อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (23 พฤษภาคม 2566) รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในรายงานความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติ ประจำเดือนมีนาคม 2566 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
การดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) สำหรับปีงบประมาณ 2566 ได้มีการประกาศกลุ่มเป้าหมาย การดำเนินการตามแนวทางขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวม 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ (1) กลุ่มเป้าหมายเร่งด่วน จำนวน 655,365 คน (2) กลุ่มครัวเรือนเปราะบาง จำนวน 11,023,225 ครัวเรือน หรือ 33,384,526 คน (3) กลุ่มคนที่ต้องสำรวจเพิ่มเติม จำนวน 13,220,965 คน และ (4) กลุ่มคนที่ตกหล่นจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ซึ่งต้องสืบค้นต่อไป
แนวทางการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยบนฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ ในปีงบประมาณ 2566 ดังนี้
1. การเติมเต็มข้อมูล
-ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เร่งพัฒนาและปรับปรุงข้อมูลประชากร สถิติ สถานการณ์ ที่เชื่อมโยงกับเลขบัตรประชาชน
-ศจพ. ทุกระดับและทีมปฏิบัติการ เติมเต็มข้อมูลในระบบแฟ้มบ้านพัฒนาคนไทย (Logbook) และระบบจัดเก็บข้อมูลแบบสอบถามเพื่อการพัฒนาคนตามหลัก MPI ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายและสมบูรณ์
-ฝ่ายเลขานุการฯ ร่วมกันจัดทำคำนิยามการดำเนินการต่าง ๆ ให้มีความเป็นปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ
2. การช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย
-ศจพ. ทุกระดับและทีมปฏิบัติการ ดำเนินการช่วยเหลือ/พัฒนากลุ่มเป้าหมายร่วมกันโดยบันทึกข้อมูลการดำเนินการบนระบบ TPMAP
3. การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน
-ศจพ. ทุกระดับและภาคีพัฒนาในพื้นที่ ร่วมกำหนดการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนในทุกช่วงวัยเป็นวาระจังหวัดอย่างจริงจัง
-ศจพ. ทุกระดับ ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ใช้ข้อมูลจาก TPMAP เพื่อจัดทำโครงการตามแนวทางของมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 และเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ให้สอดคล้องกับภูมิสังคมและสภาพปัญหาในพื้นที่
-ศจพ. ทุกระดับ ทีมปฏิบัติการและภาคีพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ประยุกต์ใช้ข้อมูลจากเมนูแก้จน ประกอบการดำเนินการ
-ศจพ. ทุกระดับร่วมกับภาคีการพัฒนาในพื้นที่ เร่งบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินการพัฒนาต้นแบบ ศจพ. นำร่องระดับตำบล โดยใช้ข้อมูล TPMAP
4. การติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล
-ศจพ. ทุกระดับและทีมปฏิบัติการ ติดตามกลุ่มเป้าหมาย พ.ศ. 2565 เพื่อให้ได้รับการพัฒนาตามขั้นตอนของการพัฒนา “อยู่รอด-พอเพียง-ยั่งยืน”
-ศจพ. ทุกระดับและทีมปฏิบัติการ นำเข้าข้อมูลการดำเนินการ ของการพัฒนาของคนหรือครอบครัว ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะในระบบ Logbook
-หน่วยงานของรัฐ รายงานความก้าวหน้าของโครงการการดำเนินการในระบบ eMENSCR
-NECTEC เร่งดำเนินการพัฒนาระบบ TPMAP โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI ให้แล้วเสร็จตามระยะเวลาของแผน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรียังมีข้อสั่งการให้มอบหมายทุกหน่วยงานของรัฐให้ความสำคัญติดตามเร่งรัดโครงการที่มีผลการดำเนินการต่ำกว่าเป้าหมาย และให้หาวิธีแก้ไขเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ พร้อมทั้งให้เร่งติดตามการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และการแก้ปัญหาความยากจนอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นผลงานของรัฐบาลที่ส่งต่อให้กับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาด้วย
นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบกรอบการเจรจาและท่าทีของประเทศไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติกรวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล ครั้งที่ 2 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 28 พ.ค.-2 มิ.ย. 66
สำหรับการเจรจาระหว่างรัฐบาลฯ เกิดขึ้นจากที่ประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEA) ซึ่งเป็นเวทีการประชุมสหประชาชาติระดับสูงที่สุดในการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของโลก ที่มีประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ ผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วม
โดยในการประชุม UNEA เมื่อวันที่ เดือนมี.ค. 65 ได้มีการรับรองข้อมฺติ "ยุติมลพิษจากพลาสติก : ด้วยมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศ" พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลฯ ขึ้นเพื่อเจรจาและจัดทำมาตรการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการเจรจาจะมีทั้งหมด 5 ครั้ง ซึ่งครั้งแรก มีขึ้นเมื่อ 26 พ.ย.-2 ธ.ค. 65 ที่สาธารณรัฐบูรพาอุรกกวัย กำหนดจัดทำมาตรการให้แล้วเสร็จในปี 2567 เสนอรับรองมาตรการที่เสร็จสมบูรณ์ในการประชุมผู้แทนรัฐบาลรัฐสมาชิก (Diplomatic Conference) ภายในปี 2568
ในการประชุมครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 28 พ.ค.-2 มิ.ย. จะมีวาระที่จะต้องมีการรับรองและข้อตัดสินใจสำคัญ อาทิ 1)ข้อกำหนดและขอบเขตของร่างมาตรการ 2)บัญชีรายชื่อพลาสติดบางประเภทที่มีปัญหาและเป็นอันตรายมากที่ควรได้รับการยกเลิก ลด หรือจำกัดการผลิต การใช้งานและการได้รับการจัดการที่เหมาะสม 3) บัญชีรายชื่อสารอันตรายที่เติมแต่งในพลาสติกที่ควรได้รับการยกเลิกการผลิตและการใช้งาน 4) ข้อเสนอบทบัญญัติของมาตรการ เป็นต้น
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาร่างกรอบการเจรจาและท่าทีของไทยแล้ว เห็นว่ามีสาระสำคัญเป็นการกำหนดขอบเขตการเจรจาในประเด็นต่างๆ และเป็นเอกสารภายในของไทยที่เป็นกรอบท่าทีสำหรับการประชุมดังกล่าว ยังไม่ใช่การจัดทำสนธิสัญญาใหม่ จึงไม่มีประเด็นพิจารณาเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ
ครม.ยังได้รับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลฯ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการต่างประเทศ รวม 6 คน โดยมี ธีราพร วิริวุฒิกร ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการกากของเสียงและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย