใหม่

ในช่วงดังกล่าวจะมีปริมาณรถสัญจร ผ่านพื้นที่เกือบสองหมื่นกว่าคันนั้น ได้มีการประสานเรื่องเปิดเลนพิเศษเพื่อระบายรถ มีการตั้งจุดตรวจรถประจำทาง ส่วนในเรื่องจุดแวะซื้อของฝาก ได้ไปสำรวจและขอความร่วมมือ ประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่าพยายามอย่าจอดไหล่ทาง เพราะจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ โดยในเรื่องเตรียมความพร้อม ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุนั้น มีเบอร์ติดต่อโทรแจ้งและสอบถามเส้นทางได้ ที่เบอร์ 044-465401 หรือกู้ชีพ 1669

ภาคใต้ ห่วงทางตรงทำ “หลับใน” และน้ำท่วมทำถนนพังเป็นหลุมเป็นบ่อ

ธีราธัญญ์ วราภัคทรัพย์ เจ้าหน้าที่ ปภ.ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 จังหวัดสงขลา และพี่เลี้ยง สอจร. ภาคใต้ กล่าวว่า พื้นที่ภาคใต้ แบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือ 1. ตะวันออก - ฝั่งอ่าวไทย ขณะนี้ตั้งแต่สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา เป็นช่วงมรสุมและประสบอุทกภัย ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ บางแห่งสะพานตัดขาด จึงยังไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยว 2. ตะวันตก - ฝั่งอันดามัน ไล่มาตั้งแต่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา ตอนนี้ฝนเริ่มซาแล้วเป็นช่วงเบิกฟ้าอันดามัน เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว 

ในการเดินทางเส้นทางภาคใต้นั้น คนภูมิลำเนาจะค่อนข้างคุ้นชินกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ แต่สำหรับนักท่องเที่ยวต้องศึกษาเส้นทาง กรณีการขับตามกูเกิลแมพ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะโชว์เส้นทางลัด บางเส้นทางค่อนข้างอันตรายกว่าทางหลัก จนก่อให้เกิดอันตรายและอุบัติเหตุขึ้น ดังนั้น ก่อนออกเดินทางในแต่ละครั้ง ทุกคนควรศึกษาเส้นทางให้ดีก่อน เพื่อความปลอดภัยและประหยัดเวลาเดินทาง และไม่ควรลืมตรวจความพร้อมของยานพหนะด้วย

ทั้งนี้ ลักษณะเส้นทางส่วนใหญ่จะเป็นทางตรง มีขึ้นเขาลงเขาบาง ดังนั้น เทคนิคการขับขี่จึงไม่ต่างจากเส้นทางภาคเหนือมากนัก แต่มีข้อควรระมัดระวังเนื่องจากสภาพถนน ที่เป็นทางตรง ทำให้เกิดความเสี่ยงจากผู้ขับขี่ใช้ความเร็วสูง ซึ่งอุบัติเหตุ 99% เกิดในเส้นทางถนนสายหลัก ตั้งแต่สาย 4 เพชรเกษม ตั้งแต่นครปฐม ไล่ไปจนถึงช่วงทางตรงประจวบคีรีขันธ์ หรือสาย 43 สงขลา-พัทลุง เส้นหาดใหญ่-สงขลา แม้กระทั่งทางไปภาคใต้ตอนล่าง ปัตตานี นราธิวาส ยิ่งขับทางไกลต้องออกเช้าทำให้อ่อนเพลียได้ง่าย ไม่เพียงเท่านั้น ข้อควรระวังเพิ่มเติมในเส้นทางภาคใต้ จากผลกระทบจากอุทกภัยน้ำท่วม ทำให้ถนนเป็นหลุมเป็นบ่ออันเป็นผลกระทบจากน้ำท่วม ปัญหาดินสไลด์ลงมาทำให้พื้นถนนลื่นกว่าปกติ หรือในบางจุดมีกิ่งไม้ตกลงมากีดขวางเส้นทาง และเนื่องจากสภาพอากาศมีฝนตกบ่อย ช่วงฝนกลับมาตกใหม่หลังทิ้งช่วงไป ในวันนั้นจะเกิดเหตุรถตกถนนค่อนข้างมาก เพราะถนนลื่นจากฝนไปผสมกับฝุ่น ต้องชะลอความเร็วและมีสติในการขับขี่

พี่เลี้ยง สอจร. ภาคใต้ กล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาจุดตัดกลับรถในเส้นทางหลัก ที่แม้จะออกแบบมาถูกต้องตามหลักวิศวกรรม แต่ในจุดที่เป็นจุดอับสายตา ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายหลังจากการบดบัดของต้นไม้ ป้าย ทำให้วิสัยทัศน์ในการขับขี่ไม่ดี รวมไปถึงความไม่มีวินัยของคนด้วย กรณีเช่นนี้ผู้ขับขี่ต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างสูง ขณะเดียวกันในจุดลักกลับรถ ที่เรามักเห็นชาวบ้านนำรถวิ่งลงร่องกลางถนน เพื่อข้ามไปอีกฝั่ง โดยไม่ไปกลับรถในจุดที่ถูกต้อง ในเรื่องนี้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนของทุกจังหวัด กำลังพยายามให้ชุมชนได้เข้ามาร่วมกันดูแลและแก้ปัญหา

ถนน-ปีใหม่-แก้ไข-5.pngถนน-ปีใหม่-แผ่น-4.png