ไม่พบผลการค้นหา
ครม.เห็นชอบแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 คุ้มครองสิทธิ 11 กลุ่ม ครอบคลุมกลุ่มหลากหลายทางเพศ เร่งแก้ปัญหาท้าทาย ทั้งปัญหาที่ดิน ฝุ่นพิษ และหนี้ภาคครัวเรือน และธุรกิจเอสเอ็มอีจากสถานการณ์โควิด

ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ พร้อมกับเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานที่ครอบคลุมการดำเนินการของหน่วยงานในสังกัดทุกระดับและรายงานผลการปฏิบัติตามแผนสิทธิมนุษยชนฯ

เมื่อสิ้นปีงบประมาณปีละ 1 ครั้ง (ในห้วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. ของทุกปี) และให้หน่วยงานภาครัฐ (ระดับกรมหรือเทียบเท่า) บรรจุวิชา สิทธิมนุษยชน ไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง ในหลักสูตรฝึกอบรมข้าราชการทุกระดับตามขอบเขตและเนื้อหาหลักการสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด โดยที่แผนสิทธิมนุษยชนฯ ฉบับนี้ได้นำประเด็นที่ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์จากแผนฉบับเดิมมาดำเนินการต่อ

เช่น ปัญหาที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน ปัญหาสิทธิในการทำงานและสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลสำหรับคนไทยและคนต่างด้าวทั้งในระบบและนอกระบบ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กและสตรี เป็นต้น และประเด็นข้อห่วงกังวลและประเด็นท้าทายต่าง ๆ จากระดับพื้นที่ เช่น ปัญหาฝุ่น PM2.5 ปัญหาการเข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐที่ต้องใช้ความรู้และทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ปัญหาการเคารพสิทธิผู้อื่นและการเคารพผู้เห็นต่าง 

ทิพานัน กล่าวว่า (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 จำแนกออกเป็นแผนสิทธิมนุษยชนรายด้าน 5 ด้าน คือ ด้านการเมืองการปกครอง ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา และด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ และยังครอบคลุมถึงการคุ้มครองสิทธิรายกลุ่ม โดยแบ่งออกเป็น 11 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มผู้เสียหายและเหยื่อในกระบวนการยุติธรรม กลุ่มเด็กและสตรี

กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้เสพยาเสพติด กลุ่มความหลากหลายทางเพศ กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนและกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้ต้องหาผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษ และสุดท้ายคือ กลุ่มผู้ป่วยเอดส์ ผู้ที่อยู่ร่วมกับ HIV และผู้ป่วยจิตเวช เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์โดยใช้เป็นกรอบทิศทางของหน่วยงานในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาพรวมของประเทศ ปกป้อง คุ้มครองสิทธิของประชาชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ คำนึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สร้างสังคมที่ตระหนักถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน

ทิพานัน กล่าวว่า สำหรับประเด็นท้าทายของแผนสิทธิมนุษยชนรายด้าน 5 ด้านที่จะมีการดำเนินการ คือ 1.เร่งจัดสรรที่ดินและแก้ไขปัญหา การเข้าถึงทรัพยากรของประชาชน 2.ส่งเสริมความรู้ให้แก่ประชาชนในขั้นตอนต่าง ๆ ด้านกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้รับรู้สิทธิในแต่ละขั้นตอนตั้งแต่ชั้น การสอบสวน การฟ้องร้อง และการดำเนินคดี

3.ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” 4.ปรับปรุงมาตรการของรัฐในด้านต่าง ๆ ให้สามารถเข้าถึงได้โดยประชาชนทุกกลุ่ม ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบความช่วยเหลือเป็นการเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส และ 5.ส่งเสริมสนับสนุนให้มีมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและกลุ่มธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

“เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินการตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 5 นี้ ครม. จึงเห็นชอบให้มีกลไกการดำเนินการและการติดตาม โดยให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมีหน้าที่ในการสร้างการรับรู้และความตระหนักถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนฯ จัดทำคู่มือในการแปลงแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฯ ไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้หน่วยงานที่ขับเคลื่อนมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น และจัดให้มีช่องทางสื่อสารเพื่อรับแจ้งปัญหา อุปสรรค หรือข้อขัดข้อง ในการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนสิทธิมนุษยชนฯ

โดยมีตัวชี้วัดด้านกระบวนการ (Process indicator) โดยการผลักดันและนำร่างกฎหมาย นโยบาย และมาตรการเพื่อสร้างหลักประกันสิทธิในแต่ละประเด็น/กลุ่มเป้าหมายในส่วนที่เกี่ยวข้อง และให้มีตัวชี้วัดด้านผลสัมฤทธิ์ (Outcome indicator) เช่น แนวโน้มสถานการณ์/สถิติข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในแต่ละประเด็น/กลุ่มเป้าหมายลดลง

สำหรับการติดตามและประเมินผล ได้กำหนดให้หน่วยงานรับผิดชอบ ตามแผนฯ รายงานผลการดาเนินงาน ปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือน ต.ค. - ธ.ค. ของทุกปี และให้ที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญและมีความเป็นกลางทำการประเมินผลการดำเนินการ พร้อมทั้งข้อเสนอแนะเชิงกระบวนการ หรือกลไกเพื่อขจัดปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้แผนไม่บรรลุเป้าหมาย และเสนอ ครม. เพื่อทราบต่อไป” ทิพานัน กล่าว


ครม.เห็นชอบร่าง พรฎ. ปิดประชุมรัฐสภาฯ ตั้งแต่ 1 มี.ค. 66

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 7 ก.พ. 66 ได้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา(พรฎ.) ปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่2 พ.ศ..... ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 66 เป็นต้นไป ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ

ทั้งนี้ ร่าง พรฎ. ปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญฯ นี้ เป็นการดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 121 ซึ่งบัญญัติให้ 1 ปี มีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภา 2 สมัย สมัยหนึ่งให้กำหนดเวลา 120 วัน และการปิดประชุมให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งตามที่ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่2 พ.ศ. 2565 ตั้งแต่วันที่1 พ.ย. 65 จะสิ้นกำหนดเวลา 120 ในวันที่ 28 ก.พ. 66 จึงสมควรที่จะกำหนดให้ปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่2 ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 66


ครม.เห็นชอบแนวทางบริหารจัดการทำงานของแรงงานข้ามชาติ

ขณะที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังได้เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าวหลังวันที่ 13 ก.พ. 66 ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาให้แรงงานข้ามชาตืิมติ ครม. วันที่ 5 ก.ค. 65 ซึ่งประกอบด้วยแรงงาน 4 สัญชาติได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชาและเวียดนามซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 13 ก.พ. 66 ให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อทำงานถึงวันที่ 15 พ.ค. 66

และให้ยกเว้นการเปรียบเทียบปรับการอยู่ในราชอาณาจักรเกินระยะเวลาถึงวันดังกล่าว เพื่อให้แรงงานสามารถจัดเตรียมเอกสารเพื่อยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามขั้นตอนที่ครบถ้วนต่อไป และเป็นการช่วยเหลือนายจ้าง/สถานประกอบการที่ยังต้องการแรงงานเพื่อดำเนินกิจการในช่วงของการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด19 โดยที่แรงงานยังอยู่ในกำกับและการบริหารของหน่วยงานรัฐ และแรงงานก็ยังคงได้รับการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ สวัสดิการตามกฎหมายตามสิทธิที่พึงได้

นอกจากนี้ ครม. ได้เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการออกเอกสารรับรองของบุคคล (Certificate of Identity: CI) ของทางการเมียนมาในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง และชลบุรีจาก 13 ก.พ. 66 เป็น 13 พ.ค. 66 เนื่องจากปัจจุบันมีแรงงานเมียนมาประมาณ 300,000 คนอยู่ระหว่างการทำเอกสาร CI ส่วนทางการ ลาว และกัมพูชา หากประสงค์จะจัดเก็บข้อมูลเพื่อออกเอกสารประจำตัว ให้มีหนังสือผ่านช่องทางการทูตและสามารถดำเนินการได้ไปพลางก่อนโดยดำเนินการได้ถึง 13 พ.ค. 66

ทั้งนี้ เมื่อคนต่างด้าวยื่นเอกสารครบถ้วนตามกำหนดแล้ว ให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานถึงวันที่ 13 ก.พ. 67 หรือ 13 ก.พ. 68 แล้วแต่กรณี สำหรับความจำเป็นที่ต้องมีการออกแนวทางการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าวดังกล่าวนี้ เนื่องจากคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรให้ทำงานตาม มติ ครม. วันที่ 5 ก.ค. 65 จำนวน 2,425,901 คน

ประกอบด้วย 1) คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน จำนวน 1,719,231 คน และ 2) คนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายแต่ได้รับการผ่อนผันอนุญาตทำให้ทำงาน จำนวน 706,670 คน ตามมติ ครม. ได้กำหนดว่าหากคนต่างด้าวทั้ง 2 กลุ่ม ประสงค์จะทำงานต่อจะต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานและชำระค่าธรรมเนียมภายในวันที่ 13 ก.พ. 66 

อย่างไรก็ตาม ปรากฎว่าล่าสุดได้มีการยื่นขอต่ออายุและชำระค่าธรรมเนียมแล้ว 403,062 คน และยังไม่ดำเนินการยื่นคำขอ 2,022,839 คน เนื่องด้วยเอกสารหลักฐานยังไม่ครบถ้วนตามแนวทาง ที่ครม. เมื่อวันที่ 5 ก.ค 65 กำหนด ได้แก่ อยู่ระหว่างจัดทำหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางเล่มใหม่กับประเทศต้นทาง ตลอดจนเอกสาร CI จึงจำเป็นต้องมีการผ่อนผันให้คนต่างด้าวดังกล่าวยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานและดำเนินการจัดทำเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วน

นอกจากนี้ ครม.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อให้การบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อยต่อไป อาทิ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน ออกประกาศหรือระเบียบในส่วนที่เกี่ยวข้อง กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ และสำนักแพทย์ กรุงเทพมหานครปรับปรุงขั้นตอนการขยายประกันสุขภาพให้คนต่างด้าวให้สามารถซื้อประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและสะดวก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้สอดคล้องกับมติ ครม. ตลอดจนดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลของคนต่างด้าว เป็นต้น


ครม. รับทราบผลการใช้จ่ายงบประมาณ ไตรมาสแรก ปี 2566  

อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (7 ก.พ. 2566)  รับทราบ รายงานผลการปฎิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2566 (ไตรมาสที่ 1) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2565  วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 3.185 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว จำนวน 986,498.7599 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30.97 แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 

มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 873,288.5891 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34.65  รายจ่ายลงทุน มีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 123,449.3612 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.57  ทั้งนี้ ภาพรวมรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๖ ไตรมาสที่ 1 มีผลการใช้จ่ายงบประมาณสูงกว่าแผนและเป้าหมายการใช้จ่ายงบประมาณตามมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 

ทั้งนี้ ผลการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2566 จำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณเป็น 6 ยุทธศาสตร์และ 1 รายการ ประกอบด้วย

1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง งบประมาณ จำนวน 292,593.6677 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 58,774.7761 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.09 มีผลการใช้จ่าย(ก่อหนี้) จำนวน 74,302.5937 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25.39 ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ ร้อยละ 11.91 และ 8.69 ตามลำดับ

2.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน งบประมาณ จำนวน 397,239.2473 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 146,022.1212 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 36.76 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 239,930.9818 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60.40 สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ ร้อยละ 4.76 และ 26.32 ตามลำดับ

3.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ งบประมาณจำนวน 544,455.5039 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 149,288.6645 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27.42 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 162,767.7356 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29.90 ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ ร้อยละ 4.58 และ 4.18 ตามลำดับ

4.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม งบประมาณจำนวน 767,403.0444 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 265,129.0095 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34.55 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 271,754.3066 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.41 สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ ร้อยละ 2.55 และ 1.33 ตามลำดับ

5.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมงบประมาณ จำนวน 122,605.9595 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 22,606.0023 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.44 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 41,590.4537 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 33.92 ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ ร้อยละ 13.56 และ 0.16 ตามลำดับ

6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ งบประมาณจำนวน 658,184.6140 ล้านบาท มีผลการเบิ่กจ่ายแล้ว จำนวน 173,225.9830 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 26.32 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้) จำนวน 180,291.6609 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27.39 ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ ร้อยละ 5.68 และ 6.69 ตามลำดับ

และ 1 รายการ คือ รายการค่าดำเนินการภาครัฐ งบประมาณ จำนวน 402,517.9632 ล้านบาทมีผลการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 171,452.2033 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.59 มีผลการใช้จ่าย (ก่อหนี้)จำนวน 171,526.6833 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.61 สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายและการใช้จ่ายงบประมาณ ร้อยละ 10.59 และ 8.53 ตามลำดับ 

“นายกฯ กำชับให้มีการควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยมีการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด รวมถึงการวางระบบการติดตาม

และประเมินผลการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อวัดผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณ ที้งการติดตามและประเมินผลก่อนการจัดสรรงบประมาณ ระหว่างการใช้จ่ายงบประมาณ และภายหลังจากการใช้จ่ายงบประมาณ ตลอดจนให้มีการรายงานผลการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณ พร้อมทั้งระบุปัญหา อุปสรรค แนวทางแก้ไขด้วย

