นาระเกิดในปี 1959 ที่จังหวัดอาโอโมริ เมืองฮิโรซากิ ประเทศญี่ปุ่น จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยศิลปะไอจิ (Aichi University of the Arts) ก่อนเข้าศึกษาต่อที่สถาบันศิลปะดึสเซลดอร์ฟ (Kunst Akademie) เมืองดึสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี และเลือกใช้ชีวิตอยู่ในเมืองโคโลญจน์ จนกระทั่งปี 2000 จึงตัดสินใจเดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง
ในฐานะแฟนคลับของนาระ ‘วอยซ์ ออนไลน์’ ยินดียิ่งที่คอศิลปะทุกคนจะไม่ต้องเสียสตางค์ตีตั๋วเครื่องบินไปชมนิทรรศการของเขาไกลถึงต่างแดน เพราะล่าสุด นาระเป็นอีกหนึ่งศิลปินที่เตรียมตบเท้าเข้าร่วมแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 (Bangkok Art Biennale) ครั้งแรกของประเทศไทย
นอกจากนั้น เมื่อ 6 มีนาคมที่ผ่านมา นาระยังเดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อร่วมบรรยายพิเศษเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิต และกระบวนการทำงานศิลปะ ณ ห้องออดิทอเรียม หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ‘แบ็บทอล์ก’ (Bangkok Art Biennale Talk - BAB Talk ) ครั้งที่ 5
นาระเปิดฉากการบรรยายด้วยการให้ทุกคนชมภาพถ่ายสะท้อนรื่องราวชีวิตของเขาในช่วงปี 1983-2012 พร้อมกับอธิบายเสริมว่า ผลงานของเขาส่วนใหญ่เกิดจากความทรงจำในวัยเด็ก ขณะเดียวกันผู้คนที่หลงใหลในศิลปะอาจเห็นเขาวาดภาพ และสร้างประติมากรรม ทว่าในความเป็นจริง สิ่งที่ทุกคนเห็นกันจนชินตาเป็นเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ของชีวิตผู้ชายที่ชื่อนาระเท่านั้น
“จริงๆ แล้วสิ่งสำคัญในชีวิตผมไม่ใช่แค่การวาดรูป ผมยังชอบไปท่องเที่ยว ชอบไปดูสิ่งต่างๆ และเอาตัวเองเข้าไปอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ แต่การวาดรูปช่วยให้ผมเป็นอิสระ เพราะผมค่อนข้างทำมันได้ดีกว่าคนทั่วไป เลยกลายเป็นว่าผมต้องประกอบอาชีพศิลปินถาวร” นาระกล่าว
และหากใครกำลังอยากทราบว่า ทำไมรูปภาพที่เป็นดั่งลายเซ็นต์ของนาระต้องเป็นเด็กผู้หญิง เขาได้ให้คำตอบเอาไว้ว่า “ผมเริ่มวาดรูปตั้งแต่เด็กๆ ชอบหยิบปากกามาวาดเป็นลายเส้น เพื่อสะท้อนอารมณ์ และความคิดในช่วงเวลานั้นๆ แต่ผมไม่เคยคิดหาคำตอบเรื่องเด็กผู้หญิง เพราะไม่ว่าจะลงมือวาดอะไร วาดที่ไหน วาดเมื่อไหร่ มันก็มักจบลงที่รูปเด็กผู้หญิงทุกที”
มีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่งว่า “Never Forget Your Beginner's Spirit.” หรือ “อย่าลืมจิตวิญญาณตอนแรกเริ่ม” ซึ่งนาระมักหยิบนำมาใช้เสมอ เพราะสำหรับเขามันหมายความว่า คนเราไม่จำเป็นต้องฝันใหญ่ หรือตั้งเป้าที่จะประสบความสำเร็จมากเกินไป แต่ควรจะมุ่งมั่นตั้งใจสร้างงานด้วยจิตบริสุทธิ์ เหมือนกับสภาวะของมุชิน (Mushin) หรือสภาวะจิตไร้การครอบงำ ตามหลักคำสอนของนิกายเซน
แม้ปัจจุบันหลายคนจะมองว่า นาระเป็นศิลปินผู้ทรงอิทธิพลต่อโลกศิลปะ แต่เขากลับคิดสวนทาง พร้อมอธิบายว่า
“ผมได้ยินคนพูดว่า “ฉันเป็นศิลปิน” มาเยอะ ได้ยินบ่อยมาก แม้แต่เด็กมหาวิทยาลัยยังเรียกตัวเองแบบนั้น และเมื่อโลกมันมีศิลปินอยู่เยอะแล้ว ผมก็เลยไม่อยากจะถูกเหมารวมเป็นศิลปินแบบนั้น”
และแทนที่จะเป็นศิลปิน สิ่งที่นาระต้องการคือ “มนุษย์ที่เจริญเติบโตเต็มที่” ทั้งเรื่องชีวิต เรื่องส่วนตัว ซึ่งการทำงานในฐานะจิตรกร และประติมากรรมมันก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น
“ชีวิตของผมยังมีอีกหลายเวอร์ชั่น”
ตลอด 3 ทรรศวรรษ หลักการเลือกทำงานของนาระไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของหน่วยงาน ทว่าอยู่กับผู้คน และสิ่งแวดล้อมที่ตัวเขาเองสบายใจ เพราะเขาเลือกถ่ายทอดความคิด ความรู้สึกภายในใจ และมุมมองต่อสิ่งรอบตัว ผ่านชิ้นงานที่หลากหลาย ทั้งจิตกรรม สถาปัตยกรรม และผลงานภาพถ่ายจากการเดินทางท่องโลกด้วย
“ผมเพิ่งไปเกาะซักฮาลินของรัสเซีย ที่นั่นคุณปู่ของผมเคยทำงานอยู่ และมันส่งผลกระทบกับผมเต็มๆ แม้มันจะอยู่ในการปกครองของรัสเซีย แต่การได้ไปเยี่ยมเยียนเหมือนย้อนอดีต ผมเจอคนญี่ปุ่นที่ไปตั้งถิ่นฐาน และหมู่บ้านชนเผ่าตามภูเขาของไต้หวัน มันเหมือนช่วยเติมเต็มความสามารถในการรู้สึก และรับรู้สิ่งต่างๆ ของผม ทำให้ผมวาดภาพได้ดีขึ้น ในมุมมอง และความรู้สึกใหม่”
นอกจากผลงานประเภทภาพวาด และประติมากรรมที่หลายคนคุ้นตาแล้ว นาระยังเคยร่วมงานกับวงดนตรีแนวอินดี้สัญชาติเยอรมัน ‘The Birdy NumNum’ และวงเกิร์ลกรุ๊ปญี่ปุ่น ‘Shonen Knife’ ที่สำคัญ ‘R.E.M.’ คือวงดนตรีที่เขาชื่นชอบมากเป็นพิเศษ
“ผมได้ไปช่วยสร้างสรรค์งานศิลปะให้กับอัลบั้ม และยังสร้างตัวการ์ตูนคาแรคเตอร์ใหม่ เพื่อนำแสดงในมิวสิควีดีโอเพลง ‘I will take the rain’ มันเป็นการทำงานข้ามสาย และเป็นการร่วมงานกันที่ผมประทับใจ” นาระกล่าว
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นาระทดลองนำเสนอผลงานที่เปลี่ยนแปลงไป เขาหยดสี วาดภาพ และระบายทับลงบนผืนผ้าใบหลายๆ ชั้น จนกระทั่งออกมาเป็นรูปที่พอใจ สร้างให้เกิดรูปภาพที่อาจจะดูธรรมดา แต่เต็มไปด้วยจินตนาการ
นารามองว่า ประสบการณ์ทั้งชีวิตของเขาหลอมรวมกันในเชิงลึก และเชิงตื้น ที่สำคัญ ประเด็นความเท่าเทียมกันก็ส่งอิทธิพลต่อตัวเขา ดนตรี และผลงาน รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวในหลายประเทศ ทุกสิ่งส่งผลกระทบมากในการที่ทำให้เขากลายเป็นศิลปินมืออาชีพ
สุนทรียภาพของนาระยังมีอิทธิพลต่อบุคคลในแวดวงศิลปะของประเทศไทยมากมาย เริ่มต้นจาก เพชร โอสถานุเคราะห์ นักร้อง นักดนตรี และประธานกรรมการบริหารบริษัท โอสถสภา จำกัด ที่กล่าวเอาไว้ว่า ความโดดเด่นของนาระถือเป็นความพิเศษสุดๆ และเป็นผลงานที่สร้างความแตกต่างมาตลอด
“นาระเป็นคนดังมากนะครับ คนไทยค่อยข้างรู้จักผลงานกัน ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ลงตัวมากๆ ได้ทั้งอารมณ์ ความแนว และค่อนข้างนำเสนอตัวคาแร็กเตอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของเด็กผู้หญิงท่าทาซุกซน เจ้าอารมณ์ ทว่าขณะเดียวกันก็มีความร็อค ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมแบบติดดิน และวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ได้สุดยอดมาก”
ส่วนทางด้าน เมธี น้อยจินดา ศิลปินวงโมเดิร์น ด็อก (Modern Dog) ก็เป็นหนึ่งในแฟนคลับของนาระเช่นกัน ซึ่งเขาบอกเล่าความประทับใจให้ฟังว่า
“แม้จะเป็นรูปเหมือนเด็กผู้หญิงที่ดูเหมือนง่ายๆ แต่ผมรู้สึกว่า ในแววตาของเขาเหมือนมีอะไรซ่อนอยู่ ช่วงเวลาที่เขาวาดเกี่ยวกับนักดนตรี วงดนตรี หรือชื่อเพลง เขาจะวาดบนลังกระดาษ หรือสมุดโน๊ต รู้สึกดีใจที่เคยมีโอกาสได้ชมผลงานของนาระ และเขาจะมาประเทศไทยก็ยิ่งยินดี รู้สึกไม่ต้องไปต่างประเทศก็ดูได้ครับ”
ปิดท้ายด้วย วิสุทธิ์ พรนิมิตร ศิลปินร่วมสมัย เจ้าของ คาแรคเตอร์ ‘น้องมะม่วง’ อันโด่งดัง ซึ่งรับอิทธิพลมาจากงานของนาระเผยว่า
“ผมติดตามผลงานงานของนาระมา 10 ปีแล้ว ผลงานของเขาไม่เหมือนใคร มีความเป็นธรรมชาติของคนญี่ปุ่นที่ผมชอบอยู่แล้ว แต่คราวนี้เขาหลุดจากโลกการ์ตูนได้แล้ว และเขาสามารถไปอยู่ในอาร์ตระดับโลก เราได้เห็นมุมมองใหม่ๆ ดีใจที่นาระจะมาแสดงในเมืองไทย คิดว่าคนไทยได้มาดูก็คงจะรู้สึกใกล้ชิดมากกว่าที่จะบินไปดูผลงานในระดับโลกเหมือนกัน ทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่ามันมีอะไรแบบนี้ได้ด้วย”
ใครสนใจเข้าร่วมเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ติดตามข่าวสาร และตารางกิจกรรมเพิ่มเติมได้ทาง www.facebook.com/Bkkartbiennale หรือ www.bkkartbiennale.com