นอกจากนี้ สำนักงบประมาณได้เสนอแนะให้หน่วยรับงบประมาณมีการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนการปฏิบัติงานและเป้าหมายของมาตรการฯ ที่กำหนดไว้ ตลอดจนการกำหนดทิศทางแนวทางหรือปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปตามวัตถุประสงค์และก่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

รวมทั้งการเร่งรัดดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างงบลงทุนรายการปีเดียวให้สามารถก่อหนี้ผูกพ้นให้เสร็จสิ้นทุกรายการภายในไตรมาสที่ 2 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพของหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 โดยสำนักงบประมาณจะได้นำผลการเบิกจ่ายและการใช้จ่าย เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต่อไป ” อนุชากล่าว


ครม.รับทราบคืบหน้าโครงการ “บ้านคนไทยประชารัฐ” 

ขณะเดียวกันที่ประชุม ครม. รับทราบผลการดำเนินโครงการ “บ้านคนไทยประชารัฐ” บนที่ดินราชพัสดุ และมีมติอนุมัติให้กำหนดระยะเวลาการให้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน (Pre Finance และ Post Finance) สำหรับธุรกรรมนโยบายภาครัฐ (PSA) โครงการฯ จากเดิม ที่ ครม. ได้ให้ความเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 โดยขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี ระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2566 – 2 มกราคม 2567 เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยคงเดิม โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจปฏิบัติ ตามประกาศ ธปท. กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และมติ ครม. อย่างเคร่งครัด

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งมั่นดำเนินโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ จำนวน 2,757 ยูนิต เพื่อให้ประชาชน 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ได้รับสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้มีรายได้ไม่เกิน 35,000 บาทต่อเดือน และประชาชนทั่วไปได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง โดยเป็นโครงการบ้านแฝด/บ้านแถว/อาคารชุดพักอาศัย ที่มีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตร.ม. ในระดับราคา 350,000-700,000 บาท ซึ่งเป็นโครงการการผ่อนชำระสู่การเช่าระยะยาว กรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเป็นของผู้ได้รับสิทธิอยู่อาศัยและผู้ได้รับสิทธิพัฒนาโครงการ ซึ่งมีมาตรการสินเชื่อ ดังนี้

1. สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) กำหนดอัตราดอกเบี้ย คือ อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนปีที่ 1-4 ร้อยละ 2.75 ต่อปี หลังจากนั้น กรณีรายย่อย MRR - ร้อยละ 0.75 ต่อปี หรือกรณีสวัสดิการหักเงินเดือน MRR - ร้อยละ 1 ต่อปี มีระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 30 ปีโดยมีการผ่อนปรนการกำหนดอัตราส่วนรายจ่ายในการชำระหนี้/ราย/เดือน (DSR) หรืออัตราส่วนภาระผ่อนชำระหนี้รวมต่อรายได้สุทธิรวม (DIR) ตามที่ธนาคารกำหนด

2. สินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย (Pre Finance) กำหนดอัตราดอกเบี้ย คือ อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนปีที่ 1-3 ร้อยละ 3 ต่อปี หลังจากนั้น MLR - ไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี ระยะการกู้ ไม่เกิน 5 ปี เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ และหรือ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัดที่เข้าร่วมพัฒนาโครงการ

โครงการบ้านคนไทยประชารัฐ 8 พื้นที่ ได้แก่ ชลบุรี เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น ลำปาง นครพนม ประจวบคีรีขันธ์ และอุดรธานี ได้ดำเนินการก่อสร้างเรียบร้อยแล้วใน 1 พื้นที่ คือ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนพื้นที่ใน 7 จังหวัดที่เหลือที่ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ในวันนี้ ครม. จึงมีมติอนุมัติให้กรมธนารักษ์นำที่ราชพัสดุที่รองรับการดำเนินโครงการดังกล่าวใน 7 จังหวัดเดินหน้ารองรับการดำเนินโครงการสำคัญอื่น ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล หรือนำไปบริหารจัดการหรือพัฒนาจัดหาประโยชน์เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐต่อไป เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและรัฐมีการพัฒนาที่มั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืน


เล็งทบทวนขยับเพดานการคืนเงินต่อเรื่องเป็น 150 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย โดยการปรับเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขมาตรการส่งเสริม ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ

ทั้งนี้ จะเป็นการปรับปรุงใน 2 ส่วน ได้แก่  ส่วนที่1 ปรับอัตราการคืนเงิน (Cash Rebate) จากเดิม ร้อยละ 15-20 เป็นร้อยละ 20-30 เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยสิทธิประโยชน์หลักอยู่ที่ร้อยละ 20 เมื่อมีการลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ส่วนสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมรวมแล้วไม่เกินร้อยละ 10 ซึ่งหลังจากนี้ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดำเนินการปรับปรุงประกาศกรมการท่องเที่ยวในส่วนของเงื่อนไขการรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมดังกล่าว โดยให้คำนึงถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยโดยตรงเป็นลำดับแรก เช่น การกระจายรายได้สู่เมืองรอง การเพิ่มการจ้างงานคนไทย การเพิ่มมูลค่า ค่าใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประชาชนโดยตรง

ส่วนที่ 2 เป็นการปรับเพิ่มเพดานการคืนเงินจากเดิม 75 ล้านบาทต่อเรื่องเป็น 150 ล้านบาทต่อเรื่อง ซึ่งจะทำให้เพดานเงินลงทุนสร้างภาพยนต์ต่อเรื่องเพิ่มเป็น 750 ล้านบาท จากเดิม 375 ล้านบาท เพื่อเป็นการรับกับแนวโน้มที่คณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศที่เข้ามาในไทยเป็นผู้สร้างรายใหญ่ เงินทุนสูง โดยเฉพาะภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ โดยเรื่องที่เข้ามาถ่ายทำในไทยสูงสุดขณะนี้คือภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์เรื่อง Thai Cave Rescue

สำหรับความจำเป็นที่ต้องมีการทบทวนมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำาภาพยนตร์ต่างประเทศ เนื่องมาจากปัจจุบันประเทศต่างๆ เห็นประโยชน์จากธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศจึงได้ออกมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) หรือคืนภาษี (Tax Rebate/Tax Credit)เพื่อดึงดูดผู้สร้างภาพยนตร์ให้เข้าไปถ่ายทำในประเทศตนอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับเกณฑ์และเงื่อนไขให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป 

ทั้งนี้ การปรับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข สำหรับมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยทั้ง 2 ส่วน จะส่งผลต่อภาระงบประมาณในปี 2567-68 (มาตรการมีผลในปี 66 แต่การคืนเงินจะเกิดขึ้นในปี 67-68) รวม 2 ปี เพิ่มขึ้นจาก 821.82 ล้านบาท เป็น 1,845 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.54

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในไทยจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพกว้าง มีเงินจากการลงทุนของบริษัทภาพยนตร์หมุนเวียนในเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น 900-1,200 บาทต่อปี กระจายรายได้ไปสู่ภาคส่วนต่างๆ และการที่ชาวไทยได้ร่วมงานกับคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศนอกจากจะให้คนไทยได้รับการจ้างงานเพิ่มกว่า 800 อัตราต่อปี ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มทักษะและประสบการณ์ เป็นโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยสู่ระดับสากลด้วย

ประเทศไทยได้เริ่มมีมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างชาติมาตั้งแต่ปี 60 ซึ่งได้มีคณะถ่ายทำได้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2562 ก่อนเกิดโควิด19 ประเทศไทยมีรายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ 4,463.74 ล้านบาท ส่วนปี 64 ที่ยังมีโควิด19 ผู้สร้างภาพยนตร์ก็ยังคงเข้ามาถ่ายทำในไทยสร้างรายได้ 5,007 ล้านบาท 

โดยนับแต่มีมาตรการส่งเสริม ได้มีภาพยนตร์ 43 เรื่องที่ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ ซึ่งทั้งหมดนี้สร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในไทย 8,560 ล้านบท มีภาพยนตร์ที่ได้รับอนุมัติสิทธิประโยชน์ 34 เรื่อง เงินลงทุน 6,283 ล้านบาท โดยเงินเหล่านี้กระจายไปยังภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทย เช่นค่าจ้างทีมงานชาวไทย ค่าเช่าเครื่องมืออุปกรณ์ ค่าเช่าที่พัก ค่าเช่าสถานที่ ค่าเช่ารถ ค่าใช้จ่ายตามมาตรการป้องกันโควิด ค่าอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น 

โดย ณ สิ้นเดือน ต.ค. 65 รัฐบาลได้จ่ายเงินคืนภายใต้มาตรการดังกล่าวแล้วจำนวน 29 เรื่อง เป็นเงิน 772.13 ล้านบาท เบิกจ่ายจากเงินงบประมาณกระทรวงการท่องเที่ยวฯ 560.03 ล้านบาท และจากการจัดสรรงบกลางเพิ่มเติม 212.10 ล้านบาท